ความดันโลหิตสูงตัวการความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ

ใครเคยลองถามคุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย หรือคนสูงอายุที่รู้จักเกี่ยวกับโรคประจำตัวกันบ้างมั้ยคะ ซึ่งหนึ่งโรคที่ต้องไม่พลาดแน่ๆ ที่จะเป็นคำตอบแรกๆ เพราะคนสูงวัยแทบจะเป็นกันทุกคน ด้วยวัย ด้วยการใช้ชีวิตต่างๆ นั่นก็คือ “โรคความดันโลหิตสูง” นั่นเอง เคยอ่านบทความทางวิชาการพบว่าปัจจัยหลักที่ทำให้ผู้สูงอายุความดันสูงขึ้นก็คือ การเปลี่ยนอริยาบถแบบฉับพลัน หรือเปลี่ยนท่าทาง เช่น จากการนั่งหรือนอนเป็นการลุกขึ้นยืน ทำให้มีอาการวิงเวียน ปวดศีรษะ หรือบางท่านก็อาจเป็นลมได้ เรียกว่าอันตรายพอตัวเลยล่ะค่ะ

วันนี้เราจึงอยากมาพูดกันถึงเรื่องของ “โรคความดันโลหิตสูง” เพื่อให้ผู้สูงวััยได้ประกอบเป็นความรู้เบื้องต้นเอาไว้ เผื่อว่าใครมีอาการนี้อยู่จะได้นำไปปรับใช้เพื่อให้อาการนี้ทุเลาลง หรือคนในวัยอื่นก็สามารถศึกษาเรื่องนี้เอาไว้ได้นะคะ อย่าลืมว่าความดันสูงนั้นเป็นกันได้ทุกคนและทุกวัย!

มาทำความรู้จัก…โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง  เป็นโรคที่สำคัญมาก โดยจะตรวจพบได้จากการวัดความดันโลหิต และจะพบว่ามีความดันในระดับที่สูงกว่าปกติ และเป็นเรื้อรังอยู่นาน องค์การอนามัยโลก กำหนดไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ว่า ผู้ใดก็ตามที่วัดความดันโลหิตแล้วได้ค่ามากกว่า 140 /90 มม.ปรอท ถือว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูง และผู้ที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงถ้าไม่รักษาให้ถูกต้องจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ เช่น โรคอัมพาตจากหลอดเลือดในสมองตีบ โรคหลอดเลือดในสมองแตก โรคหัวใจขาดเลือด โรคหัวใจวาย โรคไตวาย หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น การวัดความดันอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก

คนไทยประมาณร้อยละ 20 เป็นโรคความดันโลหิตสูง คนส่วนใหญ่ที่มีความดันโลหิตสูงมักจะไม่รู้ตัวว่าเป็น จนกว่าจะวัดความดัน และเมื่อรู้ตัวว่าเป็นส่วนมากจะไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่วนหนึ่งอาจจะเนื่องจากไม่มีอาการทำให้คนส่วนใหญ่ ไม่ได้ให้ความสนใจ เมื่อเริ่มมีอาการหรือภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงจะเริ่มสนใจและรักษา ซึ่งบางครั้งก็อาจจะทำให้ ผลการรักษาไม่ดีเท่าที่ควร การควบคุมความดันโลหิตให้ปกติอย่างสม่ำเสมอ และการใช้เครื่องวัดความดันเป็นประจำทุกวัน (ควรวัดความดันหลังตื่นนอนทุกเช้า) สามารถลดโอกาสเกิดโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้อย่างชัดเจน เป็นข้อเท็จจริงทางการแพทย์ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วและเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลก

ปัจจัยที่มีผลต่อความดันโลหิตความดันโลหิตเปลี่ยนแปลงได้ตามปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ดังนี้

  1. อายุ ส่วนใหญ่เมื่ออายุมากขึ้น ความดันโลหิตจะสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ขณะอายุ 18 ปี เมื่อวัดความดันโลหิตจะได้เท่ากับ 170/70 มม.ปรอท แต่พออายุ 60 ปี เมื่อวัดความดันโลหิตอาจจะเพิ่มขึ้นเป็น 140/90 แต่ก็ไม่ได้เป็นกฎตายตัวว่าอายุมากขึ้นความดันโลหิตจะสูงขึ้นเสมอไป อาจวัดความดันโลหิตได้ 120/70 เท่าเดิมก็ได้
  2. เวลา ความดันโลหิตจะขึ้นๆ ลงๆ ไม่เท่ากันตลอดวัน เช่น ตอนเช้าเมื่อวัดความดันจะได้ค่าซิสโตลิก (ความดันตัวบน) ถึง 130 มม.ปรอท ขณะที่ ตอนช่วงบ่ายอาจวัดความดันแล้วได้ค่าถึง 140 มม.ปรอท ขณะนอนหลับอาจวัดความดันแล้วได้ค่าต่ำถึง 100 มม.ปรอท เป็นต้น จากการที่ความดันโลหิตมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงได้ เช่นนี้ ทำให้การวินิจฉัยโรคด้วยตัวผู้ป่วยเองอาจทำได้ลำบาก ผู้ป่วยจะต้องปรึกษาแพทย์เพื่อให้วินิจฉัยว่าเป็นโรคหรือไม่
  3. จิตใจและอารมณ์ พบว่ามีผลต่อความดันโลหิตได้มาก ขณะที่ได้รับความเครียด อาจทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติได้ถึง 30 มม.ปรอท ขณะที่พักผ่อนความดันโลหิตก็จะสามารถกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เมื่อรู้สึกเจ็บปวดก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้เช่นกัน

  1. เพศ พบว่าเพศชายจะเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้บ่อยกว่าเพศหญิง
  2. พันธุกรรมและสิ่งแวดล้อม ผู้ที่มีบิดาและมารดา เป็นโรคความดันโลหิตสูงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ที่ไม่มีประวัติในครอบครัว สิ่งแวดล้อม ที่เคร่งเครียด ก็ทำให้มีแนวโน้มการเป็นโรคความดันสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
  3. สภาพภูมิศาสตร์ ผู้ที่อยู่ในสังคมเมืองจะพบภาวะความดันโลหิตสูงมากกว่าในสังคมชนบท
  4. เชื้อชาติ พบว่าชาวแอฟริกันอเมริกันมีความดันโลหิตสูงมากกว่าชาวอเมริกันผิวขาว
  5. เกลือ ผู้ที่กินเกลือมากจะมีโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ที่กินเกลือน้อย

แต่คุณรู้หรือไม่ ไม่ว่าคุณจะมีเชื้อชาติอะไร เพศ อายุเท่าใด คุณสามารถป้องกันความดันโลหิตสูง หรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยที่ไม่ต้องใช้ยา โดยวิธีการดังต่อไปนี้ที่เรียกว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือการรักษาความดันโลหิตสูงโดยไม่ต้องใช้ยาหรือที่เรียกว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตารางแสดงวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและระดับความดันโลหิตที่ลดลงค่ะ

1.ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

เมื่อน้ำหนักเพิ่มความดันก็จะเพิ่ม คนอ้วน จะมีโอกาสเป็นความดันโลหิตสูงมากกว่าคนปกติ 2-6 เท่า วิธีการลดน้ำหนักที่ดีควรจะลดไม่เกินสัปดาห์ละ 1/2 กิโลกรัมโดยการเลือกรับประทานอาหารที่มีพลังงานน้อยร่วมกับการออกกำลังกาย วิธีการลดน้ำหนักมีดังนี้

เลือกอาหารที่มีไขมันต่ำ อาหารไขมันต่ำ จะให้พลังงานน้อย อาหารที่ให้พลังงานมากควรหลีกเลี่ยงได้แก่ เนย น้ำสลัด เนื้อติดมัน เนื้อติดหนัง นมสด ของทอดเช่นปลาท่องโก๋ กล้วยแขก ไก่ทอด เค้ก คุกกี้ให้เลือกอาหารที่มีพลังงานน้อยเช่นใช้อบหรือเผาแทนการทอด เลือกไก่ไม่ติดหนัง ปลา ดื่มนมพร่องมันเนยแทนนมสด รับประทานผักให้มาก

เลือกอาหารที่มีแป้งและใยให้มาก อาจใช้ใช้จานใบเล็กและห้ามตักครั้งที่สอง ควรจดรายการอาหารที่รับประทานทุกครั้ง ไม่ควรรับประทานอาหารว่างขณะดูทีวี ไม่ควรงดอาหารมื้อหนึ่งแล้วชดเชยมื้อต่อไป

ให้เพิ่มออกกำลังกายเพิ่ม การออกกำลังกายหรือการทำงานบ้านจะช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงาน ทำให้น้ำหนักลดตารางข้างล่างจะแสดงพลังงานที่ใช้ในการออกกำลังกาย

  1. ให้ร่างกายได้ใช้พลังงานให้มากขึ้น

ด้วยการออกกำลังกายนอกจากทำให้น้ำหนักลดแล้วยังลดไขมัน cholesterolในเลือด และเพิ่ม HDL นอกจากการออกกำลังกายแล้ว ท่านผู้อ่านยังสามารถทำให้ร่างกายมีการออกกำลังอยู่ตลอดเวลา เช่นใช้บันไดแทนลิฟท จอดรถก่อนถึงที่ทำงานแล้วเดินต่อ ขี่จักรยานแทนการนั่งรถ ตัดหญ้า ทำสวน ไปเต้นรำเป็นต้น ผู้ป่วยสามารถออกกำลังได้เลยโดยที่ไม่ต้องปรึกษาแพทย์

นอกจากคุณอาจจะมีอาการดังต่อไปนี้ เช่น ขณะออกกำลังกาย แน่นหน้าอก จะเป็นลมขณะออกกำลังกาย หายใจเหนื่อยเมื่อเริ่มออกกำลังกาย หรืออายุกลางคนโดยที่ไม่ได้ออกกำลังกาย การออกกำลังกายควรออกแบบ aerobic คือออกำลังกายแล้วร่างกายใช้ออกซิเจนเพื่อให้พลังงาน ควรออกกำลังกายครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ2-5 ครั้งยิ่งออกกำลังกายมากจะช่วยลดความดันโลหิตลงได้มาก มีรายงานว่าสามารถลดระดับความดันโลหิตลงได้ 5-15 มิลิเมตรปรอท อัตราเต้นของหัวใจเป้าหมายตามเกณฑ์อายุ

  1. รับประทานอาหารสด

เช่น เนื้อสัตว์ ผัก หรือผลไม้ แทนการรับประทานอาหารที่ผ่านขบวนการถนอมอาหาร ไม่เติมเกลือหรือน้ำปลาเพิ่มในอาหารที่ปรุงเสร็จ หลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เช่น หมูเค็ม เบคอน ไส้กรอก ผักดอง มัสตาร์ด และเนยแข็งอาหารตากแห้ง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม หอยเค็ม กุ้งแห้ง ปลาแห้ง เนื้อสัตว์ปรุงรสได้แก่ หมูหยอง หมูแผ่น กุนเชียง อาหารกึ่งสำเร็จรูป เช่น บะหมี่สำเร็จรูป โจ๊กซอง ซุปซอง อาหารสำเร็จรูปบรรจุถุง เช่น ข้าวเกรียบ ข้าวตังปรุงรส มันฝรั่ง เครื่องปรุงรสที่มีเกลือมากเช่น ซุปก้อน ผงชูรส ผงฟู

นอกจากนี้ จากการศึกษาพบว่าปริมาณสุราที่ดื่มจะมีส่วนสัมพันธุ์กับระดับความดันโลหิต สำหรับผู้ที่ดื่มสุราปริมาณปานกลาง ระดับความดันโลหิตจะลดลงในช่วง 1-2 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะกลับสู่ปกติ สำหรับผู้ที่ดื่มสุราอย่างมาก (ประมาณห้าเท่าของที่แนะนำ) จะพบว่าระดับความดันโลหิตจะสูงหลังจากหยุดสุรา ดังนั้นจะพบว่าหลังจากดื่มสุรามากในวันหยุดจะมีความดันสูงในวันทำงาน การลดสุราจะทำให้ระดับความดันโลหิตลดลง

บทความนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งในการที่อยากกระตุ้นการรับรู้ เรื่องภาวะสุขภาพให้เพิ่มมากขึ้น โดยอยากให้ผู้อ่านได้รับรู้ภาวะเจ็บป่วยและการรักษาอาการของโรคความดันโลหิตสูงโดยไม่ใช่ยา หรือลดยาให้น้อยลง หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกคนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ ชาวไทยที่มีภาวะความดันโลหิตสูงค่ะ

ข้อมูลจาก:กระทรวงสาธารณสุข

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจก่อให้เกิด “ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุ?

วางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน สู่การเป็นสูงวัยคุณภาพ!

ผู้สูงอายุป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ!

 

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.