ปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง ที่อาจก่อให้เกิด “ภาวะเปราะบาง” ในผู้สูงอายุ?

จากตัวเลขของวัยที่เพิ่มขึ้นย่อมต้องส่งผลให้อวัยวะทุกส่วนของร่างกายเสื่อมลงไปตามกาลเวลา และหนึ่งในสิ่งที่ร่างกายของผู้สูงอายุมักจะต้องพบเจอนั่นคือ “ภาวะเปราะบาง” ที่ไม่ใช่โรค แต่เป็นภาวะหนึ่งของร่างกายซึ่งอยู่ระหว่างกลางของความสามารถในการทำงานได้กับภาวะไร้ความสามารถและอยู่ระหว่างความมีสุขภาพดีกับความเป็นโรค นับเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญและพบบ่อยในผู้สูงอายุ ส่งผลกระทบทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

ผู้ที่มีภาวะเปราะบาง ความสามารถทางกายภาพของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกายลดลง เพิ่มความรุนแรงของความเจ็บป่วย บกพร่องทางความคิด การเคลื่อนไหวของร่างกายลดลงทั้งการเดินและการทรงตัวจนอาจเกิดการพลัดตกหกล้ม และเกิดภาวะพึ่งพาในที่สุด

5 อาการบอกโรคอภาวะเปราะบาง

เราลองไปดูกันค่ะว่า อาการไหนบ้างที่บ่งบอกว่าผู้สูงวัยเกิดภาวะเปราะบางกันบ้าง

กล้ามเนื้ออ่อนแรง

ความอ่อนแรงของกล้ามเนื้อเป็นลักษณะเฉพาะของภาวะเปราะบางที่พบมากที่สุด เป็นสิ่งที่บ่งชี้การเริ่มต้นของภาวะนี้ ซึ่งสามารถประเมินได้จากการวัดแรงบีบของมือ ผู้สูงอายุที่ภาวะกล้ามเนื้ออ่อนแรง มักยืนเองไม่ค่อยได้หรือไม่มีแรงหยิบจับของ

 

กิจกรรมทางกายต่ำ

เป็นการเคลื่อนไหวร่างกายด้วยการหดตัวของกล้ามเนื้อลาย กระดูกและข้อ โดยไม่ทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานหรือใช้พลังงานเพิ่มจากภาวะปกติ สามารถประเมินได้จากความถี่และระยะเวลาของกิจกรรมที่ทำให้บุคคลเริ่มมีเหงื่อหรือหายใจเร็วขึ้น ผู้สูงอายุที่มีภาวะกิจกรรมทางกายต่ำ จะทำให้สมรรถภาพในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ลดลง

เดินช้าลง

วัดจากความเร็วของการเดินช้าลงร้อยละ 20 จากผู้สูงอายุปกติ ซึ่งผู้สูงอายุที่มีภาวะนี้จะใช้เวลาเดินที่มากขึ้นในระยะทางเท่าเดิม

เกิดความเหนื่อยล้า

เป็นกลุ่มอาการที่จะมีความเหนื่อยล้าทางอารมณ์และความคิด รู้สึกว่าคุณค่าในตัวเองลดลง ขาดความกระตือรือร้นและความเชื่อมั่นในตัวเอง ผู้สูงอายุที่ประสบภาวะนี้จะรู้สึกเหนื่อยง่าย โดยที่ยังไม่ได้ทำอะไร

น้ำหนักตัวลดลงโดยที่ไม่ได้ตั้งใจลด

ที่มีภาวะนี้จะมีน้ำหนักตัวลดลงมากกว่า 4.5 กิโลกรัมหรือมากกว่าร้อยละ 5 ของน้ำหนักตัวในระยะเวลา 1 ปี

ผลกระทบแต่ละด้านจากภาวะเปราะบาง

แล้วหากผู้สูงอายุในครอบครัวเกิดภาวะเปราะบางแล้ว จะส่งผลกระทบทางด้านใดบ้าง?

  • ด้านจิตใจ บกพร่องทางความคิด ภาวะซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง หมดแรง
  • ด้านร่างกาย เพิ่มการพลัดตกหกล้มจากการที่ผู้สูงอายุสูญเสียความสามารถในการเดินและการทรงตัว กล้ามเนื้ออ่อนแรง การทำงานของระบบต่าง ๆ ลดลง
  • ด้านเศรษฐกิจ สูญเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเพิ่มความรุนแรงของการเกิดโรคต่าง ๆ ทำให้เกิดภาวะสับสนเฉียบพลันจากการเจ็บป่วย ต้องการคนดูแล การดูแลระยะยาว การเข้าพักรักษาตัวในโรงพยาบาล ความพิการและเพิ่มอัตราการเสียชีวิตมากขึ้น

วิธีการป้องกันภาวะเปราะบางในผู้สูงวัย

  1. กระตุ้นให้ร่างกายเคลื่อนไหว : ด้วยการออกกำลังกายเบาๆ อย่างสม่ำเสมอ อาจเลือกการออกกำลังกายแบบต้านทานและการออกกำลังกายแอโรบิกฝึกออกกำลังกาย รวมถึงความต้านทานการยกน้ำหนัก หรือออกกำลังกายขนาดใหญ่ของกลุ่มกล้ามเนื้อโครงร่าง ช่วยเพิ่มมวลกล้ามเนื้อในร่างกาย เพิ่มความแข็งแรงการออกกำลังกาย ความอดทนและความเร็วในการเดิน หรือไทชิ ซึ่งเป็นการออกกำลังกายที่ช้าและอ่อนโยนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวทางกายภาพและการทำสมาธิที่จะปรับปรุงความสมดุลและการเดิน
  2. จัดโภชนาการที่ดี : รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ รวมถึงน้ำสะอาดวันละ 8-10 แก้ว หรทออาจหาอาหารเสริมดีๆ มารับประทาน โดยเพิ่มระหว่างมื้ออาหาร อาหารเสริมโปรตีนช่วยในการรักษามวลกล้ามเนื้อ นอกจากนี้อาจรวมถึงยาที่ใช้ในการเพิ่มความอยากอาหาร รวมถึงการรับประทานอาหารร่วมกันในครอบครัว
  3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ : ผู้สูงวัยควรนอนหลับให้ได้วันละ 7-8 ชั่วโมง ควรเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อสุขภาวะที่ดี
  4. จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ : สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้สูงอายุ ด้วยการจัดสิ่งอำนวยความสะดวกในที่อยู่อาศัย เพื่อความปลอดภัยและเอื้อต่อการมีสุขภาพดี ลดความเสี่ยงต่อการเกิดการพลัดตกหกล้ม สร้างราวจับในห้องอาบน้ำ ฝักบัวอาบน้ำที่มีที่นั่งปรับความสูงเคาน์เตอร์ ตู้ประตูกว้างสีตัดกันของเคาน์เตอร์ พื้น ผนัง และพื้นผิวไม่ลื่น ลาดเอียง แสงที่เหมาะสมและระบบกดเรียกฉุกเฉิน
  5. ดูแลทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ : สังเกตสุขภาพของผู้สูงอายุอยู่เสมอ หากมีโรคประจำตัวต้องทานยาตามแพทย์สั่งและพบแพทย์ตามนัด เพื่อให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ควรหมั่นบำรุงรักษาสุขภาพช่องปาก แปรงฟันและใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อวัน จำกัดปริมาณน้ำตาล เช่นโซดาและขนม รวมถึงตรวจฟันอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งในขณะเดียวกันก็หมั่นชวนผู้สูงอายุคุยเล่น หรือทำกิจกรรมส่งเสริมความสัมพันธ์ในครอบครัว เพื่อการมีสุขภาพจิตที่ดี ที่สำคัญคนในครอบครัวควรมีความรู้ เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเปราะบาง สามารถดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้อง
  6. เข้ารับวีคซีนที่ควรฉีดในผู้สูงอายุ : ผู้สูงอายุควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจะเสื่อมสมรรถภาพเมื่ออายุมากขึ้น การฉีดวัคซีนจึงถือเป็นการป้องกัน และลดความรุนแรงของการเกิดโรคอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งวัคซีนที่ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีด มีดังนี้

6.1.วัคซีนป้องกันโรคบาดทะยักและคอตีบ

6.2.วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดเชื้อตาย

6.3.วัคซีนป้องกันโรคตับอักเสบบี

6.4.วัคซีนวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสชนิดโพลีแซคคาไรด์และชนิดคอลจูเกต

อย่างที่ได้บอกไปค่ะว่า “ภาวะเปราะบาง” เป็นภาวะหนึ่งของร่างกายของผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นจากวัยที่เสื่อมถอย จากคนที่แข็งแรง ก็กลับกลายเป็นอ่อนแอลง ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และสังคม ผู้ดูแลควรเอาใจใส่ให้มาก ควรดูแลเรื่องอาหาร การออกกำลังกายให้เหมาะสม เพราะการขาดสิ่งเหล่านี้ จะเป็นตัวเร่งให้เกิดการเสื่อมของระบบต่างๆ ในร่างกายได้เร็วขึ้น ต้องไม่ลืมว่าผู้สูงอายุต้องการการดูแลที่มากขึ้นจากทุกคนในครอบครัวค่ะ

ข้อมูลจาก: คณะพยาบาลศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

วางแผนการใช้ชีวิตหลังเกษียณแบบไหน สู่การเป็นสูงวัยคุณภาพ!

ผู้สูงอายุป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ดูแลควรต้องมีความเข้าใจ!

ผู้สูงอายุกับปัญหาโรคติดต่อที่ทุกคนควรต้องรู้ไว้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.