ปรอทวัดไข้ อีกหนึ่งอุปกรณ์สำคัญเพื่อผู้สูงวัยในบ้าน!

เมื่อเกิดอาการไข้ขึ้น อุณหภูมิของร่างกายมักจะขึ้นสูงตามไปด้วย ร่างกายของเรากำลังต่อสู้กับการติดเชื้ออะไรบางอย่างอยู่ แต่สำหรับผู้สูงอายุนั้น เวลาเจ็บป่วยไข้มักจะไม่ขึ้นสูงมากนัก โดยจะมีอุณหภูมิเปลี่ยนไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นั่นเป็นสิ่งที่ไม่ควรชะล่าใจ เมื่อพบว่าผู้สูงอายุมีอาการผิดปกติกับร่างกาย แต่ไม่ได้มีไข้ ควรสังเกตอาการให้ดี หรือหากไม่แน่ใจ สิ่งหนึ่งที่ควรต้องมีติดบ้านไว้ นั่นคือ “ปรอทวัดไข้” อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการวัดอุณหภูมิของร่างกาย ที่ควรมีไว้ เพื่อจะได้รู้ว่า ระดับอุณหภูมิสูงถึงขั้นต้องไปพบแพทย์หรือยังนั่นเองค่ะ

มาทำความรู้จักกับเจ้า “ปรอทวัดไข้” แต่ละประเภท

  1. ปรอดวัดไข้แบบธรรมดา หรือที่เรามักเรียกว่าปรอทวัดไข้และปรอทวัดอุณหภูมิห้อง ที่ใช้กันมาอย่างแพร่หลายเป็นเวลานาน ทำมาจากหลอดแก้วบรรจุสารปรอทอยู่ภายใน ซึ่งสารปรอท (mercury) เป็นสารที่มีพิษมากชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นโลหะมันวาว ไหลได้เหมือนของเหลว ดังนั้น การใช้ปรอทวัดไข้ประเภทนี้จึงควรระมัดระวังในเรื่องการใช้ การเก็บรักษา รวมถึงการกำจัดสารปรอทหากเกิดอุบัติเหตุปรอทแตกขึ้น
  2. ปรอทวัดไข้ดิจิตอล ที่ปัจจุบันนิยมใช้กันมากกว่าปรอดแก้วแบบเดิม เพราะ ใช้ง่าย แม่นยำ รวดเร็ว หมดห่วงเรื่องแก้วแตกหรือพิษจากปรอท เหมาะสำหรับวัดอุณหภูมิทางปาก ทวารหนัก หรือ รักแร้ ทำให้ได้ค่ารวดเร็ว แม่นยำ กันน้ำได้ ทำให้ง่ายต่อการทำความสะอาด ที่สำคัญไม่มีสารปรอท

วิธีใช้ปรอท เพื่อวัดไข้

วิธีวัดปรอทหรือวิธีวัดไข้ที่บ้าน โดยทั่วไปในบ้านเรายังใช้ปรอทวัดไข้อยู่ (Mercury glass thermometer) เพราะมีราคาถูก เข้าถึงได้ทุกครัวเรือน วัดไข้ได้แม่นยำ ใช้ได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบคุณภาพ ไม่ต้องดูแลมากและเก็บรักษาง่าย แต่ในประเทศที่เจริญแล้วได้มีการยกเลิกใช้ปรอทวัดไข้ เนื่องจากกลัวผลข้างเคียงของปรอท (มีผลทำลายสมอง ปอด และไต) กรณีปรอทวัดไข้แตก และกินปรอทโดยไม่รู้ตัวจากที่ติดอยู่ตามมือและตามร่างกาย จึงนิยมใช้เครื่องวัดไข้ชนิดใช้ไฟฟ้าหรือที่เรียกว่า Digital thermo-meter ซึ่งมีราคาสูงกว่าและต้องการการดูแลตรวจสอบประสิทธิภาพมากกว่าปรอทวัดไข้มาก ทั้งนี้มีทั้งชนิดที่ใช้วัดในปาก รักแร้ ทางทวารหนัก และทางรูหู ในที่นี้จะพูดถึงวิธีวัดไข้เฉพาะการใช้ปรอทวัดไข้เท่านั้น

 

ก่อนการวัดไข้

ก่อนวัดปรอท นำปรอทวัดไข้ออกจากที่เก็บ เช็ดทำความสะอาดด้วยน้ำยาแอลกอฮอล์ ในส่วนกระเปาะที่มีปรอทอยู่ และในส่วนที่จะอมในปาก สะบัดให้ปรอทลงไปอยู่ในกระเปาะให้หมดหรือลงต่ำอย่างน้อยถึงระดับ 35 องศาเซลเซียส และควรบ้วนล้างปากให้สะอาดด้วยน้ำ เปล่าสะอาด เพื่อไม่ให้เศษอาหารติดค้าง ก่อนการวัดปรอททุกครั้ง

วิธีวัดไข้

ถ้ายังไม่เคยวัดปรอทเองและกังวลว่าจะวัดได้ไม่ถูกต้อง ควรให้ผู้ที่วัดปรอทเป็นแล้ว หรือพยาบาลสอนวิธีที่ถูกต้องให้ก่อน เมื่อวัดที่รักแร้ กระเปาะปรอทวัดไข้ต้องอยู่ในรักแร้ หนีบปรอทให้แน่น และทิ้งไว้ประ มาณ 5 นาทีการวัดปรอททางทวารหนัก ไม่ควรวัดเอง ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นแต่ละบุคคลไป นำปรอทวัดไข้ที่เตรียมไว้ ใส่ในปากใต้ลิ้นด้านข้างในตำแหน่งที่ไม่ให้ปรอทเคลื่อนที่ หลังจากนั้นหุบปากโดยใช้ริมฝีปากเป็นตัวช่วยพยุงปรอทวัดไข้ รอจนประมาณ 3 นาที จึงนำปรอทวัดไข้ออกจากปาก และอ่านอุณหภูมิจากลำปรอทที่ขึ้นสูงตรงตามหมายเลขบอกระดับอุณหภูมิ ซึ่งควรจดบันทึกอุณหภูมิทุกครั้งที่มีการวัด เพื่อติดตามอาการไข้ เพื่อการดูแลตนเอง และเพื่อแจ้งแพทย์พยาบาล การเก็บปรอทวัดไข้ ภายหลังวัดปรอททุกครั้ง ต้องทำความสะอาดหลอดแก้วหรือปรอทวัดไข้ด้วยน้ำสบู่ โดยล้างให้สะอาด เช็ดให้แห้ง เก็บในหลอดที่เก็บปรอทเสมอ เก็บปรอทวัดไข้ในที่ๆไม่โดนแสงแดด อุณหภูมิปกติ และที่สำคัญเก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ข้อแนะนำในการดูแลผู้สูงอายุเมื่อมีไข้

  • หากผู้สูงอายุมีไข้ขึ้นสูงน้อยกว่า 101 F น้อยกว่า 3 วันติดกันแต่ไม่มีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ก็อาจรักษาได้โดยการเช็ดตัว และให้รับประทานยาแอสไพริน หรือ พาราเซตามอล (ควรปรึกษาแพทย์เสียก่อนเกี่ยวกับการใช้ยาเหล่านี้ในปริมาณที่เหมาะสมกับแต่ละคน)
  • ดื่นน้ำเปล่ามากๆ ประมาณวันละ 10 แก้ว งดการดื่มเหล้าหรือแอลกอฮอล์ เพราะการเป็นไข้ทำให้ร่างกายเสียเหงื่อ จึงอาจเกิดอาการขาดน้ำได้ จึงควรดื่มน้ำมากๆ ทดแทน
  • หากมีอาการไข้ ร่วมกับการเจ็บคอ ปวดในหู ไอบ่อยๆ หรือ เป็นไข้แล้วมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์
  • หากเป็นไข้พร้อมกับอาการหวัด เช่น คัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ แต่เมื่อวัดปรอทแล้วยังต่ำกว่า 101 F ก็สามารถรักษาได้โดยวิธีบรรเทาหวัดแบบทั่วไป แต่หากเป็นไข้ติดต่อกันนานเกิน 3 วันควรปรึกษาแพทย์

หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ ต้องรีบไปพบแพทย์โดยด่วน

  • หากมีไข้สูงมากกว่า 101 F
  • เป็นไข้ ร่วมกับภาวะสับสน งุนงง อย่างฉับพลันทันด่วน
  • เป็นไข้ ร่วมกับอาการคอแข็ง
  • มีอาการปวดที่ท้องน้อย และเป็นไข้สูงนานติดต่อกันเกินกว่า 2 ชั่วโมง
  • หากเป็นไข้ พร้อมกับอาการสั่นเทิ้ม รู้สึกหนาว หรือเป็นไข้พร้อมกับปวดหลัง หรือปวดเวลาขับปัสสาวะ และมีอาการปัสสาวะไม่สุด (อันอาจเกิดมาจากการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะ)

อาการต่างๆ ในผู้สูงอายุเหล่านี้ หากสังเกตได้เร็ว และรีบไปพบแพทย์ จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยอาการและหาทางเยียวยารักษาได้แต่เนิ่นๆ ดังนั้นท่านผู้สูงอายุเอง หรือผู้ดูแลก็ควรคอยสังเกตอาการให้ดี เมื่อไรที่มีไข้ก็อย่าลืมใช้ปรอทคอยวัดอุณหภูมิของร่างกายเป็นระยะๆ เพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่าลืมหาอุปกรณ์สำคัญอย่าง “ปรอทวัดไข้” ติดบ้านเอาไว้ พร้อมทั้งศึกษาวิธีการใช้ที่ถูกต้องให้ดี เพราะหากผู้สูงวัย หรือคนอื่นๆ ในบ้านเป็นไข้ วัดอุณหภูมิความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเอาไว้ จะได้รู้ และรีบทำการรักษาได้ทันท่วงทีค่ะ

ข้อมูลจาก: คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

เทคนิคเลือกซื้อ “เตียงคนไข้” แบบมีเหตุผล รับรองได้ของดี คุณภาพโดนใจ!!

“ไม้เท้า” อุปกรณ์ช่วยพยุงเดิน เพื่อการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงวัย!

บ้านที่มีผู้สูงวัยอาศัยอยู่ ควรมี “เครื่องวัดความดันโลหิต” ติดไว้ที่บ้าน!

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.