คู่มือ Caregiver กับการเริ่มต้นการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว

ใส่ใจเรื่องกิน

ผู้สูงอายุส่วนใหญ่รับประทานอาหารได้น้อยลง เนื่องจากอวัยวะในร่างกายเสื่อมสภาพลง โดยเฉพาะระบบย่อยอาหาร ทำให้ท้องอืดเฟ้อ รวมถึงปัญหาช่องปากและฟัน ส่งผลให้เคี้ยวอาหารได้ไม่ละเอียด ดังนั้นอาหารของผู้สูงอายุจึงควรเป็นอาหารที่อ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย อาจใช้การหั่น สับ หรือการปั่นให้อาหารชิ้นเล็ก รวมถึงปรับเปลี่ยนวิธีปรุงเป็นการนึ่ง ตุ๋น หรือ ต้มอาหารให้นิ่ม

รวมถึงพยายามให้ท่านเหล่านั้นรับประทานผักผลไม้ที่รับประทานง่ายและไม่หวานจนเกินไป เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุได้รับวิตามินและกากใยอาหารอย่างพอเพียง และให้ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อย 1-1.5 ลิตรต่อ

ออกกำลังกายวันละนิด

การออกกำลังกายช่วยให้อวัยวะในร่างกายแข็งแรงทุกระบบ ตั้งแต่ หัวใจ ปอด ระบบขับถ่าย กระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงสมอง แต่ผู้สูงอายุหลายท่านไม่กล้าออกกำลังกายเพราะกลัวว่าจะพลัดตกหกล้ม หรือกลัวว่าจะไม่มีแรงออกกำลัง ดังนั้นผู้ดูแลจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยส่งเสริมการออกกำลังกายของผู้สูงวัย เริ่มตั้งแต่จัดกิจกรรมออกกำลังกายที่ปลอดภัยเหมาะสมกับสภาพร่างกายและคอยให้ความช่วยเหลือ เช่น ช่วยพยุงให้ขยับกายบริหารเบาๆ พาเดินหรือเดินแกว่งแขนช้าๆ ช่วยยืดคลายกล้ามเนื้อ ให้ได้ทุกวันอย่างน้อยวันละ 10-20 นาที และค่อยๆเพิ่มความหนักและระยะเวลาขึ้นเรื่อยๆ

การขับถ่ายสำคัญ

ผู้สูงอายุควรหมั่นสังเกตการขับถ่ายของตัวเองว่ามีปัญหาท้องผูก ท้องผูกสลับท้องเสียบ่อยๆ อุจจาระมีมูกเลือด หรือมีปัสสาวะอุจจาระเล็ดหรือไม่ ทั้งนี้ไม่ควรอายที่จะบอกปัญหาการขับถ่ายกับผู้ดูแลหรือคนใกล้ชิดเพราะอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง ซึ่งอาจจะสามารถแก้ไขได้ และผู้สูงวัยจะได้กลับไปมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกครั้ง

ความสะอาด

ภูมิคุ้มกันของผู้สูงอายุไม่ค่อยแข็งแรงมักติดโรคได้ง่าย โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หรือมีโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน ผู้ดูแลควรใส่ใจดูแลฟัน เล็บ ผิวหนัง ผมและซอกหลืบต่างๆ ของร่างกาย รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศและก้น ไม่ควรปล่อยให้อับชื้นและเกิดการระคายเคือง อาหารก็สำคัญ ไม่ควรนำอาหารค้างคืนมารับประทาน หรือเอายาเก่าๆ ที่อาจหมดอายุมาใช้ ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้

ปล่อยวาง พักผ่อน และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี

ความเครียด กังวล คิดลบ เป็นสารพิษที่รบกวนการทำงานของเซลล์สมอง ผู้สูงอายุและผู้ดูแลควรพยายามหาวิธีผ่อนคลายจิตใจ เลือกการพักผ่อนในแบบที่ชอบ เช่น เดินทาง ท่องเที่ยว อ่านหนังสือ ฟังเพลง เต้นรำ หรือทำงานอดิเรก จัดสภาพแวดล้อมให้สงบ สะอาด มีอากาศถ่ายเท ไม่มีเสียงดังเกินไป และควรออกมารับแสงแดดอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ผู้ดูแลและครอบครัวควรคอยสังเกตอาการซึมเศร้าของผู้สูงอายุเสมอ เมื่อมีอาการมากจนกระทบต่อการกิน การนอน การคิดหรือจดจำ หรือการใช้ชีวิตประจำวัน ควรรีบพามาปรึกษาแพทย์

อย่างไรก็ตาม การดูแลและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุนับว่าเป็นภารกิจที่สำคัญสำหรับครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม เพื่อให้เกิดการดูแล เอื้ออาทรแก่ผู้สูงอายุซึ่งนับว่าเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์แก่ครอบครัว ชุมชนและสังคมมาก่อน จนถึงวัยที่ท่านสมควรได้รับการตอบแทน โดยการดูแล และห่วงใยท่านเช่นเดียวกับสิ่งที่ท่านได้ทำมา

ข้อมูลจาก: หนังสือคู่มือดูแลผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง amarin

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

สัญญาณเตือนโรคหลอดเลือดสมอง สู่ อัมพาตในผู้สูงวัย!

เรื่องนี้ดี..ควรต้องแชร์!! กับ 8 เทคนิค สู่ชีวิตที่มีสุขของผู้สูงวัย

โรคซึมเศร้าในผู้สูงวัย ไม่ใช่เรื่องเล็ก! ควรป้องกันตั้งแต่วันนี้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.