ปวดท้องน้อย

ปวดท้องน้อย อาการนี้บอกอะไรได้บ้าง

ปวดท้องน้อย สัญญาณโรคที่คุณผู้หญิงมองข้ามไม่ได้

อาการ ปวดท้องน้อย เป็นอาการที่หลายคนมองข้ามเพราะคิดว่าเป็นเรื่องเล็กๆ แต่ความจริงไม่เล็กเลยนะคะ หากใครมีอาการปวดดังกล่าวก็ควรรีบไปปรึกษาสูตินรีแพทย์ เพราะไม่อย่างนั้น จากเรื่องเล็กๆ อาจกลายเป็นโรคผู้หญิงที่ลุกลามกลายเป็นเรื่องใหญ่โตได้เลยค่ะ 

ท้องน้อย คือบริเวณที่อยู่ใต้สะดือลงมาจนถึงหัวหน่าวค่ะ โดยอาการปวดอาจจะปวดได้ทั้งแบบเรื้อรังและฉับพลัน เกี่ยวหรือไม่เกี่ยวกับการมีประจำเดือนก็ได้ แต่อาการปวดบริเวณท้องน้อยแบบไหนบ้างที่ควรต้องหาหมอ เรามาดูกันค่ะ

อาการปวดที่ต้องเฝ้าระวัง

  1. ปวดเฉียบพลัน ทันที รุนแรง
  2. กินยาแก้ปวดแล้วอาการไม่ดีขึ้น 
  3. ปวดเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน รบกวนชีวิตประจำวัน 
  4. มีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น มีไข้ คลื่นไส้อาเจียน ปัสสาวะแสบขัด 
  5. ปวดท้องประจำเดือนมากขึ้นเรื่อยๆ 

หลายคนคงสงสัยแล้วว่า ถ้าปวดท้องน้อยแบบนี้มีโอกาสเป็นโรคอะไรได้บ้างนะ มาดูกัน

ปวดท้องน้อย ที่อาจเสี่ยงเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ 

เป็สาเหตุที่พบบ่อยที่สุดของการปวดท้องประจำเดือน และมักเกิดขึ้นในผู้หญิงที่มีบุตรยาก หรือยังไม่มีบุตร 

อาการ : ปวดเรื้อรังนานกว่า 6 เดือน ปวดหน่วงขณะมีเพศสัมพันธ์ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องอืดระหว่างมีประจำเดือน 

อาการ ปวดท้องน้อย เสี่ยงเนื้องอกมดลูก

ปวดจากการที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่จนไปเบียดอวัยวะอื่นๆ หรือมีการบิดของขั้วเนื้องอก จนทำให้ปวดรุนแรง 

อาการ : ปวดท้องประจำเดือน ปวดท้องรุนแรง

ปวดท้องน้อยที่อาจเสี่ยงถุงน้ำรังไข่

หากแตกรั่ว บิดขั้วของถุงน้ำ อาจทำให้มีเลือดออกในช่องท้อง ปวดท้องเฉียบพลัน หรือติดเชื้อได้ 

อาการ : เกิดอาการแน่นท้อง จุกเสียด อิ่มง่าย หากถุงน้ำแตกจะรู้สึกปวดแบบเฉียบพลัน 

ข้อมูล โรงพยาบาลนครธน

 

ปวดท้องน้อย

 

ไม่อยาก ปวดท้องน้อย คุณเองก็ป้องกันได้!

สำหรับคุณผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ อาจป้องกันไม่ให้มีอาการปวดรุนแรงได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งในขณะมีประจำเดือนควรทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อไม่ให้ลำไส้เกิดการบีบรัดเกินไป จะช่วยทุเลาอาการปวดท้องน้อยได้

สำหรับอาการปวดท้องน้อยจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้

สิ่งที่สำคัญ! คือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในปีละครั้งเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี หากตรวจติดต่อกัน 3 ปีแล้วไม่พบความผิดปกติก็สามารถตรวจเว้นปีได้

ข้อมูลประกอบจากก: รพ.พญาไท

นอกจากอาการปวดบริเวณท้องน้อยแล้ว ยังมีอีกหนึ่งอาการปวดที่สาวๆ ต้องระวัง นั่นคืออาการปวดท้องประจำเดือน  ซึ่งถือเป็นของคู่กัน แต่เจ้าอาการปวดที่สาวๆ คิดว่าเป็นเรื่องปกติ อาจมีอาการเจ็บป่วยซ่อนอยู่นะคะ

รศ.พญ.ธันยารัตน์ วงศ์วนานุรักษ์ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายไว้ว่าการ ปวดท้องประจำเดือน หรือปวดระดู  แบ่งสาเหตุการเกิดได้เป็นหลายสาเหตุ

เหตุแรกคือ

ภาวะการปวดท้องประจำเดือนแบบปฐมภูมิ เป็นภาวะปวดท้องประจำเดือนที่เราทำการตรวจเบื้องต้นแล้วไม่พบรอยโรคผิดปกติในอุ้งเชิงกราน กลุ่มนี้มักเกิดในสตรีอายุน้อยๆ ซึ่งจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไป

อีกสาเหตุคือ

ภาวะการปวดท้องประจำเดือนที่เกิดจากโรคที่เราพบบ่อยๆ ทางโรคเฉพาะสตรี มักเกิดในผู้หญิงที่อายุประมาณ 30 ปีขึ้นไป ได้แก่ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งคือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญอยู่นอกโพรงมดลูก ไปเจริญอยู่ที่ชั้นกล้ามเนื้อมดลูกก็ทำให้เกิดเนื้องอกมดลูกประเภทหนึ่งไปเจริญอยู่ที่รังไข่ ทำให้เกิดลักษณะมีเลือดเก่าๆ อยู่ในรังไข่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายช็อกโกแลต เราก็รู้จักกันดีในโรคช็อกโกแลตซีสต์ ภาวะโรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ก็จะทำให้ผู้ป่วยปวดท้องประจำเดือนมาก และมากขึ้นเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไปอาจนำไปสู่ภาวะปัญหาการมีบุตรยาก เนื่องจากเกิดพังผืดในอุ้งเชิงกราน

การรักษา

สำหรับการรักษาภาวะปวดท้องประจำเดือนแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย ในกรณีที่ตรวจดูแล้วไม่พบรอยโรคผิดปกติ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการรับประทานยาแก้ปวด ถ้าตรวจพบเนื้องอก หรือซีสต์ขนาดไม่ใหญ่มาก ก็จะพิจารณาให้ฮอร์โมนเพื่อเป็นการป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการซึ่งแพทย์จะวินิจฉัยให้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญที่สุด คือการดูแลตนเอง โดยเฉพาะสุภาพสตรี ควรได้รับการตรวจสุขภาพโรคเฉพาะสตรี (นรีเวชวิทยา) อย่างน้อยปีละครั้ง พร้อมทั้งคอยหมั่นสังเกตรอบประจำเดือนของตัวเองว่ามาสม่ำเสมอหรือไม่ และที่สำคัญคือ ภาวะการปวดประจำเดือน ถ้าการปวดประจำเดือนมีมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ควรจะปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

ข้อมูลจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

สำหรับวิธีแก้ลดอาการปวดประจำเดือนได้ แบบวิธีการแพทย์แผนไทย ขอแนะนำ ดังนี้

  1. การนวด การนวดเป็นการกดจุดตามร่างกาย โดยเฉพาะจุดที่บริเวณด้านหลัง 3 จุด ซึ่งจะสามารถช่วยรักษาอาการปวดประจำเดือนได้ แต่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยแพทย์แผนไทยเท่านั้น
  2. การประคบ การใช้ถุงน้ำร้อน หรือลูกประคบ จะช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อยขณะมีประจำเดือนได้ เพราะช่วยลดการบีบตัวของมดลูก ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย
  3. ยาประสะไพล รักษาอาการปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่ปกติ และขับน้ำคาวปลา วิธีกิน กินครั้งละ 500-1000 มิลลิกรัม ก่อนอาหารเช้า กลางวัน เย็น เป็นระยะเวลา 3-5 วัน   กรณีปวดประจำเดือนเป็นประจำ ให้กินก่อนมีประจำเดือน 2 – 3 วัน ไปจนถึงวันแรกและวันที่สองที่มีประจำเดือน แต่ห้ามใช้ในหญิงตั้งครรภ์ และผู้หญิงที่มีระดูมากกว่าปกติ
  4. อยู่ในที่อุ่นๆ หรือจิบชาอุ่นๆ เมื่อมีอาการปวดพยายามหลีกเลี่ยงสภาพแวดล้อมที่เย็น หรือหนาวจนเกินไป โดยต้องพยายามทำตัวให้อุ่นๆอยู่เสมอ เช่น การจิบชาขิง

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ติดตามชีวจิตได้ที่

https://www.instagram.com/cheewajitmedia/

https://www.facebook.com/CheewajitMagazine

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.