เดินทางไกล สุขภาพดี journey

เตรียมตัวยังไง? เดินทางไกล สุขภาพเลิศ

เดินทางไกล ไปได้ทั่ว แถมสุขภาพดีเลิศ

เมื่อเข้าสู่ช่วงเดินทางท่องเที่ยวช่วงวันหยุดยาวอย่างปีใหม่ สงกรานต์ ก็ถึงเวลาที่คุณต้องเก็บกระเป๋าออกเดินทางกันแล้วใช่มั้ยคะ …แต่จะเตรียมตัวอย่างไรให้ทริปเดินทางของคุณส่งเสริมให้ได้สุขภาพดี ปลอดภัย และได้สนุกเต็มที่โดยไม่ต้องพะวักพะวง หรือประสบปัญหากับการเดินทางที่ยาวนานด้วย …วันนี้เรามีคำตอบ

ทั้งการเดินทางโดยรถส่วนตัว รถประจำทาง เรือ และเครื่องบิน
แถมด้วยทริกซ์แก้อาการแพ้ที่สูง อาการอาหารเป็นพิษ และคำแนะนำสำหรับคนมีโรคประจำตัวที่ต้องเดินทางด้วย …ไปติดตามกันเลย

ทำอย่างไรถึงจะไม่เมารถเมาเรือ
     อาการเมารถเมาเรือหรือเมาการเดินทางเกิดจากการที่ระบบประสาทที่เกี่ยวกับการทรงตัวของร่างกายในช่องหูชื่อ Vestibular organ ทำงานไม่ปกติ ซึ่งระบบประสาทส่วนนี้จะมีน้ำชนิดหนึ่งที่เป็นตัวช่วยควบคุมให้ร่างกายทรงตัวได้ตามปกติ ในขณะที่เราเดินทางจะเกิดการเหวี่ยงไปมาของน้ำในหูเพื่อปรับสมดุล เกินความสามารถในการปรับตัว ร่างกายจึงแสดงอาการมึน งง หน้าซีด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาเจียนออกมาในที่สุด แต่ไม่ต้องห่วงค่ะ เมื่อคุณจำเป็นต้องเดินทางไม่ว่าจะทางรถ หรือทางเรือ หากปฏิบัติตัวตามคำแนะนำดังต่อไปนี้ น่าจะช่วยให้คุณรู้สึกสนุกกับการเดินทางได้

 

  • พักผ่อนให้เต็มที่ก่อนออกเดินทาง
  • ไม่ควรกินอาหารอิ่มเกินไปก่อนหรือระหว่างเดินทาง
  • งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดก่อนออกเดินทาง เพราะแอลกอฮอล์มีส่วนทำให้ร่างกายมึนงง หรือเมารถเมาเรือได้ง่าย
  • ระหว่างเดินทางควรดื่มน้ำหรือน้ำหวานทีละน้อย แต่ดื่มบ่อยๆ เพื่อป้องกันการสูญเสียน้ำ และควรกินอาหารว่างเบาๆเป็นระยะ
  • หลีกเลี่ยงการเพ่งมองสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การอ่านหนังสือบนรถ แต่ควรมองออกไปไกลๆ หรือมองอะไรที่เป็นสีเขียวนอกรถ
  • ถ้าจำเป็นต้องพึ่งยา ควรกินยาที่เรียกว่า Dramamine ซึ่งเป็นตัวยาเม็ดสีเหลือง สำหรับป้องกันอาการเมาก่อนออกเดินทางประมาณ ½-1ชั่วโมง เพื่อให้ตัวยาออกฤทธิ์ทันเวลา

นอกจากนี้อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่นไข้หวัดก็อาจส่งผลให้มีอาการมึนงง คลื่นไส้ หรืออาเจียน ได้ง่ายกว่าภาวะปกติ อย่ากระนั้นเลย หากปฏิบัติตามนี้ การเดินทางในแต่ละครั้งของคุณจะได้ไม่มีอุปสรรคให้หงุดหงิดใจ

แต่หลายคนเดินทางไกลด้วยเครื่องบิน… อยู่บนเครื่องจะดูแลตัวเองอย่างไร เรามีคำแนะนำค่ะ (หน้าถัดไปนะ)

วิธีปฏิบัติตัวเมื่อต้องเดินทางด้วยเครื่องบิน
หากต้องสัญจรด้วยเครื่องบิน และใช้เวลาอยู่บนเครื่องบินเป็นเวลานาน นอกจากอาการเมาเครื่องบินแล้ว อาจมีปัญหาอื่นๆตามมาได้แก่

  • ภาวะอ่อนล้าจากการบิน หรือ เจ็ตแลก (jetlag) เป็นอาการเหนื่อยอ่อนจากการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นระยะทางไกลมาก ทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายปรับตัวกับเวลาใหม่ไม่ทัน ยิ่งคุณเดินทางข้ามเขตเวลามากเท่าไร ก็ยิ่งทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวนมากเท่านั้น อาการที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปคือ เหนื่อยล้าเมื่อถึงที่หมาย นอนไม่หลับ ไม่อยากกินอาหาร หรืออยากอาหารในเวลาที่ไม่เหมาะสม
  • ภาวะหลอดเลือดดำชั้นลึกอุดตันด้วยลิ่มเลือด (economy-class syndrome) เป็นอาการที่เกิดขึ้นเมื่อต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน ทำให้เลือดไปอุดตันที่ขา ส่งผลให้เลือดไหลเวียนไม่ดี จนก่อให้เกิดอาการขาบวม ภาวะนี้อาจลุกลามทำให้เลือดบริเวณขาเกาะตัวกันเป็นก้อน หรือที่เรียกว่า deep vain thrombosis ซึ่งอาจลุกลามไปอุดตันเส้นเลือดที่ปอด ส่งผลให้ออกซิเจนในร่างกายต่ำลง จนก่อเกิดอาการเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากอาจทำให้เสียชีวิตได้ โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องเดินทางไปยังประเทศที่อยู่ไกลๆเช่น จากประเทศไทยไปประเทศอเมริกา
  • ร่างกายขาดน้ำ อาจทำให้เกิดอาการเวียนศีรษะได้ หากคุณต้องเดินทางข้ามเส้นสมมติแบ่งเวลามากกว่า 5 time zone (1 time zone คือเวลา 1 ชั่วโมงที่ต่างกัน)

วิธีการปรับร่างกายเพื่อให้เข้ากับสถานที่ที่ไปอย่างรวดเร็ว

ควรปรับตัวให้เข้ากับเวลาท้องถิ่นให้เร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง

  • ควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอในคืนก่อนการเดินทาง
  • ดื่มน้ำบริสุทธิ์และน้ำผลไม้บ่อยๆ จะช่วยเพิ่มความรู้สึกสบายตัวระหว่างการเดินทาง
  • อย่ากินอิ่มมากเกินไป ทั้งก่อนและระหว่างเดินทาง เพราะจะทำให้รู้สึกอึดอัด และทำให้ระบบย่อยอาหารของร่างกายทำงานหนักมากขึ้น เพราะต้องนั่งอยู่กับที่เป็นเวลานาน
  • ถ้าเป็นไปได้ ควรให้ร่างกายได้ปรับตัวสู่รอบเวลาใหม่หลังการเดินทางสัก 1-2 วัน เช่น ถ้าเดินทางไปตะวันออกให้เข้านอน และและตื่นให้เร็วขึ้นสัก 1-2 วัน หรือหากเดินทางไปตะวันตกให้เข้านอนดึกสัก 1-2 วัน
  • ถ้าเลือกได้ ควรเลือกเที่ยวบินที่บินตรงสู่จุดหมาย เพื่อเป็นการลดระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทาง ทั้งนี้จะช่วยให้คุณพักผ่อนได้มากขึ้น เมื่อเดินทางถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
  • พยายามนอนหลับบนเครื่องบิน และเมื่อถึงที่หมายแล้ว ควรอยู่ในที่ที่มีแสงธรรมชาติในช่วงเวลากลางวันให้นานที่สุด
  • เมื่อคุณไม่สามารถข่มตาให้หลับได้เมื่อเดินทางถึงที่หมายแล้ว ให้อ่านหนังสือ ออกกำลังกายเบาๆ หรือเดินไปมาเพื่อสร้างความกระฉับกระเฉงให้ร่างกาย เพราะโดยปกติแล้วแล้วร่างกายจะใช้เวลาในการปรับตัวเข้ากับรอบเวลาใหม่ประมาณ 1 วัน

   ส่วนคนที่มีอาการดังต่อไปนี้ห้ามเดินทางโดยเครื่องบินเด็ดขาดค่ะ

  1. ภาวะโลหิตจาง ซีดมากๆ หรือระดับฮีโมโกลบินน้อยกว่า 8.5
  2. อยู่ในภาวะหัวใจวายที่ยังควบคุมไม่ได้
  3. โรคอัมพาต หรือเส้นเลือดในสมองอุดตัน
  4. โรคเลือดออกในกระเพาะอาหารอย่างน้อย 3 สัปดาห์
  5. คนที่เคยผ่าตัดใส่ลมเข้าไปในช่องท้องภายใน 14 วัน

อีกปัญหาสำคัญของคนเดินทางไกลคือ “การขึ้นที่สูง” และอาการ “อาหารเป็นพิษ” เราบอกทางแก้ไว้แล้ว… หน้าถัดไปนะ ^^

ป้องกันอาการเมาที่สูง
     สำหรับคนที่พิสมัยการปีนป่ายภูเขา หรือคนที่เดินทางไปในบริเวณที่อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 3,000 เมตร ออกซิเจนจะมีน้อย บางครั้งหากร่างกายไม่พร้อม อาจทำให้เกิด อาการเมาที่สูง (high altitude sickness) ได้ จึงรู้สึกวิงเวียน อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หายใจกระชั้น สมองล้า และง่วงงุน หากคุณมีอาการดังกล่าวไม่ควรฝืนขึ้นที่สูงต่อไป ควรให้เวลากับร่างกายเพื่อปรับตัวกับออกซิเจนที่เบาบาง แล้วอาการจะหายไปเองภายใน 2-3 วัน ระหว่างนั้นควรปฏิบัติตัวดังนี้ค่ะ

  • ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  • กินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เช่น ผักใบเขียว และถั่วเมล็ดแห้ง เพราะธาตุเหล็กทำหน้าที่นำออกซิเจนไปยังเลือด

อาหารเป็นพิษปัญหายอดฮิตของนักเดินทาง
     เมื่อเดินทางถึงที่หมายแล้ว ก็ใช่ว่าจะหมดห่วงนะคะ บางพื้นที่ที่เราต้องเดินทางไป อาหารการกินที่แตกต่างจากบ้านเราอย่างสิ้นเชิง ยิ่งต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นเท่าตัว เพราะอาจทำให้เกิดภาวะอาหารเป็นพิษได้ โดยเฉพาะคนเอเชียอย่างเราๆ นั้น ไม่มีเอนไซม์ในการย่อยนม ส่วนคนตะวันตกก็คุ้นลิ้นกับอาหารรสอ่อน อย่างไรก็ตาม หากเลี่ยงไม่ได้ อย่าลืมทำตามคำแนะนำต่อไปนี้นะคะ

    1. กินอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น เมื่อจำเป็นต้องกินอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ปลา หรืออาหารทะเล ควรกินเฉพาะที่ปรุงสุกดีแล้วเท่านั้น
    2. เมื่อต้องเดินทางไปต่างจังหวัดหรือประเทศเขตร้อนอื่นๆ ไม่ควรกินอาหารที่ปรุงเสร็จนานกว่า 3 ชั่วโมง (ถ้าอากาศร้อนมากก็ไม่ควรเกิน 2 ชั่วโมง) และหากเกิดอาการท้องร่วง ควรดื่มของเหลว หรือดื่มน้ำผสมเกลือแกงและน้ำตาลมากๆ
    3. บริโภคน้ำอย่างระมัดระวัง หากเดินทางไปยังประเทศกำลังพัฒนา ควรเลี่ยงน้ำหรือน้ำแข็งที่ทำจากน้ำประปา และอย่าใช้น้ำประปาแปรงฟันหรือล้างอาหาร ส่วนน้ำดื่มควรดื่มน้ำต้มสุก หรือไม่ก็ดื่มน้ำจากขวดที่ปิดฝาสนิทเท่านั้น หรือใช้ยาเม็ดฆ่าเชื้อสำหรับน้ำดื่ม หรือใช้เครื่องกรองน้ำด้วยซันไอโอดีน

นอกจากนี้ คนที่กลัว “ตัวดำ” ต้องติดตามหน้าถัดไปนะ มีทริกซ์ดีๆ มาบอกค่ะ

ป้องกันปัญหาสุขภาพจากภูมิอากาศ
     สำหรับผู้ที่เดินทางไปท่องเที่ยวในฤดูร้อน หรือเดินทางไปยังแถบประเทศที่มีแดดจัด โดยเฉพาะประเทศแถบแอฟริกา อเมริกาใต้ และเอเชียบางประเทศ แสงแดดที่รุนแรงอาจทำให้ ผิวหนังไม้เกรียม (sun burn) ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งผิวหนังได้ หากคุณมีโปรแกรมต้องเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีแสงแดดจัดๆ เรามีวิธีหลีกเลี่ยงแสงร้อนๆของดวงอาทิตย์มาบอกค่ะ

    1. หลีกเลี่ยงแดดช่วงเวลา 11.00-15.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่แดดแรงที่สุด
    2. เมื่อต้องอยู่ท่ามกลางแสงแดดจัด ควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 15 ขึ้นไป โดยทาก่อนออกแดดประมาณครึ่งชั่วโมง และทาซ้ำๆทุก 2 ชั่วโมง
    3. หลังจากว่ายน้ำ หรืออาบน้ำใหม่ เมื่อจำเป็นต้องออกไปอยู่ท่ามกลางแสงแดด ควรสวมหมวกปีกกว้าง และใส่เสื้อผ้าที่ปกปิดมิดชิด (สำหรับเด็กทารกควรให้อยู่ในที่ร่มเสมอ เพราะผิวยังอยู่ในสภาพอ่อน)

นอกจากทำตามคำแนะนำข้างต้นแล้ว คุณควรกินอาหารที่มีเบต้าแคโรทีนให้มากขึ้นด้วยนะคะ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีสีเหลืองส้ม เช่น แครอท มะละกอสุก และผักใบเขียวเข้ม เนื่องจากเบต้าแคโรทีนเป็นสารที่ละลายในไขมันได้ จึงเข้าไปละลายอยู่ในไขมันบริเวณผิวหนัง และช่วยกรองรังสีอัลตร้าไวโอเลตจากแสงแดด ซึ่งเป็นอันตรายต่อมนุษย์ ส่วนคนที่เดินทางจากประเทศร้อนไปยังประเทศที่หนาวมากๆ ปัญหาที่เจอบ่อยคืออาการติดเชื้อทางลมหายใจส่วนบน คืออาการไข้หวัด หรือคนที่เป็นโรคเริมอาจมีอาการกำเริบได้เหมือนกัน นอกจากนี้ควรเตรียมของใช้จำเป็นจำพวกปลาสเตอร์ ผ้าพันแผล ขี้ผึ้งฆ่าเชื้อ ยาแก้ท้องร่วง ผงเกลือแร่ ยาช่วยย่อย มุ้ง ยากันยุงชนิดขด ยาไล่แมลง และสเปรย์กำจัดแมลง ไปด้วย

นอกจากนี้ ยังมีทิปส์ดีๆ แนะนำคนเดินทางที่มี “โรคประจำตัว” อย่างโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคตับ และโรคภูมิแพ้อากาศอีกด้วย ติดตามหน้าถัดไปค่ะ

Tip การเตรียมตัวก่อนเดินทางของผู้ที่มีโรคประจำตัว

  • โรคหัวใจ ก่อนเดินทางต้องปรึกษาแพทย์ประจำตัว และบอกรายละเอียดให้แพทย์ฟังด้วยว่าจะเดินทางไปทำอะไร แพทย์จะได้แนะนำได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะการเดินทางไปในประเทศที่มีอากาศหนาว จะทำให้หัวใจทำงานหนักกว่าปกติ ที่สำคัญอย่าลืมพกยาไปด้วยทุกครั้ง
  • โรคเกี่ยวกับไซนัส ในบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ โดยเฉพาะในเครื่องบิน จะทำให้ทางระบายอากาศของไซนัสอุดตัน ทำให้อากาศอุดอยู่ในช่องไซนัส เมื่ออยู่ในที่สูงๆความกดอากาศต่ำลง โพรงไซนัสจะขยายตัวออก ทำให้ปวด คัดจมูก และทำให้หูชั้นกลางเกิดอาการปวดอย่างรุนแรง ดังนั้นเวลาอยู่บนเครื่องบินควรกลืนน้ำลายบ่อยๆ หาวอ้าปากกว้างๆ หรือเคี้ยวหมากฝรั่งในขณะที่เครื่องบินกำลังบินขึ้นหรือลง เพื่อให้ลมพัดเข้าออกหูชั้นกลางได้ดี
  • โรคเบาหวาน ควรพกยาสำหรับควบคุมระดับน้ำตาลจากการกินอาหารเข้าไปด้วย เพราะอาหารที่เรากินในต่างถิ่นอาจแปลกไปจากที่เคยกินเป็นประจำ อาจทำให้ต้องเพิ่มหรือลดปริมาณยาที่เคยกิน ตามสภาพแวดล้อมที่เดินทางไป ซึ่งบางกรณีอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำที่เรียกว่าภาวะช็อก ทำให้หน้ามืด เป็นลม ดังนั้นการเดินทางสำหรับผู้ป่วยเบาหวานต้องระวังเรื่องระดับอินซูลินในร่างกายให้ดี เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
  • โรคตับ ต้องระวังการติดเชื้อระหว่างการเดินทาง โดยเฉพาะเชื้อ Vibrio vulnificus ดังนั้นเมื่อไปเที่ยวทะเล ไม่ควรเดินไปย่ำน้ำทะเลด้วยเท้าเปล่า เพราะเชื้อดังกล่าวจะเข้าสู่กระแสเลือดทางเท้า และที่สำคัญต้องระวังเรื่องอาหารและเครื่องดื่มด้วย

ข้อมูลเรื่อง “เตรียมตัวยังไง เดินทางไกล ไปได้ทั่ว” จากคอลัมน์ เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 179

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.