เครื่องดื่มทำให้ป่วย

4 เครื่องดื่มอันตราย ก่อโรค

เครื่องดื่มอันตราย ก่อโรค อาจอยู่ในบ้าน โดยไม่รู้ตัว

เครื่องดื่มอันตราย มีอะไรบ้างที่ควรหลีกเลี่ยงและดื่มอย่างระมัดระวัง วันนี้ ชีวจิต จะพาไปดูและทำความรู้จัก มาดูไปพร้อม ๆ กันเลย

เครื่องดื่มที่เราเห็นว่ามีหลากหลายชนิดในท้องตลาดนั้นมีการกำหนดความหมายและแบ่งประเภทโดย คณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ควบคุมความปลอดภัยและกำหนดมาตรฐานด้านอาหารตั้งแต่จุดเริ่มต้น โดยแบ่งเครื่องดื่มเป็น 2 ประเภทหลักๆ คือ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บางชนิดก็เป็น เครื่องดื่มอันตราย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ มี 4 ประเภทย่อย

  • น้ำผลไม้ เช่น น้ำผลไม้แท้ น้ำผลไม้ผสม น้ำหวานเข้มข้นผสมน้ำผลไม้
  • เครื่องดื่มอัดแก๊ส เช่น น้ำโซดา น้ำอัดลม
  • เครื่องดื่มกระตุ้นประสาท เช่น ชา กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลังหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
  • น้ำนม เช่น นมสด นมผสมจากนมผง นมปรุงแต่งรส น้ำนมถั่วเหลือง

เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์

ตามพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 แบ่งเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ออกเป็น 2 ประเภทย่อย

  • สุราแช่หรือเมรัย คือ ผลที่ได้จากการหมักส่า ให้เกิดสุราที่มีความเข้มข้น แอลกอฮอล์ไม่เกิน 15 ดีกรี และไม่มีการกลั่น เช่น เบียร์ ไวน์ แชมเปญ หรือสุรากลั่นจากผลไม้ต่าง ๆ
  • สุรากลั่น คือผลที่ได้จากการหมักส่าให้เกิดมีแอลกอฮอล์แล้วกลั่น และบางชนิดต้องเก็บไว้นานเพื่อให้มีคุณภาพดี อาจปรุงแต่ง ให้มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตามความต้องการ เช่น บรั่นดี วิสกี้ เหล้าขาว เชียงชุน

เครื่องดื่มอันตราย ผลกระทบต่อสุขภาพ

เครื่องดื่มอันตราย
พึงระวัง! เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรค

รายงานของ สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี ระบุว่า ปัจจุบันนี้เด็กไทย 6 ใน 10 คนบริโภคน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ส่วนใหญ่จะมาจากนมหวาน รองลงไปจะเป็นขนมหวานและน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กไทยป่วยด้วยโรคฟันผุ โรคอ้วน เบาหวาน โรคหัวใจ มากขึ้นเป็นประวัติการณ์

ต่อมาในวัยรุ่นและวัยทำงานพบว่า สุราแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต องค์การอนามัยโลกระบุว่า ประชากรไทยติดอันดับชาติที่ดื่มสุราสูงสุดเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยชายวัยทำงานอายุ 20-45 ปี ดื่มสุราสูงสุดถึงร้อยละ 75  เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่วัยรุ่นหญิงนิยมดื่ม ได้แก่ สุราต่างประเทศ สุราผสมผลไม้ หรือ ไวน์คูลเลอร์ เพราะเชื่อว่ามีแอลกอฮอล์น้อยดื่มแล้วไม่เมา ในต่างประเทศมีการวิจัยพฤติกรรมการบริโภคสุราผสมผลไม้ หรือ RTD (Ready To Drink) พบว่า เครื่องดื่มประเภทนี้เป็นประตูบานแรกที่เปิดให้เยาวชนกลายเป็นผู้เสพติดสุราในที่สุด

น้ำรสผลไม้ให้แต่น้ำตาล

เครื่องดื่มอันตราย
น้ำผลไม้ น้ำตาลสูงนะ

เครื่องดื่มยอดนิยมที่เด็กๆหรือแม้แต่ผู้ใหญ่หลายคนก็ชื่นชอบ

ส่วนประกอบ

สารแต่งกลิ่น สี รส ปริมาณสารปรุงแต่งเหล่านี้ถึงแม้จะไม่มากแต่ก็ไปสะสมที่ตับและร่างกายส่วนอื่น เพิ่มโอกาสให้เกิดความผิดปรกติของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งได้

เมื่อคุ้นชินกับการดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานเสียตั้งแต่ยังเล็ก ทำให้เมื่อเติบโตขึ้นเป็นอาการติดน้ำตาล บางรายอาจจะแสดงออกด้วยอาการทางจิต เช่น ซึมเศร้า กระสับกระส่าย เดี๋ยวอารมณ์ดีเดี๋ยวอารมณ์ร้าย สมาธิสั้น มีแนวโน้มที่จะกลายเป็นคนที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

เพิ่มโอกาสเสี่ยงโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และภาวะไฮโปไกลซีเมีย หรือภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ มีอาการแพ้ที่ผิวหนัง ปรากฏเป็นผื่นคันหรือลมพิษขึ้นเป็นปื้นๆ ตามนิ้ว แขนขาชา ก่อโรคในช่องปาก ฟันผุ

น้ำอัดลมซ่ากว่าที่คิด

ส่วนประกอบ

น้ำตาล : ในน้ำอัดลม 1 กระป๋องขนาด 250 มิลลิลิตร มีปริมาณน้ำตาลราว 3 ช้อนชา

น้ำอัดลมอันตราย
น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาล 3 ช้อนชา (วันหนึ่งควรกินไมเกิน 6 ช้อนชา)

กรดคาร์บอนิก : น้ำอัดลมยังมีการปรุงแต่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มอีก 2 ประการ ได้แก่ การเติมกรดปรุงแต่งรสในน้ำอัดลม ซึ่งมีค่า ph โดยประมาณเท่ากับ 3.4 ซึ่งค่าความเป็นกรดนี้สามารถกัดกร่อนฟันและกระดูกได้ ส่วนการอัดแก๊สที่เติมเข้าไปอีกนั้นช่วยให้เกิดความซ่าชวนดื่ม อาจทำให้ท้องอืดเพราะมีแก๊สในกระเพาะอาหารมากเกินไป เกิดอาการระคายแก่ผนังกระเพาะอาหาร เสี่ยงต่อการเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหารในระยะยาว กระดูกและเคลือบฟันผุกร่อนเร็วกว่าปรกติ ด้วยเหตุนี้ทำให้น้ำอัดลมจึงเป็นเครื่องดื่มต้องห้ามในผู้สูงอายุที่มีปัญหาเกี่ยวกับกระดูกและผู้ป่วยด้วยโรคกระเพาะอาหาร

สารปรุงแต่งรสและสารกันบูด : สารเหล่านี้อาจตกค้างในร่างกายและสะสมในตับ ทำให้การทำงานของตับลดลง ไปสู่โรคเกี่ยวกับตับ เช่น มะเร็งตับ ได้

คาเฟอีน : ส่วนประกอบในน้ำอัดลมประเภทน้ำสีดำที่สกัดได้จากเมล็ดโคคาจึงมีคาเฟอีนตามธรรมชาติอยู่ แม้กระนั้นก็ยังมีการเติมคาเฟอีนเพิ่มในกระบวนการผลิตซ้ำอีก ดังนั้นจึงมีคาเฟอีนเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูง เด็กและสตรีมีครรภ์จึงไม่ควรดื่ม ส่วนน้ำอัดลมประเภทที่มีสีใส ประเภทแต่งสีแต่งกลิ่นเลียนแบบผลไม้ แม้ไม่มีคาเฟอีนผสมอยู่แต่ก็มีความหวานจัด

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

ผลจากการดื่มน้ำอัดลมมีให้เห็นในภาพยนต์สารคดีเรื่อง Supersize Me อันโด่งดัง ซึ่งเรื่องจริงของ มอร์แกน สเปอร์ล๊อค ชายหนุ่มชาวอเมริกันผู้ทดลองกินอาหารฟาสต์ฟู้ดและดื่มน้ำอัดลมแก้วโตทุกมื้อติดต่อกัน เป็นเวลา 30 วัน     เมื่อครบกำหนดการทดลอง ปรากฏว่า น้ำหนักตัวของมอร์แกนเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 10 กิโลกรัม พุงโย้ กล้ามเนื้อเหี่ยว ร่างกายขาดสารอาหารจำเป็นประเภทวิตามิน เกลือแร่เกือบทุกตัว ตับและไตถูกทำลายไปมากกว่าครึ่ง และแพทย์ลงความเห็นว่า หากมอร์แกนไม่หยุดการทดลองเขาอาจช็อคและเสียชีวิตจากอาการไตวายได้

เครื่องดื่มเกลือแร่ทำลายสุขภาพคุณแน่

เครื่องดื่มประเภทนี้ได้รับการโฆษณาว่า เหมาะกับผู้ที่ออกกำลังกายหรือสูญเสียเหงื่อมาก มีรสหวานและเค็มเล็กน้อย มีการปรุงแต่งรสด้วยสีและกลิ่นผลไม้

เครื่องดื่ม
พึงระวัง! เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรค

ส่วนประกอบ

น้ำตาลและสารปรุงแต่งรส มีปริมาณไม่สูงมากเมื่อเทียบกับน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้

เกลือแร่ต่างๆ เช่น โซเดียม โพแทสเซียม ไบคาร์บอนเนต จากส่วนประกอบดังกล่าวบวกกับเทคนิคในการโฆษณาทำให้ประชาชนรู้สึกว่า เครื่องดื่มชนิดนี้เหมาะกับนักกีฬาและผู้ที่มีเหงื่อออกมาก

เครื่องดื่มเกลือแร่ควรใช้กับผู้ที่เสียเหงื่อมากๆ โดยผิดจากภาวะปรกติที่ร่างกายเคยชิน เช่น ในกรณีนักกีฬาที่เคยอยู่ในเขตหนาว เมื่อมาแข่งขันในแถบร้อน แล้วร่างกายปรับตัวไม่ทัน จะพบว่าเหงื่อออกมากขณะลงสนาม และอ่อนเพลียจากการสูญเสียเกลือแร่ได้ เป็นต้น ถ้าเป็นการเสียเหงื่อจากการออกกำลังกายตามปรกติ รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา ให้คำแนะนำว่า การดื่มน้ำเปล่าเพื่อชดเชยเหงื่อที่เสียไปก็เพียงพอ และถ้ายิ่งเป็นนักกีฬาที่มีการฝึกซ้อมทุกวันด้วยแล้ว ก็แทบจะไม่จำเป็นต้องดื่มเครื่องดื่มเกลือแร่เสริมอีก เพราะร่างกายจะสามารถปรับตัวต่อการเสียเหงื่อเป็นประจำโดยไม่จำเป็นต้องให้เกลือแร่ชดเชย

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

การบริโภคเครื่องดื่มเกลือแร่ที่มีเกลือโซเดียมมากเกินไป อาจเป็นอันตรายโดยเฉพาะในผู้ที่ป่วยโรคหัวใจ หรือโรคไต ในกรณีของเด็กและทารกไม่ควรดื่ม เพราะอาจเกิดการเสียสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายได้

เครื่องดื่มชูกำลังให้คาเฟอีนมากเกิน

เครื่องดื่ม
พึงระวัง! เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรค

ส่วนประกอบ

น้ำตาล วิตามินต่างๆ ผู้ดื่มอาจรู้สึกสดชื่นนั้นเนื่องจากได้รับน้ำตาลเข้าไป ส่วนวิตามินและสารอื่นๆ เช่น สารกลูคูแฟโรโนแลคโตน สารอันโนซีทอล สารเทาริน ที่ฉลากข้างขวดมักจะระบุว่า มีส่วนช่วยบำรุงตับ หัวใจนั้น ในความเป็นจริงยังไม่ปรากฏผลทางวิชาการมารับรองว่า ร่างกายจะได้รับประโยชน์จากการดื่มสารเหล่านั้นเข้าไปโดยตรง

คาเฟอีนสังเคราะห์ ในเครื่องดื่มประเภทนี้มีการเติมคาเฟอีนสังเคราะห์ซึ่งไม่ใช้คาเฟอีนธรรมชาติเหมือนที่พบในน้ำอัดลมหรือกาแฟ โดยปริมาณคาเฟอีนที่ผสมจะอยู่ที่ 50-100 มิลลิกรัม ต่อ ขวดบรรจุ 100 มิลลิลิตร ซึ่งนับว่าค่อนข้างสูง

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

บุคคลทั่วไปไม่ควรบริโภคคาเฟอีนเกินวันละ 300 มิลลิกรัม ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากปริมาณคาเฟอีนที่ผสมอยู่จึงมีคำเตือนว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละ 2 ขวด เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อการทำงานของตับแล้ว ยังมีผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กและทารกในครรภ์

ในส่วนของวิตามินที่อ้างว่าผสมในเครื่องดื่มประเภทนี้กว่า 10 ชนิดนั้น หากเรารับประทานผักผลไม้เพียงพอแล้ว ร่างกายก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเสริมวิตามินหรือสารอาหารอื่นๆจากการดื่มเครื่องดื่มเหล่านี้เข้าไปอีก

หลายเครื่องดื่มให้โทษทั้งกด และกระตุ้นประสาท …แต่เครื่องดื่มอีกหลายชนิด ยังทำให้เกิด “อาการติด” ได้อีกด้วย

เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์นำไปสู่การเสพติด

เครื่องดื่ม
พึงระวัง! เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรค

เครื่องดื่มกลุ่มนี้ถือเป็นก้าวแรกที่นำวัยรุ่น ไปสู่ถนนนักดื่มได้โดยง่าย เพราะมีรสหวานเนื่องจากมีการปรุงรส สี กลิ่นหรือผสมน้ำผลไม้ ทำให้ชวนดื่ม ไม่มีรสขมจัดอย่างเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในดีกรีสูงๆ

ส่วนประกอบ

น้ำหวานรสผลไม้หรือน้ำผลไม้ : ปริมาณน้ำตาลไม่สูงเท่าน้ำอัดลมและน้ำหวานรสผลไม้

แอลกอฮอล์ แม้จะมีประมาณแอลกอฮอล์ที่ดูเหมือนไม่มากนัก คือ เฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 6-9 แต่หากดื่มติดต่อกันตั้งแต่ 5 ขวด(ปริมาณบรรจุขวดละ 250 มิลลิลิตร) ขึ้นไปก็ทำให้มึนเมาได้

ผลกระทบต่อสุขภาพร่างกาย

สถาบันวิจัยยาเสพติด ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า การที่เด็กเริ่มต้นทำตัวเป็นนักดื่มตั้งแต่ก่อนอายุ 13 ปี มีโอกาสติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปจนโต ซึ่งมีกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 10 ปี ประมาณร้อยละ 4.7 ที่เริ่มดื่ม เมื่อเทียบอายุเฉลี่ยของคนไทยที่เริ่มดื่มแอลกอฮอล์ อยู่ที่ 20.5 ปี จะเห็นว่าเร็วจนน่าตกใจมาก

หากเครื่องดื่มยอดนิยมมีผลลบต่อสุขภาพเช่นนี้แล้ว เราควรเลือกดื่มเครื่องประเภทใดแทน…

นอกจากรับประทานอาหารครบทั้ง 5 หมู่แล้ว ร่างกายยังต้องการน้ำเฉลี่ยวันละ 2.5 ลิตรหรือราว 8 แก้ว เพื่อนำไปใช้ในระบบต่างๆของร่างกาย หากไม่ดื่มน้ำให้เพียงพอ ร่างกายจะเกิดภาวะขาดน้ำ เกิดขึ้นเมื่อร่างกายสูญเสียน้ำอย่างรุนแรง ส่งผลให้ระดับของโซเดียม โปแตสเซียม และคลอไรด์ ไม่สมดุล

เครื่องดื่มอันตราย
พึงระวัง! เครื่องดื่มที่ก่อให้เกิดโรค

เครื่องดื่มเสริมอื่นๆอาจมีความความจำเป็นในบางช่วงวัย เช่น วัยเด็กที่กำลังเจริญเติบโตและผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน อาจมีการเสริมแคลเซี่ยมโดยให้ดื่มนมถั่วเหลืองเป็นประจำ หรือ ขณะที่บางโรคอาจต้องมีการเสริมปริมาณเครื่องดื่ม ยกตัวอย่างเช่น การดื่มน้ำเกลือแร่โออาร์เอสในผู้ป่วยโรคท้องร่วง การดื่มน้ำให้มากขึ้นเพื่อช่วยในการขับถ่ายในกรณีของผู้ป่วยที่มีปัญหาท้องผูก เป็นต้น

รองศาสตราจารย์ ดร.กัลยา สรุปในตอนท้ายว่า สำหรับวิถีชีวิตของคนโดยทั่วไปแล้ว น้ำสะอาดที่ผ่านการต้มแล้วนับว่าเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เหมาะกับทุกเพศทุกวัย ในราคาประหยัด ถ้าหากสนใจจะหาซื้อเครื่องดื่มอื่นๆมาบริโภค ควรอ่านฉลากโภชนาการที่แสดงไว้บริเวณด้านข้างของผลิตภัณฑ์ เพื่อเป็นข้อมูลช่วยตัดสินใจว่า เครื่องดื่มชนิดนั้นให้ประโยชน์ต่อร่างกาย ไม่ก่อโรค และมีราคาคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

สามารถติดตามเพิ่มเติมได้ที่ : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 589 มกราคม 2567 (รับเข้าเท่ากับขับออก สมการดื่มน้ำพิชิตโรค “หลากชนิด”)
หรือติดตามนิตยสารชีวจิต ฉบับอื่น ๆ ได้ที่ ร้านนายอินทร์

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

6 เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เติมความสดชื่นให้ร่างกายในตอนเช้า

หยุด! ดื่ม บรรดาเครื่องดื่มแบบนี้ ถ้าไม่อยากมีไขมันพอกตับ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.