ไมเกรน

5 วิธีบำบัด “ไมเกรน” ด้วยตัวเอง

บำบัด ไมเกรน ด้วยตัวเอง

ไมเกรน เป็นอาการปวดศีรษะตุบๆ อย่างรุนแรงโดยเริ่มจากบริเวณใกล้ดวงตาหรือบริเวณขมับข้างใดข้างหนึ่ง ซึ่งจะเกิดขึ้นซ้ำๆ มักพบร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ อาจเป็นนานถึง 3 วัน จนผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองแทบไม่ได้ วิธีที่ดีที่สุดคือ ค้นหาว่าปัจจัยใดที่กระตุ้นให้เกิดอาการ แล้วหลีกเลี่ยง

ดังนั้นมารู้จักกับ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนกันนะคะ

ควร “เลี่ยง” เพื่อป้องกันไมเกรนกำเริบ

ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดไมเกรนมีทั้งปัจจัยภายในและภายนอกร่างกาย ที่ควรระมัดระวังและหลีกเลี่ยงมีดังต่อไปนี้

ปวดไมเกรน

  1. อาหารที่มีสารกระตุ้นอาการเริ่มแรกของไมเกรน เช่น ไนไทรต์ ซึ่งพบในเบคอน ฮอตดอก และเนื้อหมัก ไทรามีน พบในไวน์แดง ตับไก่ อาหารที่ใช้ยีสต์ แทนนิน พบมากในถั่วเปลือกแข็ง น้ำแอปเปิล องุ่น เบอร์รี่ ชา กาแฟ และไวน์แดง ซัลไฟต์ ที่ใช้ในการหมักไวน์และผลไม้แห้ง โมโนโซเดียมกลูตาเมตหรือผงชูรส นอกจากนั้นแล้วยังมีช็อกโกแลต เนยแข็ง อาหารทอด และผลไม้จำพวกส้ม
  2. น้ำตาลในเลือดต่ำ เนื่องจากหิวหรือกินอาหารคาร์โบไฮเดรตขัดขาวมากเกินไป
  3. อยู่ในภาวะขาดน้ำ
  4. ความเครียด และความวิตกกังวล รวมถึงอาการช็อก
  5. นอนหลับหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
  6. อยู่ในที่ที่แสงจ้า หรือได้รับแสงจ้าเกินไป
  7. อยู่ในสถานที่หรือได้รับฟังเสียงดัง
  8. การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศหรือฤดูกาล อากาศแห้งหรือลมร้อนแห้ง
  9. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมน อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงภายในร่างกายหรือการกินยาคุม

หากหลีกเลี่ยงปัจจัยดังกล่าวแล้ว แต่ยังมีอาการ สามารถเลือกวิธีบำบัดด้วยตัวเองได้ถึง 5 วิธี…
อ่านต่อ หน้าถัดไป ค่ะ

อาหารต้านไมเกรน

เนื่องจากระบบย่อยและดูดซึมแมกนีเซียมของผู้ป่วยไมเกรนมักมีประสิทธิภาพไม่ดี ช่วงก่อนมีอาการหรือกำลังมีอาการจึงพบว่ามักมีปริมาณแมกนีเซียมลดต่ำลง อาหารที่มีแมกนีเซียมจึงช่วยให้ความถี่และความรุนแรงของอาการน้อยลงได้ ซึ่งอาหารที่อุดมไปด้วยแมกนีเซียม ได้แก่ ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง (ยกเว้นถั่วเปลือกแข็ง ซึ่งแม้จะมีแมกนีเซียมสูง แต่กลับมีสารแทนนินที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน) และฟักทอง

นอกจากแมกนีเซียมแล้ว ผู้มีอาการไมเกรนซึ่งมีพลังงานสำรองในสมองต่ำจึงต้องการ ไรโบฟลาวิน เพื่อช่วยเพิ่มพลังสำรองในเซลล์สมอง อาหารที่มีไรโบฟลาวินสูง ได้แก่ เห็ดหอมสด และผักหวาน

ไมเกรน

บำบัดด้วยน้ำมันหอมระเหยสูตรพิเศษ

น้ำมันหอมระเหยมีสรรพคุณช่วยให้การสื่อสารกันระหว่างระบบประสาทต่างๆ ทำงานได้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถปรับสมดุลของอารมณ์และจิตใจให้อยู่ในภาวะดียิ่งขึ้นได้ วิธีการนำน้ำมันหอมระเหยมาใช้ในการเยียวยาอาการไมเกรนมีดังนี้ค่ะ

  • นวดน้ำมันหอมระเหย ลองหาน้ำมันหอมระเหย (Essential Oil) อย่าง เปปเปอร์มินต์ (peppermint) ที่มีสรรพคุณช่วยทำให้กระปรี้กระเปร่า และลาเวนเดอร์ (lavender) ที่ช่วยคลายกังวล ลดความเครียด และอาการซึมเศร้า ติดบ้านไว้บ้าง เมื่อรู้ตัวว่าจะเป็นไมเกรน หรือมีอาการปวด ให้ผสมน้ำมันหอมทั้งสองชนิดนี้อย่างละ 1 หยด ผสมกับน้ำมันอัลมอนด์หอม (sweet almond) 2 ช้อนชา นวดบริเวณขมับและต้นคอเบาๆ
  • ประคบด้วยน้ำมันหอม ช่วงที่รู้สึกว่ามีอาการเครียดจัดต่อเนื่อง ให้ใช้น้ำมันหอมระเหยลาเวนเดอร์หรือมาร์จอแรม (marjoram) ประมาณ 2-3 หยด ผสมน้ำ จุ่มผ้าบิดหมาดๆ นำมาประคบบริเวณขมับและหน้าผากทุกวัน

นอกจากการประคบด้วยน้ำมันหอมระเหยแล้วการประคบโดยใช้อุณหภูมิของน้ำที่แตกต่างกันก็ช่วยให้อาการปวดศีรษะทุเลาเบาบางลงได้ (น้ำมันหอมระเหยหาซื้อได้จากห้างสรรพสินค้าทั่วไปและร้านขายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ)

ยังมีอีก 3 วิธีที่ทำได้เองที่บ้าน…
อ่านต่อ หน้าถัดไป ค่า ^^

ประคบร้อน-ประคบเย็น บรรเทาอาการ

  • วิธีที่ 1 ประคบเย็นที่หน้าผากหรือคอ ถ้าอาการไม่บรรเทา ให้ประคบร้อนและเย็นพร้อมกัน โดยประคบเย็นที่หน้าผากและประคบร้อนที่ท้ายทอย ประคบสลับที่กันทุก 2 นาที ทำได้ถึง 6 รอบ
  • วิธีที่ 2 ใช้ผ้าอุ่นจัดวางที่ท้ายทอย แล้วนวดคอ ไหล่ และสะบัก แล้วใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นคลึงเบาๆที่ขมับ จากนั้นใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดหน้า วิธีนี้ช่วยลดอาการปวดไมเกรนเนื่องจากความเครียด

นอกจากการประคบแล้วยังมีการนวดกดจุดที่ช่วยบรรเทาอาการได้เช่นกัน

ปวดไมเกรน

คลายปวดกับนวดกดจุด

การกดจุดเพื่อบรรเทาอาการไมเกรนมีอยู่ 3 จุดด้วยกัน คือ

  • มือ ให้กดตรงเนินเนื้อที่เชื่อมระหว่างหัวแม่มือและนิ้วชี้ในแนวตรงสู่กระดูกนิ้วหัวแม่มือ
  • คอด้านบน ให้กดย้อนขึ้นไปทางใต้กะโหลกศีรษะข้างๆ กระดูกคอ
  • เท้า กดที่เนินเนื้อที่เชื่อมต่อหัวแม่เท้ากับนิ้วชี้ กดไปทางฝ่าเท้า

ท้ายสุดขอแถมด้วยชาสมุนไพรคลายอาการปวดให้ครบเครื่องเรื่องการเยียวยาไมเกรนกันไปเลยค่ะ

ชาสมุนไพร

ชาสมุนไพรแก้ปวด

  • ใช้รากบวบกลม หรือบวบเหลี่ยมสด หนัก 1 ขีด ต้มน้ำใส่เกลือเล็กน้อย ดื่มเป็นน้ำชา
  • น้ำขิงจากเหง้าขิงแก่ และน้ำต้มจากต้นกะเพราแดงอาจช่วยลดอาการคลื่นไส้ที่มักเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะได้
  • ใช้ผล ต้น ใบ ดอก และรากของมะตูมนิ่มมาต้มรับประทานช่วยแก้ปวดศีรษะ ตาลาย

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.