ใจสั่น, โรคหัวใจ, อาการใจสั่น, heart shake, แก้อาการใจสั่น, ระงับอาการใจสั่น

4 วิธีระงับอาการ ใจสั่น !

ระงับอาการ ใจสั่น

ใจสั่น (heart shake) ที่เราจะกล่าวถึงนี้คือ อาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ช้าบ้าง เร็วบ้าง หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เช่น มากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะอยู่เฉยๆ

อาการแบบไหนเรียก ใจสั่น ?

ใจสั่น ในที่นี้ไม่ใช่แบบเดียวกับที่เวลาเจอคนถูกตาต้องใจแล้วใจตุ้มๆ ต่อมๆ หรอกนะคะ (ฮา) แต่ อาการใจสั่น (heart shake) ที่เราจะกล่าวถึงนี้คือ อาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ ช้าบ้าง เร็วบ้าง หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ เช่น มากกว่า 120 ครั้งต่อนาทีในขณะอยู่เฉยๆ หรือที่บางคนมักจะพูดว่า “ใจหวิวๆ” นั่นแหละ อาการใจสั่นสามารถเกิดกับคนปกติทั่วไป ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อยในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากโรคหัวใจคือ ออกกำลังกายหนักเกินไป ความกลัว ความวิตกกังวล และการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาลดความอ้วน ยาสเตียรอยด์ หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ

อาการที่มักเกิดร่วมกับอาการใจสั่นคือ ปวดหัวบ่อย อาหารไม่ย่อย ท้องเสีย นอนไม่หลับ กล้ามเนื้อเกร็งตัว เวียนหัวและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ในบางรายรู้สึกเบื่ออาหาร ปากแห้ง เหงื่อออก หายใจไม่ออก และอ่อนเพลีย วิธีสังเกตตัวเองอย่างง่าย ว่าอาการใจสั่นที่คุณกำลังเป็นอยู่นั้นผิดปกติหรือไม่คือ ลองจับชีพจรดู หากชีพจรยังเต้นสม่ำเสมอในอัตราใกล้เคียงกับ 60-100 ครั้งต่อนาที แสดงว่าอาการใจสั่นอาจไม่ได้เกิดจากระบบการทำงานของหัวใจ แต่อาจเกิดจากความเครียด และปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่น การดื่มเหล้า หรือกาแฟ ถ้าปรับเปลี่ยนนิสัยบางอย่างได้ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น

นอกจากนี้อาการใจสั่นอาจเกิดจากโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อการทำงานของหัวใจโดยตรง เช่น ความดันโลหิตสูง โรคปอดเรื้อรัง และไทรอยด์เป็นพิษ โดยทั่วไปอาการจะค่อยๆ หายไปเอง เมื่อสภาพจิตใจกลับมาอยู่ในภาวะปกติ แต่สำหรับอาการใจสั่นร้ายแรงที่เป็นผลพวงมาจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคลิ้นหัวใจพิการ โรคกล้ามเนื้อหัวใจ หรือระบบไฟฟ้าในหัวใจผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้ละเอียด และรับการรักษาต่อไป

ความเครียด, ใจสั่น, หัวใจ, โรคหัวใจ, heart shake, อาการหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ, หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
ความเครียด วิตกกังวล เป็นสาเหตุหนึ่งของอาการใจสั่น

1. ปรับพฤติกรรมระงับอาการใจสั่น
    
สำหรับใครที่มีปัญหาอาการใจสั่น เรามีวิธีปรับพฤติกรรมประจำวันเพื่อคลายอาการดังกล่าวมาฝากค่ะ

  1. ควบคุมอาหาร โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ และน้ำอัดลม รวมถึงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพราะจะกระตุ้นให้เกิดอาการใจสั่น
  2. ฝึกควบคุมการหายใจเป็นประจำ อาจจะเล่นโยคะหรือไท้เก๊ก เพราะจะช่วยให้เกิดความสงบ โดยจะทำให้เกิดความสมดุลระหว่างกายและใจ ที่สำคัญทำให้เกิดสมาธิ
  3. หลีกเลี่ยงจากสภาพแวดล้อมที่ทำให้เกิดความเครียด และพยายามคิดบวก หรือฟังดนตรีเบาๆสบายๆ หรือเพลงที่เคยฟังในช่วงเวลาที่มีความสุข เมื่อรู้สึกผ่อนคลายแล้ว อาการจะค่อยๆดีขึ้น
  4. พยายามนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างที่ชาวชีวจิตเรียกว่า “หลับลึก” ด้วยการนอนสมาธิ จะช่วยลดอาการได้
  5. จัดตารางเวลาให้ตัวเอง ควรทำงาน กินอาหาร และพักผ่อนให้เป็นกิจวัตรประจำวัน ควรจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ทำในปัจจุบัน อย่าฝังใจในอดีต และอย่ากังวลกับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง

 

2. ออกกำลังกายแก้อาการใจสั่น
     การออกกำลังกายของคนที่มีปัญหา ใจสั่น บ่อยๆ ควรเป็นลักษณะเบาๆ ไม่ต้องแข่งขัน เช่น รำกระบอง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน และการเดิน ทำสวน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ช่วยให้รู้สึกสดชื่น หรือจะทำตามวิธีดังต่อไปนี้ก็ตามสบายค่ะ

  1. ท่าย่อเข่า ขณะที่ทำควรหาที่เกาะ หรือใช้มือทั้งสองข้างแตะข้างฝาก็ได้ จากนั้นย่อเข่าลงช้าๆ แล้วค่อยๆยืนขึ้นจนเข่าตรง ในลักษณะยืนเท้าชิด ทำซ้ำ
  2. ท่ายกขา ยืนตรงขาชิดกัน จากนั้นยกขาข้างใดข้างหนึ่งขึ้นด้านข้างลำตัว ขนานกับพื้น นับ 1-5 ในใจ ทำช้าๆ และค่อยๆลดลง กลับมายืนตรง ทำสลับข้าง
  3. ท่านอนหงาย วางแขนส่วนข้อศอกจนถึงต้นแขนราบกับพื้น ยกข้อศอกขึ้นตั้งฉากกับลำตัว ยกขาทั้งสองข้างขึ้นพร้อมกันจนตั้งฉาก ค่อยๆลดลง ทำซ้ำ
  4. ท่างอตัว เริ่มด้วยการนั่งกับพื้น เหยียดขาตรงไปข้างหน้า ยกแขนทั้งสองข้างเหนือศีรษะแล้วค่อยๆก้มตัวและเหยียดแขนไปข้างหน้าให้สุด พยายามให้ปลายนิ้วมือแตะปลายนิ้วเท้า นับ 1-10 ทำซ้ำ
  5. ท่านั่งขัดสมาธิ นั่งตัวตรง ให้ปลายนิ้วมือทั้ง 5 นิ้วเกี่ยวกันไว้ หายใจเข้าช้าๆ พร้อมทั้งยกขึ้นระดับอก ระหว่างยกมือขึ้นให้มือทั้งสองออกแรงดึงกัน แล้วค่อยๆหายใจออก ผ่อนมือลง ทำซ้ำ

 

 

 

<< อ่านต่อหน้าที่ 2 >>

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.