ปวดไมเกรน, แก้ปวดไมเกรน, ไม่เกรน, ปวดศีรษะ, ปวดหัว

ตัดชนวน ปวดไมเกรน ก่อนกำเริบ

ตัดชนวน ปวดไมเกรน ก่อนกำเริบ

 

ปวดไมเกรน ถูกยกให้เป็นที่สุดของอาการปวดศีรษะ เพราะกำเริบขึ้นมาแต่ละครั้ง หากเป็นมากๆ ก็ทุรนทุรายจนไม่เป็นอันทำอะไร

ที่สำคัญ อาการที่มาเยี่ยมเยือนอย่างไม่มีปี่มีขลุ่ยยังคงเป็นปริศนาคาใจผู้ป่วยที่ไม่รู้จะรับมือกันอย่างไร…บ้างก็ว่าทำได้เพียงเยียวยาตัวเองหลังอาการทรมานผ่านไปแล้วเพราะไม่มีวิธีป้องกัน

แต่เราพบว่า…ตัวกระตุ้นไมเกรน (Migraine Triggers) เกิดจากอาหารการกิน การเปลี่ยนแปลงกิจวัตรประจำวัน และสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวเรานี่เอง และข่าวดีก็คือ ตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรนหลายอย่างป้องกันได้

ชีวจิตจึงนำเสนอวิธีสู้กับไมเกรนอย่างครบกระบวน เริ่มด้วย Basic Causes นำเสนอข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับตัวกระตุ้นไมเกรนที่ซ่อนอยู่ในการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อด้วย Advanced Causes นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเพื่อการเยียวยาและรับมือในระยะยาว เพื่อให้พร้อมรับปีใหม่ที่สดใสกว่าเดิมไปด้วยกันค่ะ

 

คุณรู้จักตัวกระตุ้นไมเกรนเฉียบพลันหรือยัง

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อค่ะว่า ตัวกระตุ้นที่ทำให้ปวดศีรษะเหมือนจะแตกเป็นเสี่ยงๆ นั้นมีอยู่จริง หลายคนคงรู้แล้ว แต่เชื่อว่าหลายคนยังไม่รู้ว่าสาเหตุเหล่านี้มักแฝงอยู่ในสิ่งแวดล้อมรอบตัว กระทั่งอารมณ์ความรู้สึกที่ไม่สมดุลตลอดจนกิจวัตรประจำวันที่หลุดกรอบแนวทางสุขภาพ โดยเฉพาะคนที่เริ่มหรือมีทีท่าจะเริ่มดูแลสุขภาพอย่างจริงจัง ทำให้จับไม่ได้ไล่ไม่ทันไมเกรนเสียที จึงไม่รู้ว่าจะป้องกันกันอย่างไร

วันนี้เราพาตัวการทั้งหลายมาให้รู้จักและทำความเข้าใจ พร้อมแนะนำวิธีป้องกันเพื่อตัดไฟเสียแต่ต้นลมค่ะ

 

ซึมเศร้า เครียด

ความเครียดเป็นจำเลยที่ 1 ที่มักถูกกล่าวหาว่าทำให้ป่วยเป็นไมเกรนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะสังคมที่บีบคั้นเช่นปัจจุบัน

การค้นคว้าทางคลินิกบ่งชี้ว่า สามารถเชื่อมโยงความเครียดกับไมเกรนได้อย่างชัดเจน อาจเป็นไปได้ว่า ความเครียดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีววิทยาและฮอร์โมนในร่างกาย

นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า อาการไมเกรนมักเกิดหลังจากภาวะ Let Down หรือการตอบสนองต่อการผ่อนคลายจากความเครียด เช่น หลังจากเครียดถึงขีดสุด ร้องไห้ฟูมฟาย หรือวิตกกังวลอย่างหนัก

ซ้ำร้าย หลายคนเมื่อรู้ว่าไมเกรนกลายเป็นโรคประจำตัวของตัวเองเสียแล้ว กลับเกิดความเครียดขึ้นมาอีก ทำให้อาการไมเกรนกำเริบเป็นเหมือนปัญหางูกินหางไม่จบสิ้น

ฟังเพลง, ผ่อนคลายความเครียด, แก้ปวดไมเกรน, ปวดไมเกรน, ไม่เกรน
ฟังเพลงบรรเลงที่มีเสียงธรรมชาติ ช่วยผ่อนคลายความเครียด

Solution: ฟังเพลง ทำสมาธิ ช่วยผ่อนคลาย

วิธีการที่ดีที่สุดทางหนึ่งในการลดความเครียด แนะนำให้ฟังเพลงบรรเลงที่มีเสียงธรรมชาติ เช่น เสียงคลื่นในทะเล เพลงเบาๆ ที่ให้อารมณ์สนุกสนานผ่อนคลายเหมือนกำลังเดินทางท่องเที่ยว เพลงที่ช่วยให้คิดถึงช่วงเวลาอันสุขสงบ

นอกจากนี้อาจฝึกทำสมาธิง่ายๆ เช่น การนั่งสมาธิด้วยวิธีอานาปานสติหรือการกำหนดลมหายใจเข้า – ออกอย่างมีสติ การเดินจงกรม หรือฝึกโยคะท่าง่ายๆ ก็ช่วยให้ได้ฝึกเรื่องสมาธิและสุขภาพโดยรวมให้ดีขึ้นได้เช่นกัน

 

อดนอน นอนมากเกินไป ไมเกรนถามหา

จากรายงานของ National Headache Foundation ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วย ไมเกรนมีปัญหาการนอน ซึ่งเป็นเหมือนตัวการชักศึกเข้าบ้านให้ไมเกรนเข้าโจมตีได้ ปัญหาการนอนหลักๆ มีดังนี้

การนอนไม่พอ ไม่ว่าจะเป็นการนอนดึกทุกวันหรือเฉพาะในช่วงวันหยุด ล้วนเป็นปัญหาของผู้ป่วยไมเกรนเป็นจำนวนมาก มีรายงานพบว่า ผู้ป่วยที่นอนวันละ 6 ชั่วโมงหรือน้อยกว่าจะมีอาการปวดศีรษะบ่อยหรือปวดรุนแรงกว่าปกติ อย่างไรก็ตาม การนอนมากเกินไปก็ทำให้เกิดอาการไมเกรนได้เช่นกัน

นอกจากนี้ การนอนที่ไม่มีคุณภาพ เช่น ช่วงมีรอบเดือนของผู้หญิงที่ทำให้หลับไม่สนิท อาการหวัดหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจซึ่งทำให้นอนได้น้อยกว่าปกติ ปัญหาด้านอารมณ์ความรู้สึก เช่น ปัญหาเรื่องงานหรือเครียดสะสมจนฝันร้าย ล้วนทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถหลับลึกได้

ดังนั้นอาจจะสรุปได้ว่า พฤติกรรมการนอนไม่สมดุลอาจมีแนวโน้มให้อาการไมเกรนกำเริบได้

นอนหลับ, ผ่อนคลายความเครียด, แก้ปวดไมเกรน, ปวดไมเกรน, ไม่เกรน
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย แก้ปวดไมเกรนได้

Solution: ปรับแพตเทิร์นการนอนใหม่

การนอนเป็นยาที่ดีที่สุดอย่างหนึ่งในการเยียวยาและป้องกันไมเกรน เชื่อไหมคะว่า การนอนหลับสนิทเพียงหนึ่งชั่วโมงสามารถบรรเทาอาการไมเกรนให้เบาบางลงได้อย่างอัศจรรย์

แนะนำให้จัดตารางการนอนใหม่ โดยกำหนดเวลาเข้านอนว่าจะนอนกี่ชั่วโมงจึงจะเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย หากนอนหลับยาก ลองอาบน้ำอุ่นก่อนนอน เปิดเพลงฟังสบาย ใช้ที่ปิดตาที่ทำแบบถุงเจล ฝึกคลายเครียดคลายเกร็งแบบชีวจิตวิธีการดังกล่าวพบว่าผู้ป่วยไมเกรนใช้ได้ผลมาแล้ว

อย่าลืมจัดห้องนอนให้เป็นห้องที่ให้ความรู้สึกสบายและผ่อนคลายด้วย

อ่านต่อหน้าที่ 2

 

มันมากับลมฟ้าอากาศ

สำหรับประเทศไทย ฤดูร้อนดูจะแสลงกับอาการไมเกรนมากที่สุด เนื่องจากฤดูนี้มีแสงแดดจ้า อากาศร้อนจัด แถมช่วงเวลากลางวันยังยาวนานกว่ากลางคืนทำให้เวลาการนอนผิดเพี้ยนไป ดังมีการวิจัยรายงานว่าผู้ป่วยไมเกรนมักมีอาการนอนไม่หลับในฤดูร้อน นอกจากนี้มักมีอาการขาดน้ำได้ง่าย ซึ่งเป็นอีกตัวการหนึ่งที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดไมเกรน ในทางกลับกัน บางคนก็มีอาการไมเกรนในฤดูหนาว

Solution: รับมือไมเกรนเมื่อลมฟ้าอากาศเปลี่ยนแปลง

ทำให้สิ่งแวดล้อมของบ้านและที่ทำงานเย็นสบายที่สุดหากออกไปนอกบ้านต้องพกร่มหรือมีพัดลมเล็กๆ ไว้ในมือเพื่อสร้างความเย็นสดชื่นตลอดเวลา

ในฤดูร้อนควรมีขวดน้ำดื่มติดมือให้ได้จิบน้ำอยู่เสมอเมื่อออกนอกบ้าน แต่ระวังอย่าเป็นเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรน ส่วนในหน้าหนาวควรทำร่างกายและศีรษะให้อบอุ่นอยู่เสมอ

 

แสง สี เสียง กลิ่น ตัวกระตุ้นไมเกรนเฉียบพลัน

ตัวกระตุ้นจากแสง สี อาการไมเกรนกำเริบได้เพราะแสงสว่าง เช่น แสงจากหลอดไฟที่สว่างเกินไป แสงจากหลอดฟลูออเรสเซนต์รวมไปถึงพวกหลอดประหยัดไฟ แสงกะพริบหรือแสงที่จ้าเกินไปจากจอคอมพิวเตอร์ สีสันที่ตัดกัน เช่น สีขาว – ดำ และลวดลายบางอย่าง เช่น ลายตาหมากรุก

ตัวกระตุ้นจากเสียง เสียงดังหรือเสียงที่รบกวนอยู่ตลอดเวลาอาจมีผลกับผู้ป่วยบางราย เพราะบางคนไมเกรนจะกำเริบได้เมื่ออยู่ท่ามกลางเสียงดังหรือเสียงที่มีความถี่สูง ดังนั้นเมื่อเกิดอาการไมเกรนกำเริบควรอยู่ในที่เงียบๆ อาการจะดีขึ้น

ตัวกระตุ้นจากกลิ่น ผู้ป่วยไมเกรนบางคนแพ้กลิ่นบางกลิ่น เช่นกลิ่นน้ำหอม กลิ่นเทียนหอม จนถึงควันจากสารเคมี ควันบุหรี่มือสอง มลพิษ ควันจากท่อไอเสีย มีรายงานว่า กลิ่นฉุนทุกชนิดเป็นกลิ่นที่กระตุ้นให้เกิดไมเกรนมากที่สุด

Solution: ลดวอลุ่มของแสง สี เสียง กลิ่น ช่วยได้

ลองเปลี่ยนเป็นหลอดไฟแรงวัตต์น้อยลงที่เรียกว่า Soft Light และติดตั้งหลอดไฟไม่ให้แสงไฟเข้าตาโดยตรง มีแว่นกันแดดไว้ในรถ บ้าน ที่ทำงานเสมอ ปรับแสงจอคอมพิวเตอร์ไม่ให้จ้าเกินไปและไม่จ้องมองที่ที่มีสีจัดเกินไป

จะดีมากหากจะจัดมุมหนึ่งในบ้านให้ร่มรื่น แสงไม่จ้ามากเงียบสงบ ปราศจากกลิ่น เอาไว้เป็นที่สำหรับพักฟื้นเวลามีอาการและหลีกเลี่ยงที่ที่มีกลิ่นหรือควันพิษ

การเดินทาง, ปวดไมเกรน, แก้ปวดไมเกรน, ไม่เกรน, ปวดศีรษะ
การเดินทาง เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดไมเกรนได้

การเดินทางทำปวดศีรษะ

สำหรับคนที่เป็นไมเกรน การเดินทางไปต่างที่ต่างถิ่นซึ่งทำให้กิจวัตรประจำวันต้องเปลี่ยนไป เช่น ตารางเวลาในการทำสิ่งต่างๆ ไม่เหมือนเดิม รับประทานอาหารไม่ตรงเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ขณะเดินทางร่างกายมักเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว

นอกจากนี้การเดินทางทุกประเภทยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเมารถ เมาเรือ หรือเมาเครื่องบิน ซึ่งอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่กระตุ้นให้อาการไมเกรนปะทุขึ้นมาอีก

Solution: วางแผนก่อนเดินทาง

วางแผนการเดินทาง โดยเตรียมอาหารและน้ำไปกินระหว่างทางเพื่อให้กินอาหารได้ตรงเวลาหากเดินทางด้วยรถไฟ รถเมล์ประจำทาง รถยนต์ส่วนตัวแนะนำให้นั่งข้างหน้าแล้วมองตรงไป จะช่วยลดอาการเมารถได้ หรือขับรถเอง เพราะการจดจ่ออยู่กับเส้นทางจะทำให้ไม่มีอาการเมารถ

หากต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ให้เลือกที่นั่งติดหน้าต่างและอยู่ส่วนหน้าของเครื่องบิน เพราะเป็นบริเวณที่เสียงไม่ค่อยดังหากเดินทางทางเรือ ให้เลือกที่นั่งในห้องโดยสารด้านล่าง บริเวณกลางลำเรือ เพราะบริเวณนี้จะนั่งแล้วไม่โคลงเคลง จึงช่วยลดอาการเมาเรือลงได้ นอกจากนี้ควรหาโอกาสขึ้นไปนั่งชมวิวบนชั้นดาดฟ้าเรือบ้าง เพราะการได้ชมวิวท้องฟ้าตัดกับทะเลสามารถช่วยให้ร่างกายปรับสภาพเข้ากับการแล่นของเรือได้

อ่านต่อหน้าที่ 3

 

Advanced Causes

ไม่ทำไม่ได้แล้ว! ถ้าอยากหายจากไมเกรน

เมื่อรู้จักการรับมือกับตัวกระตุ้นกันแล้ว ต่อไปขอชวนคุณผู้อ่านที่ป่วยเป็นไมเกรนมาขุดรากถอนโคนไมเกรนไปพร้อมๆ กัน เรามาทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุที่แท้จริงไปพร้อมกัน และขอให้มีกำลังใจเดินหน้าปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รับรองว่าหายชัวร์ค่ะ

อาหาร ตัวการใหญ่

อาหารการกินเป็นตัวการใหญ่ ซึ่งมีอิทธิพลกำหนดชะตากรรมว่า อาการปวดศีรษะเจ้ากรรมจะอยู่กับเราตลอดชีวิตหรือไม่ จะหมู่หรือจ่าอยู่ที่อาหารการกินของเรานี่เองค่ะ

อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง อธิบายความสัมพันธ์ของอาหารที่ทำให้เกิดอาการไมเกรนว่า ในด้านวิชาการวิทยาศาสตร์ทางอาหารขั้นสูงสุด คือ Clinical Nutrition หรือการรักษาโรคด้วยอาหารนั้น มีการศึกษาด้านชีวเคมีเกี่ยวกับอาหาร และได้พบว่า การกินอาหารผิดๆ ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่าง รวมถึงไมเกรน

รายงานจาก Adrenal Metabolic Research Society จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า ผู้ที่แพ้อาหารและมีอาการปวดศีรษะไมเกรนมักเป็นเพราะกินอาหารประเภทเนยแข็ง เค้ก ไอศกรีม และช็อกโกแลตมากเกินไป โดยเริ่มต้นจะป่วยด้วยโรคไฮโปไกลซีเมีย (Hypoglycemia) หรือ “น้ำตาลในเลือดต่ำ” ก่อน แล้วต่อจากนั้น จะตามมาด้วยอาการปวดศีรษะไมเกรน

สำหรับคนไทยมากมายซึ่งป่วยเป็นไมเกรนพบว่ามีสาเหตุเช่นเดียวกับฝรั่ง คือ กินอาหารหวานและติดอาหารหวาน การกินหวานหรือน้ำตาลขาวมากเกินไป แป้งขาวมากเกินไป ทำให้เกิดโรคไฮโปไกลซีเมียหรือน้ำตาลในเลือดต่ำ และน้ำตาลในเลือดต่ำเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งของอาการไมเกรน

เมื่อแนะนำผู้ป่วยไมเกรนให้เปลี่ยนอาหาร งดน้ำตาลขัดขาวแป้งขาว และเลิกกินของหวาน ปรากฏว่าผู้ป่วยหลายคนหายจากอาการไมเกรนได้

กินอาหารกระตุ้นไม่เกรน, ปวดไมเกรน, ไมเกรน, แก้ปวดไมเกรน
อาหารบางชนิด เมื่อกินไปแล้วทำให้อาการไมเกรนกำเริบ

Solution: ปรับอาหารเยียวยาไมเกรน

Step 1 : ถอดสลักอาหารแสลงไมเกรน

เมื่อเข้าใจกันดีแล้วว่า อาหารเป็นตัวการใหญ่จริงๆที่ทำให้ป่วยเป็นไมเกรน ก็ได้เวลาล้างบางพฤติกรรมการกินอาหารผิดๆ ของตัวเอง เริ่มจากการงดอาหารที่ทำให้อาการไมเกรนกำเริบกันก่อน และต่อไปนี้คืออาหารและเครื่องดื่มที่ผู้ป่วยไมเกรนควรหลีกเลี่ยงค่ะ

  • อาหารกระตุ้นไมเกรน อาหารกลุ่มนี้ได้แก่ โกโก้ มะกอก ของดอง ถั่วเปลือกแข็ง ซอสเทอริยากิ โยเกิร์ต ผลไม้ตระกูลส้ม กล้วย อะโวคาโด ผักโขม ขนมปังที่ใช้ยีสต์ และขนมเบเกอรี่ต่างๆ
  • เครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต่อการทำงานของประสาทส่วนกลาง จึงสามารถทำให้เกิดอาการไมเกรนในบางคนได้ นอกจากนี้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีสารฮิสตามีนและสารไทรามีนเป็นส่วนผสมอยู่ด้วย เช่น ไวน์แดง เบียร์ และแชมเปญ ก็กระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
  • เครื่องดื่มผสมกาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนมีผลกระตุ้นการทำงานของประสาทส่วนกลาง หากเครื่องดื่มนั้นมีปริมาณกาเฟอีนสูงจะกระตุ้นให้เกิดไมเกรนคนส่วนใหญ่คิดว่ากาเฟอีนมีอยู่ในกาแฟ ชา และน้ำอัดลมเท่านั้น แต่ความจริงแล้วต้องระวังกาเฟอีนซ่อนรูป ซึ่งอยู่ในเครื่องดื่มบำรุงกำลัง เครื่องดื่มผสมวิตามินต่างๆ ตลอดจนอาหารที่มีรสกาแฟด้วย
  • แอสปาร์แตม (Aspartame) แอสปาร์แตมเป็นสารให้ความหวานแทนน้ำตาล มักเป็นส่วนผสมอยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่โฆษณาว่า Sugar Free, Diet และ Low Calorie การศึกษาพบว่า แอสปาร์แตมลดระดับฮอร์โมนซีโรโทนิน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดไมเกรนได้
  • โมโนโซเดียมกลูตาเมต (Monosodium Glutamate) หรือที่เรารู้จักกันในนามของผงชูรส เป็นเครื่องปรุงที่มีอยู่ในอาหารมากมาย โดยเฉพาะซอส พาร์มีซานชีส เฟรนช์ฟราย แฮมเบอร์เกอร์ บาร์บีคิว ตลอดจนอาหารจากร้านอาหารนอกบ้าน และอาหารที่ปรุงกันสดๆ จากหาบเร่แผงลอยข้างทางก็มักใส่ผงชูรสมากตราบใดที่ไม่ได้ทำอาหารเอง อย่าลืมบอกคนขายว่าไม่ใส่ผงชูรส
  • โซเดียมไนไตรท์ (Sodium Nitrite) เป็นสารปรุงแต่งอาหารที่มีอยู่ในไส้กรอก ฮ็อตด็อก เนื้อกระป๋อง และในเนื้อสัตว์รมควัน
  • สีผสมอาหาร FD&C Yellow#5 (Tartrazine) เป็นสารที่ให้สีเหลืองและสีอื่นๆ สีนี้จึงใช้ผสมในอาหารหลายชนิด เช่น เครื่องดื่ม ลูกอม

อ่านต่อหน้าที่ 4

ข้าวกล้อง, แก้ปวดไม่เกรน, ปวดไมเกรน, ปวดหัวไมเกรน, ปวดศีรษะ
กินข้าวกล้อง อาหารสุขภาพ แก้ปวดไมเกรน

Step 2 : พิชิตไมเกรนด้วยอาหารฉบับกูรูชีวจิต

โบราณท่านสอนไว้ว่า บางคราเราต้องแก้ปัญหาด้วยวิธีการหนามยอกต้องเอาหนามบ่ง เมื่อไมเกรนเกิดจากพฤติกรรมการกินผิดๆ การแก้ไมเกรนด้วยการกินอาหารที่ถูกต้องคงตอบโจทย์ได้ดีที่สุดค่ะ

อาจารย์สาทิสแนะนำให้ปรับเปลี่ยนอาหารดังนี้

  1. งดน้ำตาลขาวและแป้งขาวต่างๆ โดยเด็ดขาด
  2. ถ้าติดอาหารประเภทเนื้อสัตว์ ให้งดเนื้อสัตว์ นม ไข่ ชั่วคราว แล้วกินอาหารมังสวิรัติหรืออาหารเจชั่วคราวก็ได้ ถ้าใช้อาหารเจควรงดอาหารประเภทเนื้อสัตว์เทียมหรือหมี่กึง หรือกลูเทนด้วย เพราะหลายคนแพ้อาหารกลุ่มนี้และย่อยไม่ได้ จึงทำให้เกิดท็อกซินทำให้ปวดศีรษะมากขึ้นไปอีก
  1. ใช้สูตรอาหารชีวจิต โดยงดเว้นเนื้อสัตว์ในช่วงสองสัปดาห์แรก หลังจากนั้นสามารถกินเนื้อปลาเพิ่มได้สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง
  2. งดกาแฟและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
  3. กินวิตามินเสริมดังนี้
  • วิตามินบีคอมเพล็กซ์ 100 มิลลิกรัม 1 เวลา (เช้า)
  • วิตามินบี 3 หรือไนอะซินาไมด์ 100 มิลลิกรัม 3 เวลา หลังอาหาร
  • โดโลไมต์ (แคลเซียมและแมกนีเซียม) 1 เม็ดหลังอาหาร (เช้า – เย็น)

 

ฮอร์โมนเปลี่ยนแปลง สาเหตุไมเกรนในผู้หญิง

ชนวนไมเกรนอีกอย่างหนึ่งที่ผู้ป่วยไมเกรนต้องรู้โดยเฉพาะคุณผู้หญิง นั่นคือเรื่องฮอร์โมนของเรานี่เองการวิจัยพบว่าไมเกรนกับรอบเดือนมีความสัมพันธ์กัน กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ของผู้หญิงที่มีอาการไมเกรน

เชื่อว่าเกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในช่วงที่มีประจำเดือนเป็นตัวกระตุ้นหลัก

การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเอสโทรเจน มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงระดับสารสื่อประสาทที่ชื่อว่าซีโรโทนินซึ่งสัมพันธ์กับการเกิดไมเกรน ดังมีการศึกษาพบว่าการลดลงของฮอร์โมนเอสโทรเจนอย่างทันทีทันใดกระตุ้นให้เกิดไมเกรนเร็วขึ้น ในทางกลับกัน เมื่อระดับเอสโทรเจนเพิ่มขึ้นหรืออยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ป่วยมักมีอาการไมเกรนระหว่างรอบเดือนน้อยลง

อย่างไรก็ตาม คนที่มีอาการไมเกรนระหว่างมีรอบเดือนนั้นมักเตรียมรับมือกับอาการของตัวเองได้ดีกว่า เช่น ระวังรักษาสุขภาพให้แข็งแรงก่อนอาการจะโจมตี

Solution: สังเกตอาการเพื่อรับมือไมเกรนช่วงมีประจำเดือน

สาวๆ หลายคนมักมีอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นอาการข้างเคียงของการมีประจำเดือนหรือเป็นอาการของไมเกรนกันแน่ เพื่อการดูแลตัวเองที่ถูกต้องและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้นไมเกรนได้ทันท่วงที เรามาเช็กอาการกันค่ะ

ข้อมูลจาก International Headache Society (IHS) ประเทศสหรัฐอเมริกา รายงานอาการไมเกรนที่เกี่ยวกับรอบเดือนไว้ว่ามีอาการดังนี้

  • รู้สึกปวดศีรษะใน 2 – 3 วันแรกของการมีรอบเดือน
  • อาการปวดศีรษะจะเป็นอยู่นานตั้งแต่ 4 – 72 ชั่วโมง
  • อาการปวดศีรษะอาจรู้สึกปวดศีรษะข้างใดข้างหนึ่ง (อาจเป็นบริเวณศีรษะหรือใบหน้า)
  • ปวดศีรษะแบบปวดตุบๆ และค่อยๆ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ
  • ขณะปวดศีรษะจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน
  • อาจมีอาการกำเริบเมื่ออยู่ท่ามกลางแสงจ้าหรือในที่ที่มีเสียงดัง

สำหรับผู้หญิงเรา การป่วยเป็นไมเกรนมักจะสัมพันธ์กับรอบเดือนดังนั้นเมื่อภาวะหมดประจำเดือนมาถึง ความถี่ของการเกิดอาการไมเกรนก็จะลดลงด้วย

เมื่อสาเหตุไมเกรนมาจากทั่วสารทิศ การดูแลรอบด้านอย่างจริงจังจึงจะเอาชนะได้ และสุขภาพจะดีได้ต้องดูแลแบบองค์รวม รู้สาเหตุล่วงหน้าก่อนแล้ว ก็ต้องเตรียมตัวเองให้แข็งแรงสมบูรณ์เสมอ

ทำได้อย่างนี้ ไมเกรนอาจจะแวะเวียนมาแบบนานทีปีหน หรืออาจโบกมือลาตลอดชีวิตก็เป็นได้ค่ะ

จาก คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 318 (1 มกราคม 2555)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

2 ท่าบริหาร กำราบ โรคไมเกรน

ปวดแบบนี้…ไซนัสหรือไมเกรน

4 ยาดี หยุดไมเกรนชะงัด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.