มอเตอร์ไซค์จิตอาสา

มอเตอร์ไซค์จิตอาสา ชีวิตนี้ขอทำดีเพื่อพ่อหลวง

มอเตอร์ไซค์จิตอาสา ชีวิตนี้ขอทำดีเพื่อพ่อหลวง

 

ชีวจิต ชวนคุณมาพูดคุยกับ “กลุ่ม มอเตอร์ไซค์จิตอาสา” ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำเพื่อบริการรับ – ส่งผู้คนที่มาร่วมถวายสักการะพระบรมศพบริเวณรอบสนามหลวงและพื้นที่ใกล้เคียง หัวใจของพวกเขาน่านับถืออย่างยิ่ง ไม่เชื่อลองอ่านเรื่องราวของพวกเขาพร้อมกันนะคะ

 

เริ่มต้นจาก คุณเบลล์ – ชัยพร หงส์ศิลา อายุ 47 ปี ปัจจุบันมีแผงรับร้อยและขายปลีกสร้อยลูกปัดอยู่ที่ซอยละลายทรัพย์ในเขตสาทรคุณเบลล์เล่าว่า เริ่มต้นงานจิตอาสามาตั้งแต่วันแรกหลังเหตุการณ์ที่ช็อกหัวใจคนไทย

“การมาทำงานตรงนี้เริ่มจากวันที่ 14 ตุลาคม 2559 ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มาร่วมส่งเสด็จพระองค์ท่านบริเวณสนามหลวง แล้วก็พบว่ามอเตอร์ไซค์รับจ้างแถวนั้นเรียกค่าจ้างแพงกว่า ปกติประมาณ 3 – 4 เท่า เห็นแล้วสะเทือนใจครับรู้สึกว่าในความโศกเศร้าอย่างนี้ คนไทยควรมีน้ำใจต่อกัน วันรุ่งขึ้นผมก็เอามอเตอร์ไซค์มาบริการฟรีเลย และพบว่ามีคนนำมอเตอร์ไซค์มาวิ่งรับส่งคนฟรีหลายคน ดีใจครับที่มีคนคิดเหมือนเรา

“จากวันนั้นผมก็ขับมอเตอร์ไซค์จิตอาสามาเรื่อยๆ และตั้งใจจะทำไปจนกว่าจะเสร็จสิ้นงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ ก็ต้องขอบคุณภรรยาที่เข้าใจและสนับสนุนเรา ดังนั้นต่อให้กลับไปค่ำมืดดึกดื่น ผมก็จะนั่งร้อยลูกปัดลายยากๆ ที่ลูกค้าสั่งมาเพื่อแบ่งเบางานเขาตอบแทนที่เขาไม่เคยคัดค้านเราในการทำสิ่งดี ๆ เพื่อพ่อหลวงและช่วยเหลือสังคมครับถึงสิ่งที่ทำจะเล็กน้อยเพียงเศษดิน แต่ผมตั้งใจจริงเพื่อทำให้พ่อของเรา”

ทุกวันนี้หลังจากขี่มอเตอร์ไซค์รับ – ส่งจนคนซา ช่วง 3.00 น. – 4.00 น. คุณเบลล์มักอยู่ ช่วยกลุ่มจิตอาสาเตรียมอาหารเช้าให้คนที่เข้ามารอถวายสักการะพระบรมศพชุดแรกต่อ กลับถึงบ้านประมาณ 5.30 น. จึงพักผ่อน เมื่อถามว่าเหนื่อยไหม คุณเบลล์ยอมรับเหนื่อย แต่เต็มใจอย่างที่สุด

ขณะที่คุณป้อม – ทสพล มาคะผล อายุ 38 ปี ผู้มีอาชีพช่างภาพอิสระในบริษัทแห่งหนึ่ง ก็เป็นอีกคนหนึ่งซึ่งใช้เวลาว่างช่วงบ่ายของทุกวันมาขับมอเตอร์ไซค์จิตอาสาด้วยเช่นกัน

“ผมมาที่นี่ตั้งแต่วันแรก และเห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางมาแล้วกลับไม่สะดวก จึงคิดว่าอยากจะมารับ - ส่งผู้คนให้สะดวกขึ้นเพราะเราเองก็เดินทางไปไหนโดยรถมอเตอร์ไซค์อยู่แล้ว วันรุ่งขึ้นจึงเขียนป้ายรับ – ส่งฟรีติดเสื้อและรถ และมาวิ่งให้บริการฟรีเลย ไม่ได้รู้สึกอายในสิ่งที่ทำนะครับ มั่นใจว่า เมื่อทำดีแล้วก็ไม่ต้องอายใคร ยิ่งคนที่บ้านเข้าใจและสนับสนุนเราก็ทำงานตรงนี้ได้อย่างสบายใจขึ้น

“แรกๆ ภรรยาอาจรู้สึกงงกับสิ่งที่เราทำ แต่ตอนนี้เขาภูมิใจมาก ยิ่งเมื่อลูกชอบติดสอยห้อยตามมาทำกิจกรรมด้วย เราก็ยิ่งรู้สึกดีที่ได้ปลูกฝังวิธีคิดแบบมีน้ำใจให้ลูก จึงตั้งใจจะทำไปจนเสร็จสิ้นพิธีครับ”

ท่านสุดท้ายคือ คุณเอ๋ – นางสาวรังสินี เทอด-ทรัพย์สกุล อายุ 40 ปี หญิงสาวคนเดียวที่แม้จะประสบความไม่สะดวกทางกาย เนื่องจากความพิการแขนไม่เท่ากันและการได้ยินไม่ปกติ แต่เธอก็มาด้วยใจ

“มาเริ่มเป็นจิตอาสาขับมอเตอร์ไซค์ในวันที่ 27 ธันวาคม ที่ผ่านมาค่ะ ตั้งใจจะมานานแล้ว แต่ก่อนหน้านี้ประสบอุบัติเหตุแขนหัก ทำให้ยังมาไม่ได้ พออาการหายก็เลยมา

“ปกติก็ทำงานด้านจิตอาสาเยี่ยมคนพิการและผู้สูงอายุตามบ้านอยู่แล้วซึ่งเป็นโครงการที่ช่วยส่งเสริมคนพิการตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ตรัสว่า ให้ส่งเสริมการจ้างงานคนพิการจะได้มีเงินใช้ ไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่น เอ๋จึงได้โอกาสทำงานอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นต่อให้ร่างกายเราไม่สะดวก แต่เราก็หาสิ่งที่พอทำได้เพื่อทำถวายพระองค์ท่านค่ะ

“อย่างร่างกายเอ๋อาจไม่สะดวกงานบริการ แต่เรามีมอเตอร์ไซค์ เราขับได้ เราก็เลยมาช่วยตรงนี้ค่ะ ก็ตั้งใจว่าจะทำไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็หยุดพักแต่จะไม่ท้อ เพราะพระองค์ท่านเสด็จพระราชดำเนินไปตามที่ต่าง ๆ และแก้ปัญหาให้ประชาชนของพระองค์ เหนื่อยแค่ไหนเอ๋ก็จะอดทน”

นี่คือเรื่องราวดีๆ ของคนหัวใจเดียวกัน นั่นคือ หัวใจที่รักและเทิดทูนพ่อหลวงของเราค่ะ

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง  นิตยสารชีวจิต ฉบับ 441 (16 กุมภาพันธ์ 2560)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

กล้า…ดี เมล็ดพันธุ์แห่งความยั่งยืน

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

ตัวจริง เจ้าของไอเดีย “รูปที่มีทุกบ้าน” อภิรักษ์ สุขสัย

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.