พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ ๑ (ฝาง) 

จากมหันตภัยสู่ “ป่าในใจคน”

 

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวง ที่ 1 (ฝาง) คือ โรงงานแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรของชาวเขาและประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมาจากงานพัฒนาคุณภาพชีวิตคนบนดอย ให้เลิกปลูกฝิ่นหันมาปลูกพืชอื่นที่สร้างรายได้ทดแทน ซึ่งเป็นหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9

 

ในวันที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2549 เกิดน้ำป่าหลากครั้งใหญ่ โรงงานถูกน้ำซัดพังเสียหาย บ้านเรือนชาวบ้านราบเป็นหน้ากลอง

คุณศรายุทธ ปัญญาเลิศ เจ้าหน้าที่บริการวิชาการของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ 1 (ฝาง) ได้เล่าถึงความเป็นมาของที่นี่ว่า

“หลังจากเกิดเหตุน้ำป่าหลากในครั้งนั้นทำให้เราตระหนักถึงภัยธรรมชาติที่เกิดจากทรัพยากรป่าไม้ลดลง ไม่มีแนวชะลอน้ำและอุ้มดิน จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องให้ความรู้แก่ชาวบ้านคนในพื้นที่ หรือบุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติครับ”

ปี พ.ศ. 2550 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้

ฟื้นฟูและเชื่อมโยงเรื่องราวของโรงงานหลวง ชุมชน และวิถีชีวิตในชุมชนเข้าเป็นเรื่องเดียวกันในลักษณะของ LIVING SITE MUSEUM หรือ “พิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต” ซึ่งนอกจากจะนำเสนอความเป็นมาของโรงงาน อุทาหรณ์จากเหตุการณ์น้ำหลาก และพระราชกรณียกิจต่าง ๆ แล้ว ยังจัดให้เป็นแหล่งเรียนรู้แบบบูรณาการสำหรับเยาวชนและประชาชนที่สนใจอีกด้วย

“ผมยังจำที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ตรัสว่า ‘การปลูกป่าต้องปลูกที่ใจคนก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็จะปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง’ ซึ่งที่นี่เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ลงพื้นที่ไปดูชุมชน ดูต้นน้ำ ให้เขาเห็นความสำคัญของป่าไม้และแม่น้ำลำธารแล้วเขาจะเข้าใจว่าทำไมเราจึงต้องปลูกป่าหรือสร้างฝาย”

เพราะกิจกรรมส่งเสริมแนวคิด “ปลูกป่าในใจคน” ที่คุณศรายุทธรับผิดชอบนี้เอง ทำให้เด็กรุ่นใหม่เข้าใจการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รู้ถึงเหตุผลและผลลัพธ์ที่จะตามมา เท่านี้จิตสำนึกรักธรรมชาติจึงเกิดแก่คนเหล่านั้นโดยไม่ต้องบังคับหรือบอกให้ทำสิ่งใด

“ตอนแรกที่มาทำงานใหม่ ๆ ผมตอบไม่ได้ครับว่าทำไมถึงรักพระเจ้าอยู่หัว แต่พอมาทำงานตรงนี้การได้ทำให้ผู้อื่นมีความสุข มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากที่เคยเหนื่อย พอได้เห็นความสำเร็จที่ตามมากลับมีความสุขไปด้วย

“ผมรู้สึกภูมิใจและตื้นตันที่ได้เห็นพระองค์ท่านดูแลและแก้ไขปัญหาของประชาชนทุกคนบนผืนแผ่นดินไทยครับ”

เมื่อใดที่เรามี “ป่า” ในหัวใจเมื่อนั้นจะไม่เกิดคำถามว่า “เราปลูกป่าไปเพื่ออะไร”

ติดต่อเข้าชมได้ที่

พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง)

72 หมู่ที่ 12 ตำบลแม่งอน อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ 50320

โทร. 0-5305-1021

จาก คอลัมน์ตามรอยพ่อหลวง  นิตยสารชีวจิต ฉบับ 393 (16 กุมภาพันธ 2558)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ตัวจริง เจ้าของไอเดีย “รูปที่มีทุกบ้าน” อภิรักษ์ สุขสัย

มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ความเกื้อกูลของพระราชาและประชาชน

โครงการ พระดาบส “โอกาส” ทางการศึกษาแก่ “ผู้ด้อยโอกาส”

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.