กินสลัด

บ.ก.ขอตอบ : 5 Dos 5 Donts วิธีดี วิธีแย่ กินสลัด เพื่อสุขภาพเต็มร้อย

5 Dos 5 Donts วิธีดี วิธีแย่ กินสลัด เพื่อสุขภาพเต็มร้อย

 

ถาม

สองวันก่อน พี่เก๋ Green Living Guru แนะนำวิธี กินสลัด และวิธีปลูกผักสลัด เราก็เชื่อว่าผักสลัดมีประโยชน์ เพื่อสุขภาพเต็มร้อย แต่คิดอีกที น้ำสลัดบางอย่างก็ดูจะหวานจัดมีครีมเยิ้ม เราจะมี วิธีดี ในการเลือกกินอย่างไร ให้ปลอดภัยต่อสุขภาพคะ

ตอบ

บ.ก.นำคำถามนี้มาจาก เพื่อนๆผู้รักสุขภาพในเฟซบ่นให้ฟัง นางบอกว่านางขอเรื่องมาก เพราะสุขภาพของตัวเอง จะจ่ายตังค์เพื่อสุขภาพทั้งที ก็ควรจะได้สุขภาพที่ดีกลับมา ไม่ควรจะได้โรคแถมมาด้วย

จะว่าไป สมัยหนึ่ง สมัยที่เรื่องการดูแลสุขภาพเริ่มบูมใหม่ๆ สิ่งที่สื่อต่างๆ (รวมทั้งชีวจิต) ประกาศตูมออกมาว่าดีต่อสุขภาพอย่างมาก คือ ผักสด และเนื่องจากการกินผักสดในบ้านเรานั้น ต้องกินกับน้ำพริก และเราก็สามารถกินผักสดได้เป็นอย่างๆ ไป ฉะนั้นการกินผักสดให้หลากหลายนั้นเป็นเรื่องยากและฝืนใจประมาณหนึ่ง โดยเฉพาะเด็กน้อย

ฉะนั้น เราจึงต้องเพิ่มรสชาติให้ผักสดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนำผักไปทอด หรือการใช้เดรซซิ่งรสชาติต่างๆ เพื่อให้การกินผักสดเป็นเรื่องง่าย และมีรสชาติ

น้ำสลัด หรือเดรซซิ่งรสชาติแปลกใหม่จึงเกิดขึ้นมากมาย หลายชนิดปรุงจากไข่ น้ำมัน น้ำส้ม หลายชนิดปรุงจากครีม ไขมัน และสลัดหลายจานก็ต้องกินร่วมกับเนื้อสัตว์มันเยิ้ม ฉะนั้นแทนที่จะได้วิตามินและเกลือแร่จากผักต่างๆ เราจึงได้ไขมันทรานซ์ ที่เข้าไปหยุดยั้งการดูดซึมวิตามินและเกลือแร่ ส่งผลต่อการทำงานของร่างกายลดประสิทธิภาพลง

เรามาดูกันว่า 7 Dos หรือวิธีกิน และ 8 Donts หรือวิธีเลี่ยง การกินสลัดมีอะไรบ้าง บ.ก.นำข้อมูลมาจากนิตยสาร Prevention และ Webmd ค่ะ

 น้ำสลัด

5 Dos วิธีกินสลัดเพื่อสุขภาพเต็มร้อย

  • ใช้นำมันมะกอก หรือน้ำส้มสายชู เนื่องจากน้ำมันมะกอกเป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัว หากผสมกับน้ำสายชูบัลซามิก น้ำเลมอนคั้น ก็จะได้สลัดรสชาติอร่อยน่ากิน
  • เติมปลาลงไป ปกติการกินสลัดไม่ค่อยทำให้รู้สึกอิ่มได้นาน การเติมโปรตีนดี เช่น ปลาแซลมอน จะเป็นแบบสุด สด หรือรมควัน กุ้งย่าง โรยหน้าด้วยขนมปังกรอบ
  • มีผักโขมและผักเคล เนื่องจากเป็นผักใบเขียวเข้ม อุดมไปด้วยสารอาหารที่จำเป็น (ยิ่งเข้มยิ่งดี) จะมีฤทธิ์เพิ่มระดับอิมมูนซิสเต็มถึง 10 เท่า หากเพิ่มกะหล่ำปลีเพื่อให้ร่างกายได้วิตามินเอ และซี
  • ใช้ผักเยอะและหลากหลาย ยิ่งหลากหลายก็ยิ่งได้ประโยชน์ เนื่องจากผักแต่ละชนิดมีสารอาหารแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผักใบเขียวเข้ม ผักกรอบอย่างแตงกวา แครอท ผักสีแสบอย่างมะเขือเทศ พริกหวาน บีทรู้ท รวมไปถึงผักหัวอย่างมันฝรั่ง หรือผักที่อุดมไปด้วยไขมันดีอย่างอะโวคาโด
  • เพิ่มผลไม้สดและถั่วลงไปด้วย เนื่องจากผลไม้หวานให้รสชาติ และอุดมไปด้วยสารแอนตี้อ็อกซิแดนท์ ส่วนถั่ว เช่น ถั่วแดงต้ม ก็ให้โปรตีน ไฟเบอร์ และไขมันดี จะช่วยให้รสชาติสลัดดีเยี่ยม

อ่านต่อหน้าที่ 2

สลัด

5 Donts วิธีเลี่ยงอันตรายจากสลัด

  • เลี่ยงใช้น้ำสลัดครีม เช่น thousand island นอกจากจะให้แคลอรี่ส฿งลอยแล้ว ยังมีไขมันเลว โซเดียม คิดง่ายๆ ว่า แค่เราเติมน้ำสลัดครีมลงจานสลัดของเราแค่ 2 ชั้นโต๊ะ ก็จะได้ 150 แคลอรี่ พร้อมทั้งไขมันอีก 15 กรัม
  • เลี่ยงใช้น้ำสลัด “Fat-Free” ซึ่งหากไม่ได้ไขมันไปพร้อมผักสดเลย ผักบางชนิดที่ละลายในไขมันก็จะถูกร่างกายนำไปใช้ประโยชน์ไม่ได้ โดยเฉพาะวิตามิน เอ ดี อี และเค นอกจากนี้น้ำสลัดประเภทนี้ยังอุดมไปด้วยน้ำตาลและโซเดียม ซึ่งร่างกายไม่ควรได้รับมากเกินไป
  • เลี่ยงโรยหน้าสลัดด้วยเนื้อสัตว์กรอบ เช่น ปลากรอบ ไก่กรอบ เพราะการที่เนื้อสัตว์จะกร๊อบกรอบได้อย่างนั้น มันจะต้องลงน้ำมันร้อนท่วมร่าง หรือที่ภาษาสุขภาพเรียกว่า “deep-fried” ซึ่งผลลัพธ์คือ เนื้อสัตว์กรอบเหล่านั้นจะให้แคลอรี่มหาศาล แถมด้วยไขมันเลว ซึ่งเป็นระเบิดเวลาสำหรับโรคหัวใจ
  • เลี่ยงใส่ผลไม้แห้งหรือถั่วเคลือบน้ำตาลลงไป สองสิ่งดังกล่าวทั้งหวานทั้งมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้แห้งนั้นให้น้ำต่อร่างกายปริมาณน้อย แต่ให้น้ำตาลมหาศาล ส่วนการผลิตถั่วเคลือบน้ำตาลนั้น เริ่มจากการทอดถั่ว (ในน้ำร้อนท่วมร่าง ซึ่งให้ไขมันเลว และลดปริมาณไขมันดีของถั่วลง) แล้วเคลือบด้วยน้ำตาลข้นเหนียว (เชื่อสิว่า มีแคลอรี่มากกว่าน้ำตาลทั่วไปเสียอีก)
  • เลี่ยงสลัดราดมายองเนส แม้ว่าสิ่งละอันพันละน้อยในสลัดจานหนึ่งๆ จะมีประโยชน์มหาศาล (ผักเขียวเข้มเอย ผักหลากหลายเอย เนื้อสัตว์ที่ให้ไขมันดีอย่างปลาแซลมอนเอย ปลาทูน่าเอย) แต่สุดท้ายอาจตกม้าตาย ลงเอยด้วยโทษมหันต์ หากราดด้วยมายองเนส ซึ่งเปี่ยมเต็มไปด้วยน้ำตาลและไขมันทรานซ์

กินสลัด

ข้อคิดจาก บ.ก.

จากตำราเรียน “การรักษาโรคด้วยอาหาร” ที่จะเตรียมตัวเป็น Nutritional therapy Practitioner หรือนักบำบัดโรคและอาการด้วยอาหาร ของบ.ก.พบว่า อาหารส่วนใหญ่มีสูตรในการกิน เช่น กินอาหารบางอย่างร่วมกับอาหารอีกอย่าง หรือไม่กินอาหารบางอย่างร่วมกับอาหารอีกอย่าง เนื่องจาก อาหารเหล่านั้นมีการเสริมฤทธิ์กัน หรือต้านฤทธิ์กัน

เช่น ถ้าเรากินแป้งและน้ำตาลไม่ถูกต้อง เช่น เป็นแป้งและน้ำตาลคุณภาพไม่ดี หรือกินมากเกินไป ก็จะไปทำปฏิกิริยาเคมีในร่างกาย เพื่อลดการทำงานของไนอาซินหรือวิตามินบี 3 (ต่อให้กินวิตามินนี้เยอะแค่ไหนก็ตาม)

และเมื่อไนอาซินทำงานได้ไม่เต็มที่ ประสิทธิภาพในการควบคุมความสมดุลของระดับคลอเลสเตอรอลก็ลดลงด้วย (เพราะไนอาซินทำหน้าที่ควบคุมระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด) ส่งผลต่อระดับคลอเลสเตอรอลอาจสูงขึ้น

จากนั้น เราก็จะไปหาหมอกินยาลดระดับคลอเลสเตอรอลในเลือด ทั้งๆ ที่แค่เปลี่ยนวิธีการกินแป้งและน้ำตาลก็ชาวยให้ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์แล้ว


บทความน่าสนใจอื่นๆ

บ.ก.ขอตอบ : 10 อาหารดี แก้ท้องอืด เพิ่มพลังย่อย ช่วยสุขภาพท้อง

บ.ก.ขอตอบ : จากนางร้าย ที่แท้จริงคือนางเอก 8 ประโยชน์ของ คอเลสเตอรอล ไม่มีไม่ได้แล้ว

บ.ก.ขอตอบ : 11 วิธีกินให้อร่อย แก้ปัญหา โรคกรดไหลย้อน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.