สมุนไพรจีน, แพทย์แผนจีน, รักษาโรค, การแพทย์, จีน

เรื่องน่ารู้ แพทย์แผนจีน

เรื่องน่ารู้ แพทย์แผนจีน

แพทย์แผนจีน เป็นศาสตร์การแพทย์ที่มีประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 5,000 ปี เป็นการผสมผสานระหว่างวัฒนธรรมจีนโบราณ ศาสตร์แห่งธรรมชาติ ศาสนา ปรัชญาโบราณ และอื่นๆ อีกมากมายเข้าไว้ด้วยกันเป็นองค์รวม ซึ่งนับว่าเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่โดดเด่นของศาสตร์นี้

ความเป็นมา

เบื้องต้นแพทย์แผนจีนถือกำเนิดขึ้นมาจากการสังเกตและจดบันทึกสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันของชาวจีนโบราณ ทั้งที่ได้มาด้วยความตั้งใจหรือพบเจอโดยบังเอิญ เช่น สังเกตชีวิตสัตว์ต่างๆ ที่มีอาการป่วยแล้วกินพืชหรือหญ้าแปลกๆ ที่ต่างไปจากอาหารหลักที่กินเป็นประจำ เป็นต้นและยังดึงเอาทฤษฎีของศาสตร์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโหราศาสตร์ ดาราศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ตรรกศาสตร์ มนุษยศาสตร์ ชีวศาสตร์ จิตวิทยา ฯลฯ รวมถึงหลักปรัชญาต่างๆ เช่น หลักหยิน - หยาง ทฤษฎีปัญจธาตุ หรือที่เรารู้จักกันในทฤษฎี 5 ธาตุนั่นเอง มาผสมผสานรวมเป็นทฤษฎีแพทย์แผนจีนในปัจจุบัน

ยุคสมัย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ต่างๆ พบว่า การแพทย์ของชาวจีนโบราณมีมายาวนาน โดยในยุค ราชวงศ์อิน ได้ค้นพบการบันทึก 16 โรคลงบนกระดองเต่า ซึ่งครอบคลุมโรคทางอายุรกรรมศัลยกรรม โรคระบบประสาทและสมอง โรคเกี่ยวกับดวงตา โรคทางระบบหูคอจมูก โรคทางทันตกรรม โรคระบบทางเดินปัสสาวะ โรคทางสูตินรีเวช กุมารเวช รวมถึงโรคติดต่อต่างๆ

เมื่อเข้าสู่ยุคของ ชุนชิว-จ้านกว๋อ ทฤษฎีแพทย์แผนจีนก็มีความเป็นระบบมากยิ่งขึ้น จนถึงยุค ราชวงศ์ฉิน-ฮั่น ได้มีการแต่งคัมภีร์ทางการแพทย์ชื่อ “หวงตี้เน่ยจิง” ซึ่งรวบรวมทฤษฎี ปรัชญาและอธิบายการเกิดโรค วิธีตรวจวินิจฉัยและรักษาตามหลักแพทย์แผนจีนไว้อย่างครบถ้วน เป็นคัมภีร์ที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งมีการสืบทอดความรู้มาจนถึงปัจจุบัน

ต่อมาในยุค ราชวงศ์ฮั่น มีนายแพทย์ท่านหนึ่งชื่อ จางจ้งจิ่ง ได้แต่งคัมภีร์ชื่อ “ซางหัน จ๋าปิ้งลุ่น” ขึ้นมา ซึ่งอธิบายถึงโรคต่างๆ ทั้งโรคที่เกิดจากภายในและภายนอก พร้อมบรรยายถึงการดำเนินของโรค การใช้ยารักษา และการใช้เข็มรักษาไว้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ฝั่งเข็ม, แพทย์แผนจีน, รักษาโรค, จีน, ยาจีน
ศาสตร์แพทย์แผนจีน มีการฝังเข็ม เพื่อรักษาโรค

นอกจากนี้ จางจ้งจิ่งยังได้คิดค้นวิธีตรวจวินิจฉัยโรคที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของแพทย์แผนจีน ซึ่งก็คือการ “เปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ” หมายถึง การแยกแยะวินิจฉัยโรคตามกลุ่มอาการ และการวางแผนการรักษาที่ยังคงยึดถือเป็นแบบแผนถึงปัจจุบันนี้

คัมภีร์ต่างๆ เหล่านี้เป็นรากฐานสำคัญที่ทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดความรู้ของแพทย์แผนจีนในยุคหลังๆ

นอกจากนี้ในยุคราชวงศ์ฮั่นก็มีแพทย์อีกท่านหนึ่งซึ่งเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปเนื่องจากมีชื่อปรากฏในวรรณกรรมจีน เรื่องสามก๊ก มีการนำชีวประวัติท่านมาสร้างเป็นภาพยนตร์และละครทีวีมากมายซึ่งก็คือ นายแพทย์ฮว่าถัว ท่านเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านศัลยกรรม และได้คิดค้นสูตรยาสลบ ยาชา เพื่อใช้ในการผ่าตัด แต่น่าเสียดายที่คัมภีร์ที่ท่านได้เขียนขึ้นถูกเผาทำลายโดยภรรยาของผู้คุมเรือนจำ หลังจากที่ท่านได้มอบให้กับผู้คุมเรือนจำในบั้นปลายชีวิตขณะที่ถูกคุมขังอยู่

อ่านต่อหน้าที่ 2

ในยุค ราชวงศ์จิ้น-สุย-ถัง นั้นแพทย์แต่ละท่านได้นำคัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงและคัมภีร์ซางหัน จ๋าปิ้งลุ่น มาศึกษาเพื่อเป็นพื้นฐานในการต่อยอดแต่งคัมภีร์ทางการแพทย์เล่มอื่นๆ ขึ้นมาอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นคัมภีร์ชื่อ “ม่ายจิง” แต่งโดยนายแพทย์หวังซูเหอ ซึ่งได้กล่าวถึงชีพจรต่างๆ ไว้มากมาย คัมภีร์ “เจินจิ่วเจี๋ยอี่จิง” แต่งโดย นายแพทย์หวงผู่มี่ ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่อธิบายเกี่ยวกับการฝังเข็มที่เก่าแก่ที่สุดที่สืบทอดมาถึงปัจจุบัน โดยได้บันทึกจุดฝังเข็มไว้กว่า 600 จุด

ในยุค ราชวงศ์จิ้น และ ราชวงศ์ถังก็มีการแต่งคัมภีร์ชื่อ “เชียนจินเย่าฟาง” และ “เชียนจินอี้ฟัง” โดย นายแพทย์ซุนซือเหมี่ยว คัมภีร์ดังกล่าวถือได้ว่าเป็นสารานุกรมทางการแพทย์ที่สมบูรณ์เล่มหนึ่งทีเดียว

นอกจากนี้ในยุคนี้ยังมีการแต่งคัมภีร์ที่เกี่ยวกับโรคทางศัลยกรรม สูตินรีเวช กุมารเวช หูตาคอจมูก และอื่นๆ อีกมากมาย จึงถือได้ว่าเป็นยุคแห่งการพัฒนาทางการแพทย์แผนจีนที่ค่อนข้างสำคัญทีเดียว

ต่อมาในยุค ราชวงศ์ซ่ง-จิน-หยวนมีการพัฒนาศาสตร์แพทย์แผนจีนขึ้นไปอีกขั้นหนึ่ง ซึ่งแพทย์ต่างๆ ในยุคนี้ได้ประยุกต์พื้นฐานทฤษฎีแพทย์แผนจีนผนวกเข้ากับประสบการณ์ต่างๆ ของตัวเองและได้ก่อตั้งสำนักการแพทย์ต่างๆ ขึ้นมากมาย โดยในยุคนี้มีนายแพทย์ที่มีชื่อเสียงถึง 4 ท่าน ซึ่งมีสำนักเป็นของตัวเอง

ในยุค ราชวงศ์หมิง-ชิง มีการแต่งคัมภีร์เกี่ยวกับโรคที่มีความร้อน โรคระบาดต่างๆ และมีสำนักการแพทย์ที่มีชื่อเสียงเกิดขึ้น 4 สำนัก

ต่อมาหลังสงครามฝิ่นของจีนเป็นช่วงที่มีการเผยแพร่การแพทย์แผนตะวันตกมายังประเทศจีน มีนายแพทย์ท่านหนึ่งชื่อ จางซีฉุน ได้กล่าวว่า “การแพทย์ไม่ควรหยุดอยู่ที่คัมภีร์หวงตี้เน่ยจิงแต่ควรนำจุดเด่นของแพทย์ตะวันตกมาพัฒนาแพทย์แผนจีนต่อไป” ท่านจึงได้แต่งคัมภีร์ชื่อ “อีเสว๋จงจงชันซีลู๋”

 จับชีพจร, แพทย์แผนจีน, วินิจฉัยโรค, รักษาโรค, จีน
จับชีพจร เพื่อวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยตามศาสตร์แพทย์แผนจีน

หลังจาก ค.ศ. 1956 เป็นต้นมา ประเทศจีนรณรงค์ให้ผสมผสานองค์ความรู้ระหว่างแพทย์แผนจีนกับแพทย์แผนตะวันตก และได้นำเทคโนโลยีต่างๆ ที่ทันสมัยมาวิจัยศาสตร์แพทย์แผนจีนอีกด้วย จึงทำให้ระบบทฤษฎีแพทย์แผนจีนได้รับการพัฒนาต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว

จากบทความข้างต้นทำให้รู้ว่าประวัติศาสตร์จีนมีแพทย์จีนที่มีชื่อเสียงจำนวนมาก ซึ่งแต่ละท่านช่วยกันคิดค้นและพัฒนาการแพทย์ในแต่ละยุคสมัยจึงทำให้ระบบทฤษฎีต่าง ๆ ของแพทย์แผนจีนมีความสมบูรณ์มากขึ้นเรื่อย ๆ

ปัจจุบันแพทย์แผนจีนเป็นระบบการแพทย์ที่มีองค์ความรู้สมบูรณ์และมีประวัติเก่าแก่ที่สุดสาขาหนึ่ง ซึ่งการตรวจวินิจฉัยทำได้ 4 วิธี คือการ “มองฟัง ถาม จับ” และมีวิธีรักษาทั้งการใช้สมุนไพรจีน การฝังเข็ม การรมยาการนวดทุยหนา ชี่กง และการรักษาโดยใช้อาหารเป็นยา เป็นต้น

คอลัมน์หมอจีนประจำบ้าน นิตยสารชีวจิต ฉบับ 391 (16 ม.ค.58)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

แพทย์แผนจีนชี้! 5 ข้อดีของการแช่เท้า

กำราบสิวใน 21 วัน ด้วยแพทย์แผนจีน

โรคกระเพาะอาหารและโภชนบำบัดแพทย์แผนจีน

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.