เครื่องปรุงรส, เครื่องปรุงอาหาร, เครื่องปรุง, มะเร็ง, เบาหวาน, ความดัน

ฉลาดใช้ เครื่องปรุงรส ลดเสี่ยงมะเร็ง เบาหวาน ความดัน

ฉลาดใช้ เครื่องปรุงรส ลดเสี่ยงมะเร็ง เบาหวาน ความดัน

เครื่องปรุงรส สารพัดชนิด เช่น น้ำตาล เกลือ น้ำส้มสายชู พริกป่น ล้วนเป็นตัวช่วยคู่ครัวที่หลายคนยืนกรานว่าขาดไม่ได้ เพราะช่วยให้อาหารมีรสชาติอร่อยกลมกล่อม แม้เป็นตัวชูรสชั้นดี แต่หากใส่จนเกินพอดี อาหารรสจัดถูกใจอาจแฝงมาพร้อมกับสารพัดโรคร้าย ทั้งโรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคความดัน

วันนี้เราชวนมาเปิดห้องครัวขนเครื่องปรุงรสทั้งหวาน เค็ม เผ็ด เปรี้ยว เพื่อเลือกกันว่าเครื่องปรุงรสชนิดใดกินมากเกินไปแล้วจะทำลายสุขภาพ วิธีใช้เครื่องปรุงรสอย่างชาญฉลาด ปิดท้ายด้วยวิธีกินอาหารรสอร่อย แต่พึ่งเครื่องปรุงรสน้อยหน่อยตามแบบฉบับชีวจิตค่ะ

1.เครื่องปรุงรสหวาน กินหวานเป็นมากกว่าเบาหวาน

น้ำตาล, ติดหวาน, กินอาหารหวานจัด, เครื่องปรุงรส, เบาหวาน, มะเร็ง, ความดัน
คำนวนปริมาณน้ำตาลในอาหารก่อนกิน ป้องกันร่างกายได้รับเกินความต้องการ

กินรสหวานจัดไม่เสี่ยงแค่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแต่ยังทำให้มีภาวะหัวใจวาย เป็นโรคอ้วนลงพุง (Metabolic Syndrome) แถมก่อมะเร็งมดลูกได้อย่างไม่ทันตั้งตัว

ฉลาดกินหวานลดโรค

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้กินน้ำตาลไม่เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการพลังงานใน 1 วัน หรือปริมาณที่เหมาะสมสำหรับคนไทยคือ กินน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา

เพื่อสุขภาพที่ดี นอกจากเติมน้ำตาลลงในอาหารและเครื่องดื่มตามปริมาณที่แนะนำ ควรระวังน้ำตาลที่แฝงมากับอาหาร ขนม เครื่องดื่มตลอดจนผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปต่าง ๆ ด้วย

การคำนวณปริมาณน้ำตาลเป็นหน่วยช้อนชาจากการอ่านฉลากโภชนาการ เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้บริโภคมองเห็นภาพว่า ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่วางขายตามท้องตลาดมีปริมาณน้ำตาลเป็นส่วนประกอบมากน้อยเท่าไร ทำให้สามารถเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ก่อนซื้อและรู้จักควบคุมปริมาณน้ำตาลก่อนกินได้อย่างเหมาะสม

วิธีคำนวณปริมาณน้ำตาลจากฉลากโภชนาการ

หารปริมาณน้ำตาลที่ระบุบนฉลากโภชนาการเป็นกรัมด้วย 4 จะได้ปริมาณน้ำตาลในหน่วยช้อนชา (น้ำตาล 1 ช้อนชา หนัก 4กรัม)

ทั้งนี้ควรสังเกตจำนวนหน่วยบริโภคบนฉลากโภชนาการร่วมด้วย เช่น หากระบุว่า เครื่องดื่มมีจำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ 2 หมายความว่า เครื่องดื่ม 1 ขวด ควรแบ่งดื่ม 2 ครั้ง ฉะนั้นหากดื่มทีเดียวหมดขวด ต้องคูณปริมาณน้ำตาลที่แสดงบนฉลากโภชนาการด้วย 2

ตัวอย่างเช่น เครื่องดื่มชนิดหนึ่งระบุปริมาณน้ำตาลต่อ 1 หน่วยบริโภคเท่ากับ 24 กรัม จำนวนหน่วยบริโภคเท่ากับ 2 (1 ขวดควรแบ่งดื่ม 2 ครั้ง) แสดงว่า เมื่อดื่มผลิตภัณฑ์ชนิดนี้หมดขวด ร่างกายจะได้รับน้ำตาล 48 กรัมหรือ 12 ช้อนชา

2.เครื่องปรุงรสเค็ม กินเค็มระวังหัวใจพังความดันสูง

สมาคมโรคหัวใจ ประเทศสหรัฐอเมริกา (American Heart Association) เปิดเผยข้อมูลผลสำรวจจากทั่วโลกเป็นการยืนยันอีกครั้งว่า เกลือเป็นวายร้ายทำลายหัวใจ

สมาคมโรคความดันโลหิตสูงแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่าการกินอาหารรสเค็มเป็นประจำ มีผลให้ผนังกล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายหนาขึ้น เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดโรคความดันโลหิตสูง ทั้งเพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังทำลายไตอีกด้วย

ฉลาดกินเค็มร่างกายแข็งแรง

เครื่องปรุงรสหลากชนิดล้วนมีโซเดียมหรือที่หลายคนเรียกว่าเกลือเป็นส่วนประกอบ

ในความเป็นจริง โซเดียม เป็นส่วนประกอบของเกลือ และเราพิจารณาความเค็มที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากปริมาณโซเดียมในอาหาร ไม่ใช่ปริมาณเกลือ

เพื่อสุขภาพที่แข็งแรง ข้อกำหนดปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคประจำวันสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปคือควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,400 มิลลิกรัม

ฉะนั้น ทางที่ดีคือ พยายามลดการกินโซเดียมลง โดยสร้างนิสัยชิมก่อนปรุง ไม่กระหน่ำเติมเครื่องปรุงรสตามความเคยชิน ค่อย ๆ ลดปริมาณเครื่องปรุงรสในอาหารลงทีละน้อยช่วงแรกอาจรู้สึกว่าอาหารมีรสอ่อน ไม่คุ้นลิ้น แต่ไม่นานลิ้นของเราจะปรับตัวเข้ากับอาหารที่มีรสจืดลงและสัมผัสถึงรสอร่อยจากอาหารอย่างแท้จริง ทั้งเน้นกินอาหารปรุงสุก สดใหม่หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูปและอาหารสำเร็จรูปทุกชนิด

เครื่องปรุงรสสูตรลดโซเดียมปลอดภัยหรือไม่

ปัจจุบันมีการพัฒนาเครื่องปรุงรสสูตรลดโซเดียมออกมาจำหน่ายในท้องตลาดอย่างแพร่หลาย

เครื่องปรุงรสสูตรลดโซเดียมผลิตโดยใช้โพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบแทนโซเดียม จึงสามารถลดปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรสลง 40 – 60 เปอร์เซ็นต์

แม้จะมีประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการลดปริมาณโซเดียมในอาหาร แต่เครื่องปรุงรสนี้ ไม่เหมาะกับผู้ป่วยโรคไตวาย เพราะผู้ป่วยไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกทางปัสสาวะได้ หากกินผลิตภัณฑ์ที่มีโพแทสเซียมเป็นส่วนประกอบจะส่งผลให้โพแทสเซียมคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด เกิดอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เป็นพิษต่อหัวใจ ทำให้หัวใจหยุดเต้นได้

นอกจากนี้การกินยาบางชนิดจะส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถขับโพแทสเซียมออกมาได้ ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

อ่านต่อหน้าที่ 2

3.เครื่องปรุงรสเผ็ด กินเผ็ดเสี่ยงมะเร็ง

พริกป่น, เครื่องปรุงรส, อาหารรสเผ็ด, สารแอฟลาท็อกซิน, มะเร็ง
พริกป่น เมื่อสัมผัสกับความชื้นจะทำให้เกิดเชื้อรา กินบ่อยๆ เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง

ประเทศไทยมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นซึ่งทำให้เกิดเชื้อราในอาหารได้ง่าย โดยเฉพาะพริกป่น โดยเชื้อรานี้จะปล่อยสารแอฟลาท็อกซินออกมา หากกินพริกที่ปนเปื้อนสารแอฟลาท็อกซินในปริมาณมาก อาจส่งผลให้เกิดอาการอาหารเป็นพิษเฉียบพลัน ทำให้อาเจียนและท้องเดิน

หากได้รับสารแอฟลาท็อกซินปริมาณน้อย แต่บ่อยครั้ง สารแอฟลาท็อกซินจะสะสมในร่างกาย

เกิดเป็นพิษเรื้อรัง รบกวนกระบวนการสังเคราะห์โปรตีน จนอาจส่งผลให้การสร้างเซลล์ผิดปกติและลุกลามกลายเป็นเซลล์มะเร็งในที่สุด

ฉลาดกินเผ็ดหนีสารก่อมะเร็ง

สารแอฟลาท็อกซินสามารถทนความร้อนได้ถึง 250 องศาเซลเซียส ความร้อนจากการปรุงอาหารจึงไม่สามารถทำลายสารพิษนี้ได้ ฉะนั้น เพื่อให้กินเผ็ดได้อย่างปลอดภัย หากกินอาหารนอกบ้านควรเลือก

อาหารที่ปรุงจากพริกสด ชูรสด้วยหอมแดงและกระเทียม แทนอาหารที่ปรุงจากพริกป่นหรือพริกแห้งพร้อมทั้งหลีกเลี่ยงถั่วลิสงบด พริกไทย และกุ้งแห้งร่วมด้วย เพราะเชื่อว่าเครื่องปรุงที่วางตากลมอยู่บนโต๊ภายในร้านอาหาร โดยเฉพาะเมื่อใส่ในภาชนะที่ไม่มีฝาปิด มีความเสี่ยงสูงที่จะสัมผัสกับอากาศตลอดเวลา ทำให้เกิดความชื้นและเชื้อรา อุดมด้วยสารพิษก่อมะเร็ง

4.เครื่องปรุงรสเปรี้ยวกินเปรี้ยวปลอมอันตราย

การกินอาหารรสเปรี้ยวจัดอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อนเพราะเครื่องปรุงรสเปรี้ยว เช่น น้ำมะนาว น้ำส้มสายชู จะกระตุ้นให้กรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมายังหลอดอาหาร เกิดอาการแสบร้อนกลางอกทำให้หลอดอาหารอักเสบได้

หากรสเปรี้ยวมาจากน้ำส้มสายชูปลอมที่ผลิตจากกรดน้ำส้มชนิดเข้มข้น (Glacial Acetic Acid) ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมฟอกหนังสิ่งพิมพ์ สิ่งทอ อาจทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรง ยิ่งหากมีส่วนผสมของกรดกำมะถัน (Sulphuric Acid) ซึ่งเป็นกรดแก่ มีฤทธิ์กัดกร่อนรุนแรง อาจทำให้เกิดอันตรายต่อระบบทางเดินอาหารและตับได้

ฉลาดกินเปรี้ยวทางเดินอาหารปลอดภัย

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้พิถีพิถันในการเลือกซื้อน้ำส้มสายชู โดยสังเกตจากฉลากโภชนาการว่าต้องมีชื่อที่แสดงว่าเป็นน้ำส้มสายชูหมัก น้ำส้มสายชูกลั่น หรือน้ำส้มสายชูเทียม แสดงปริมาณกรดน้ำส้มเป็นเปอร์เซ็นต์ ระบุปริมาตรสุทธิสถานที่ผลิต วันหมดอายุชัดเจน และที่สำคัญ ควรมีเครื่องหมายของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ร่วมด้วย

นอกจากน้ำส้มสายชู ยังมีเครื่องปรุงรสจากธรรมชาติอีกมากที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทั้งให้รสชาติเปรี้ยว อร่อยกลมกล่อม หากทำอาหารกินเองอาจเปลี่ยนมาใช้เครื่องปรุงรสเปรี้ยวจากธรรมชาติ เช่น น้ำมะนาวน้ำมะขามเปียก ใบมะขามอ่อน ดอกมะขาม ลูกและใบมะดัน มะม่วงดิบ มะปรางดิบ

ฉลาดเลือก ฉลาดใช้เครื่องปรุงรสแต่พอดี เตรียมอร่อยพร้อมสุขภาพแข็งแรงได้เลยค่ะ

คอลัมน์ชีวจิต+ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 366 (1 ม.ค.57)


บทความน่าสนใจอื่นๆ

เค็ม เผ็ด เปรี้ยว หวาน กินไม่พอดีมีโทษ

2 สูตรสมุนไพรคู่ครัว ลดความดัน ปราบเบาหวาน

4 วิธีบำบัด โรคเบาหวาน โดยไม่ต้องพึ่งยา

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.