นวดไทย, นวด, บำบัดโรค, แพทย์แผนไทย, รูปแบบการนวดไทย

เช็ค 10 อาการ หายได้ด้วยการนวดไทย

10 อาการ หายได้จาก การ นวดไทย

การ นวดไทย มีวัตถุประสงค์ใหญ่ๆ 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นการนวดแบบองค์รวม ช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจส่วนอีกประเภทหนึ่งเป็นการนวดเพื่อบำบัดอาการและโรคที่เกิดขึ้น

ซึ่งหากเป็นการนวดที่ถูกวิธี ไม่ว่ารูปแบบใด ก็จะสามารถช่วยกระตุ้นร่างกาย ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ยืดเส้นเอ็น เพิ่มการไหลเวียนของเลือด และกำจัดของเสียและสารพิษในร่างกาย ส่วนด้านจิตใจนั้น การสัมผัสร่างกายด้วยความนุ่มนวล ช่วยลดความเครียด และเป็นการกระตุ้นให้คุณใส่ใจกับร่างกายมากขึ้น

ในปัจจุบันเราจะพบว่า การนวดในรูปแบบต่างๆ เป็นทางเลือกหนึ่งที่เรานิยมใช้ทั้งบำบัดอาการของโรคและผ่อนคลายจิตใจ แทนการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะเป็นการนวดในรูปแบบใด สิ่งที่เราควรคำนึงและตระหนักถึงคือ ความเหมาะควรกับสภาพร่างกาย และการพิจารณาผู้นวดด้วยความไตร่ตรองว่ามีพื้นฐานการนวดที่เชี่ยวชาญเพียงพอหรือไม่

การนวดไทย (Thai Massage)

การนวดไทยเป็นศาสตร์และศิลป์สาขาหนึ่งของการแพทย์แผนโบราณของไทย โดยมีหลักการคือ คนเรามีเส้นเป็นเครือข่ายโยงใยทั่วร่างกาย 72,000 เส้น แต่มีเส้นหลักๆ อยู่เพียง 10 เส้น ซึ่งเป็นทางเดินของลมหรือพลังชีวิตที่ประสานให้อวัยวะน้อยใหญ่ของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ เหตุผลที่การนวดสามารถบำบัดบรรเทาความเจ็บป่วยที่มีสาเหตุมาจากการติดขัดของลมได้นั้น ก็เพราะการนวดมีผลทำให้เลือดลมแล่นไปตามเส้นต่างๆ ได้ตามปกติ

ข้อมูลในหนังสือ คู่มือสุขภาพประจำบ้าน (Total Health) ของสำนักพิมพ์คลินิกสุขภาพ ได้แบ่งการนวดไทยไว้เป็น 4 ลักษณะ คือ

การกด เป็นการนวดโดยใช้นิ้วหัวแม่มือ ส้นมือ หรืออาจใช้ศอก เข่า ส้นเท้า กด ณ ตำแหน่งจุดนวดหรือตามแนวนวดที่กำหนด การกดที่ดีควรค่อยๆ เพิ่มแรงกดจนถึงระดับชั้นกล้ามเนื้อ กดนิ่งไว้ แล้วค่อยๆ ผ่อนออก แต่ละจุดใช้เวลาประมาณ 10 วินาที การกดมีผลทำให้คลายเส้นและเลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น

การคลึง เป็นการนวดโดยการกดให้ลึกถึงกล้ามเนื้อแล้วเคลื่อนที่ไปมา จึงช่วยคลายเส้นและทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น

การดัดดึง เป็นการนวดโดยการออกแรงเพื่อยืดเส้นและเนื้อเยื่อบริเวณข้อต่อ เพื่อให้ข้อต่อที่ติดขัดเคลื่อนไหวได้ตามปกติ

นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคนิคอื่นๆ อีก เช่น การจับ การทุบการสับ การบีบ การลูบ เป็นต้น

การประคบ เป็นการใช้สมุนไพรหลายๆ ชนิด เช่น ไพล ขมิ้นอ้อย ผิวมะกรูด ใบมะขาม การบูร ตำพอแหลก ห่อด้วยผ้าขาว อังไอน้ำให้ร้อน แล้วนำไปประคบภายหลังการนวดด้วยมือเปล่า การประคบสมุนไพรช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้ดีขึ้น ลดการอักเสบเรื้อรังต่างๆ ได้

ประคบสมุนไพร, นวดไทย, การนวดไทย, นวด, แพทย์แผนไทย
ประคบสมุนไพร ช่วยระบบการไหลเวียนเลือด และบรรเทาอาการอักเสบ

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

นวดไทย, นวด, บำบัดโรค, แพทย์แผนไทย, รูปแบบการนวดไทย
นวดไทย สามารถบำบัด บรรเทาความเจ็บป่วย จากการติดขัดของเลือดลมได้

ในขณะที่ข้อมูลของ สถาบันการแพทย์แผนไทยแบ่งประเภทการนวดไว้ 2 ประเภท

  1. การนวดไทยแบบทั่วไป (แบบเชลยศักดิ์)

เป็นการนวดที่ใช้กันอยู่ทั่วไป เช่น ชาวบ้านนวดกันเอง หรือเป็นแหล่งการสอนที่มีชื่อมานาน เช่น วัดโพธิ์ วัดสามพระยา หรือสำนักต่างๆ ในภูมิภาค การนวดใช้ทั้งมือ เข่า ศอก ดัด ดึง คลึง ทุบ สับ เหยียบ ถีบ สำหรับนวดเพื่อรักษาและเพื่อส่งเสริมสุขภาพ ท่านวดมีทั้งท่านอนคว่ำ นอนหงาย ท่านั่ง ผู้นวดและผู้ถูกนวดอยู่ในท่าที่สบาย ไม่ระมัดระวังมากนัก

  1. การนวดแบบราชสำนัก มีลักษณะเด่นคือ

เป็นการนวดที่สืบทอดความรู้และรูปแบบมาจากครูผู้สอนที่เป็นหมอ ถวายการนวดแก่พระเจ้าแผ่นดินและพระบรมวงศานุวงศ์ โดยผู้นวด (หมอ) จะใช้เฉพาะมือนวด และต้องมีกิริยามารยาทสุภาพ

เรียบร้อย ขณะนวดต้องไม่ชิดตัวผู้ป่วยเกินไป ไม่หายใจรดผู้ป่วย  ผู้นวดต้องมีศีลเพื่อควบคุมความประพฤติ เช่น ไม่ดื่มเหล้าเมื่อทำงาน ไม่หลอกลวงคนไข้ ไม่เจ้าชู้ ไม่นวดตามสถานที่อโคจร (โรงแรม หรือที่ที่มีเจ้าของไข้อยู่แล้ว) การนวดจะใช้สำหรับการนวดรักษาเท่านั้น ไม่ใช้นวดแก้เมื่อยทั่วไป

วิธีการนวด จะไม่นวดเท้าก่อน เวลานวดจะกดจุด ไม่มีการคลึง ดัด ดึง ถีบ เหยียบ หรือนวดแรงๆ ผู้รับการนวดจะอยู่ในท่านั่งนอนหงาย นอนตะแคง ไม่มีการนวดในท่านอนคว่ำ เมื่อนวดเสร็จก็จะใช้การประคบตาม

โรคอาการที่สามารถใช้การนวดเพื่อการบำบัดและการรักษา

  1. ปวดศีรษะจากความเครียด
  2. ปวดต้นคอ
  3. ปวดบ่า- ไหล่จากการทำงาน เคล็ดกล้ามเนื้อทั่วไป
  4. ปวดหลังปวดเอวจากการทำงาน
  5. ปวดขัดยอกสะโพก
  6. ปวดแขนจากการทำงาน
  7. ปวดข้อศอกข้อมือจากการทำงานหรือการออกกำลังกาย เคล็ดขัดยอก
  8. ปวดขาจากการทำงาน ยืน เดินมาก
  9. ปวดเข่า แต่ไม่ใช่ข้ออักเสบติดเชื้อ

10.ปวดข้อเท้า ข้อเท้าแพลง แต่ไม่มีการบวมอักเสบ

นอกจากนี้ยังมีโรคที่สามารถบำบัดด้วยการนวดไทยได้อีกหลายโรค เช่น ไหล่ติด นิ้วไกปืน ฯลฯ แต่ต้องรับบริการเฉพาะจากผู้ที่มีความรู้ความชำนาญเฉพาะด้านเท่านั้น และในการนวดทั่วๆ ไปจะมีข้อห้าม ข้อควรระวัง เช่น อาการปวดที่มีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น บวมแดงร้อน กระดูกแตกหักเคลื่อน ฯลฯ

 

ข้อมูลจากคอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.