ปล่อยปลา

ปล่อยปลารักษาโรคใจ

ปล่อยปลา

ปล่อยปลา รักษาโรคใจ ….. สืบเนื่องจากตำนาน

มีเรื่องเล่าในทางพุทธศาสนาค่ะว่าในสมัยพุทธกาลนั้น มีสามเณรรูปหนึ่งซึ่งเป็นศิษย์ของพระสารีบุตร ถึงคราวจะมรณภาพภายในเจ็ดวัน พระสารีบุตรทราบดีจึงเรียกมาบอกให้ทราบ และแนะนำให้ไปลาญาติโยมเสียให้ทั่วก่อนจะลาโลก สามเณรเมื่อได้ฟังก็เชื่อและปฏิบัติตาม ระหว่างเดินทางได้พบปลาตกคลักอยู่ในสระที่น้ำแห้ง พลันเกิดความสงสารปลาเหล่านั้น จึงจับไปปล่อยในแม่น้ำ

จากนั้นก็เดินทางไปลาญาติโยมจนทั่ว ครั้นอยู่มาจนครบเจ็ดวันกลับไม่มีอาการว่าจะสิ้นอายุขัย พระสารีบุตรแปลกใจเป็นอย่างมาก สามเณรจึงเล่าเรื่องราวทั้งหมดให้พระอาจารย์ฟัง พระสารีบุตรก็แจ้งใจว่าที่สามเณรรอดจากความตายได้เพราะผลบุญที่ปล่อยปลานั่นเอง

เรื่องเล่านี้แสดงให้เห็นอานิสงส์ของการปล่อยปลา และเชื่อว่าเป็นต้นตำนานที่เกิดประเพณีปล่อยปลาขึ้น

จากความเชื่อตามตำนานทำให้เราซึ่งเป็นชาวพุทธถือปฏิบัติเป็นประเพณี เมื่อถึงวันสงกรานต์อันเป็นวันเริ่มศักราชใหม่แบบไทย เราจึงมักทำบุญด้วยการปล่อยปลาเพราะเชื่อว่า การให้ชีวิตเป็นกุศลที่ยิ่งใหญ่Ž และสอดคล้องกับหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาที่ว่าด้วยเรื่องศีล 5 ในศีลข้อแรกว่า

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิŽ คือการละเว้นจากการฆ่าสัตว์

ความเชื่อนี้จึงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน และนอกจากจะมีการปล่อยปลาในเทศกาลสงกรานต์แล้ว เรายังนิยมทำกันในวันเกิด โดยมีความเชื่อที่ว่า หลังจากทำบุญแล้วก็มักจะทำทานด้วยการปล่อยสัตว์ พระมหากษัตริย์และเจ้านายของเราทุกพระองค์ก็ทรงปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่างโดยทรงบำเพ็ญทานด้วยการปล่อยปลาในโอกาสคล้ายวันพระราชสมภพและคล้ายวันประสูติเพื่อบำเพ็ญทานบารมี เพื่อแพร่ขยายพันธุ์ปลา และคืนความสมดุลให้กับระบบนิเวศวิทยา

ปลาŽ ถือว่ามีความสำคัญต่อระบบนิเวศวิทยาในฐานะเป็นผู้บริโภคระดับแรก (Primary Consumer) ที่กินพืชเป็นอาหารเรียกว่า สัตว์กินพืช (Herbivore) เมื่อมีการปล่อยปลาลงในแหล่งน้ำ ปลาจะกินแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) สาหร่ายหรือพืชน้ำอื่นๆ จึงถือว่าปลาเป็นผู้บริโภคที่สำคัญมาก เพราะหากไม่มีผู้บริโภคระดับนี้สิ่งมีชีวิตอื่นๆ จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้การปล่อยปลาจึงเป็นการช่วยรักษาระบบนิเวศวิทยาด้วยอีกทางหนึ่ง

ปล่อยปลา

สืบทอดความเชื่อ

การปล่อยปลาŽ ในระยะหลังนี้นิยมทำกันมากขึ้น ไม่จำกัดเฉพาะเทศกาลหรือโอกาส เพราะเชื่อว่าจะสามารถสะเดาะเคราะห์หรือแก้เคล็ดจากร้ายกลายเป็นดี

ปลาแต่ละชนิดล้วนมีความหมายแฝงอยู่ เราจึงเลือกปล่อยตามความมุ่งมาดปรารถนาได้

ปลาหมอ หมายถึง สุขภาพ ผู้ที่กำลังมีปัญหาเรื่องสุขภาพควรเลือกปล่อย และหากต้องการให้สุขภาพดีและมีโชคดีด้วยควรปล่อยปลาหมอไข่

ปลาไหล หมายถึง การเงิน การงาน และการเรียน ผู้ที่มีปัญหาในเรื่องเหล่านี้ควรเลือกปล่อย เพื่อให้ชีวิตลื่นไหลและปราศจากอุปสรรค

ปลาบู่ หมายถึง การทดแทนผู้มีพระคุณ ตามความเชื่อที่มาจากนิทานพื้นบ้านเรื่อง ปลาบู่ทองŽ

ปลาดุก หมายถึง ศัตรูคู่แข่งจะแพ้พ่าย หรือแพ้ภัยตัวเอง

ปลานางฟ้า หมายถึง การพบเจอสิ่งดีๆ ในชีวิต

ปลาทับทิม หมายถึง ทำการใดราบรื่น โดยเฉพาะในเรื่องของความรัก

ปลาสวาย หมายถึง เงินทองที่ใช้จ่ายคล่องตัว ไม่ขาดมือ

ปลาสังฆวาส หมายถึง การเป็นเจ้าใหญ่นายโต เจริญในหน้าที่การงาน

และ ปลากระสง หมายถึงประสงค์สิ่งใดสำเร็จทุกประการตามที่หวัง

ส่วนจำนวนปลาที่ปล่อยนิยมเลือกตามกำลังวันที่เราเกิด เช่น ผู้ที่เกิดวันจันทร์ควรปล่อยจำนวน 15 ตัว เพราะพระจันทร์เกิดขึ้นจากพระอิศวรนำนางฟ้า 15 องค์ แล้วร่ายพระเวท ทำให้นางฟ้าละเอียดเป็นผงและนำผ้าขาวนวลมาห่อ ประพรมด้วยน้ำอมฤต บังเกิดเป็นพระจันทร์ จึงถือว่าวันจันทร์มีกำลัง 15 ผู้ที่เกิดวันอังคารควรปล่อย 8 ตัว ผู้ที่เกิดวันพุธกลางวันควรปล่อย 17 ตัว ผู้ที่เกิดวันพุธกลางคืนควรปล่อย 12 ตัว

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

สำหรับวิธีการปล่อยปลานั้น เมื่อได้ปลาตามความหมายและจำนวนที่ต้องการแล้ว ก็จะนำปลาทั้งหมดมาอธิษฐานก่อนที่จะปล่อยลงน้ำ โดยเอ่ยชื่อ นามสกุลวันเดือนปีเกิด และอายุของตัวเอง จากนั้น

ก็อธิษฐานให้ปลาที่ได้ปล่อยจงอยู่รอดปลอดภัย และนำเอาความทุกข์ โรคภัย และเคราะห์หามยามร้ายไปจากตัวเรา หรืออธิษฐานเรื่องใดก็ได้ตามใจที่ตั้งมั่น

การปล่อยปลาจึงเป็นการบำเพ็ญศีล บำเพ็ญทาน และการอธิษฐานตั้งใจมั่นเพื่อให้เกิดพลังใจในการเผชิญกับปัญหาต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต

พลังใจรักษาโรคใจ

ทุกวันนี้เรามักเห็นภาพคนอธิษฐานปล่อยปลาตามท่าน้ำใกล้วัดหรือริมคลองอยู่เนืองๆ อาจเนื่องมาจากเรามีปัญหาในชีวิตกันมากขึ้น และบางปัญหาก็ยากเกินกว่าการแก้ไข เราจึงต้องหาที่พึ่งทางใจช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา

รองศาสตราจารย์กัญญรัตน์ เวชชศาสตร์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการปล่อยปลาว่า

การปล่อยปลาเป็นกระบวนการที่คนในสังคมเชื่อมโยงความสัมพันธ์ทางความคิดให้ออกมาเป็นรูปแบบที่อาจไปเกี่ยวข้องกับบางสิ่งบางอย่างเพื่อให้เกิดความสบายใจ เพราะมนุษย์ถูกหล่อหลอมจากวัฒนธรรม สังคม และความเชื่อ ซึ่งผนวกเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้การดำเนินชีวิตเป็นไปอย่างมีความสุข และเกิดเป็นมงคลชีวิตที่ดีงามแก่ตัวเอง

ถ้าคิดในเชิงหลักการ หลักธรรมก็มีผล เพราะสัตว์ก็มีชีวิตจิตใจ พอเราปล่อยไปก็เหมือนได้ทำกุศล ซึ่งเป็นเคล็ดของกันและกัน เหมือนกับการให้ชีวิตเพื่อชีวิตที่ดีกลับคืนŽ

ปล่อยปลา

ส่วน รองศาสตราจารย์ ดร.สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการปล่อยปลาว่า

โดยส่วนตัวคิดว่าการปล่อยปลาเป็นเรื่องของความเชื่อมากกว่าค่ะ และเป็นเหมือนตัวเสริม เพื่อให้รู้สึกสบายใจขึ้นแต่ปัญหาย่อมเกิดจากเหตุ เราจึงน่าจะไปแก้ที่ต้นเหตุโดยตรงมากกว่า แต่คนส่วนใหญ่คิดว่าจะแก้ตรงนั้นไม่ได้ คิดว่ามีอะไรที่ค้างอยู่จึงต้องหาสิ่งที่ทำแล้วเพื่อความสบายใจ ก็ช่วยได้ในส่วนของความสบายใจ แต่แก้ปัญหาไม่ได้ทั้งหมดนะคะ

และถ้าปล่อยปลาแล้วคนคนนั้นยังกลับมาคิดถึงเรื่องเดิมอยู่ เชื่อว่าปัญหาเดิมคงวนเวียนกลับมาอีก แต่ถ้าทำไปแล้วรู้สึกว่าขจัดทุกข์ไปกับสิ่งที่ปล่อย เช่นนั้นก็อาจช่วยได้มากขึ้นŽ

การปล่อยปลาคือการให้ชีวิต อันเป็นตัวแทนของความสุข และความปลอดโปร่งสบายใจ ผู้ที่ปล่อยปลามักมีจุดหมายคล้ายคลึงกัน คือเพื่อความสบายใจ ด้วยเชื่อว่าเป็นการสะเดาะเคราะห์ไปพร้อมๆ กับการสร้างกุศล

ความเชื่อนี้เป็นความเชื่อถือเฉพาะบุคคล ซึ่งถ้าใครเชื่อถือก็มักจะปฏิบัติตาม และอาจรักษาโรคใจที่แพทย์หรือยาแผนปัจจุบันไม่สามารถรักษาได้

หากใครกำลังป่วยทางใจ ควรรีบหันกลับมาดูแลจิตใจตัวเองมากขึ้นนะคะ เพราะบางครั้งโรคใจจำเป็นต้องรักษาด้วยตัวเองค่ะ

ข้อมูลจากคอลัมน์รายงาน นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.