ซับน้ำลาย แก้ปากนกกระจอก

ซับน้ำลาย แก้ปากนกกระจอก

แก้อาการ ปากนกกระจอก

รู้จักรับมือที่ต้นเหตุ     

นายแพทย์รัสมิ์ภูมิ สุเมธีวิทย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง อธิบายถึงแผลที่มุมปากหรือที่หลายคนรู้จักกันในชื่อโรค ปากนกกระจอก (Angular stomatitis  or  Angular  cheilitis) ไว้ว่าเป็นโรคแผลมุมปากที่พบได้บ่อย

เริ่มต้นจากอาการแสบๆ คันๆ และเจ็บเล็กน้อยที่มุมปากเวลาอ้าปาก ไม่ว่าจะข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง จะมีผื่นแดง ต่อมามุมปากจะมีรอยแยกแตกชัดเจนขึ้น และถ้ารุนแรงจะมีเลือดออกด้วย ซึ่งคนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าโรคนี้เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 (ไรโบฟลาวิน) เพียงอย่างเดียว ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วยังมีสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกและพบได้บ่อยมากกว่า ดังนี้

  1. ปัญหาของโรคผิวหนัง เช่น โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ในเด็ก (Atopic dermatitis) โรครังแคที่หน้า (Seborrheic dermatitis) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่พบได้บ่อยที่สุด แต่มักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น มีผื่นภูมิแพ้ตามตัว หรือผื่นรังแคที่ใบหน้าร่วมด้วย
  2. การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อรา (Candida albicans) หรือเชื้อแบคทีเรีย รวมถึงเชื้อไวรัส อย่างเริม (Herpes simplex) มักพบมีตุ่มน้ำใสเกิดที่บริเวณริมฝีปากหรือใบหน้าส่วนอื่นได้ ในบางรายที่รุนแรงอาจมีไข้ร่วมด้วย ไม่หายขาด มักเป็นๆหายๆ อยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะช่วงที่ร่างกายอ่อนแอหรือภูมิชีวิตตกต่ำอาจจะเป็นนานถึงสัปดาห์ หรือ 10 วันเป็นอย่างน้อย
  3. ผู้สูงอายุที่ไม่มีฟัน ทำให้รูปปากผิดปกติ เกิดการกดทับที่มุมปาก กลายเป็นจุดอับชื้น เมื่อน้ำลายหรือเหงื่อมาอบบริเวณนั้นมากขึ้น ก็จะเกิดเป็นแผลระคายเคืองที่มุมปาก ต่อมาอาจเกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนจากเชื้อราหรือเชื้อแบคทีเรียตามมาได้อีก ซึ่งเป็นอีกสาเหตุที่พบได้บ่อย
  4. ภาวะน้ำลายมากกว่าปกติ (Hypersalivation) เช่น คนที่พูดแล้วมักมีน้ำลายเอ่อที่มุมปาก คนที่นอนหลับแล้วน้ำลายไหลเป็นประจำ หรือเด็กบางคนที่มักมีน้ำลายมากและน้ำลายไหลตลอดทำให้เกิดการระคายเคืองของผิวหนังที่มุมปาก เกิดเป็นแผลขึ้นได้ง่าย
  5. เกิดจากการที่ริมฝีปากแห้ง เพราะชอบเลียปากเป็นนิสัยหรือจากอากาศหนาวเย็น ซึ่งพบได้บ่อยในฤดูหนาว
  6. อาการแพ้หรือระคายเคือง เช่น แพ้ลิปสติก อาหารหรือยาสีฟัน แต่มักเป็นทั้งริมฝีปาก
  7. ผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น ยากินประเภทกรดวิตามินเอ (Isotretinoin) ที่ใช้รักษาสิว ซึ่งส่งผลให้ผิวของคุณแห้งลงและเกิดแผลที่มุมปากได้ง่าย
  8. ภาวะขาดวิตามิน เกิดจากการขาดวิตามินบี 2 หรือธาตุสังกะสี มักพบเป็นทั้งสองข้าง

เมื่อทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคปากนกกระจอกกันแล้ว ทีนี้ก็เริ่มต้นรักษาที่สาเหตุกันค่ะ อย่างคนที่นอนหลับน้ำลายไหลอยู่บ่อยๆ แถมไม่เคยเช็ดน้ำลายอีกต่างหาก สาเหตุเช่นนี้คุณหมอรัสมิ์ภูมิบอกว่าแก้ไขง่ายๆ ได้ดังนี้ค่ะ

บำบัดโรคด้วยความสะอาด

ลองเริ่มต้นด้วยการหมั่นรักษาความสะอาดของปาก ริมฝีปาก และภายในช่องปากโดยเฉพาะจากน้ำลายให้เป็นนิสัย

  • ทำความสะอาดปากและฟันด้วยการแปรงฟันและบ้วนปากให้สะอาดหลังอาหารอยู่เสมอ
  • เช็ดมุมปากให้แห้งตลอดเวลา ควรพกผ้าเช็ดหน้าสะอาดๆไว้คอยซับน้ำลาย ไม่ให้เกิดการอับชื้น
  • รักษาความสะอาดของเครื่องนอน เช่น ปลอกหมอน ผ้าห่ม ตลอดจนผ้าเช็ดหน้าที่ใช้เป็นประจำ
  • หากยังไม่หายดี คงต้องกลับมาเริ่มต้นเช็คที่สาเหตุกันใหม่อีกสักครั้ง
ปากนกกระจอก

ปรับพฤติกรรมต้านโรค

ถ้าสาเหตุของโรคปากนกกระจอกที่คุณเป็นอยู่เกิดขึ้นจากสาเหตุอื่นๆ คุณหมอรัสมิ์ภูมิแนะนำให้ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางอย่างเพื่อช่วยบรรเทาอาการนี้กันค่ะ

  • ดื่มน้ำมากๆ และงดดื่มสุราและชา เพราะจะรบกวนการดูดซึมวิตามิน
  • หมั่นทาปากด้วยลิปบาล์มหรือขี้ผึ้งที่มีส่วนผสมของวิตามินอี เพราะวิตามินอีจะช่วยสมานแผลให้หายเร็วขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ผิวมีความชุ่มชื้นและยืดหยุ่นตัวดีขึ้นด้วย
  • เลิกนิสัยชอบเลียมุมปาก ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสียใหม่ จะช่วยลดโอกาสเกิดแผลมุมปากได้
  • งดใช้ผลิตภัณฑ์ที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ เช่น ลิปสติกยาสีฟัน หากสงสัยควรหยุดใช้ทันที
  • สำหรับผู้ที่มีภาวะขาดวิตามิน ควรทานอาหารที่อุดมด้วยวิตามินบี 2 ซึ่งพบมากในข้าวซ้อมมือ ปลา และผักใบเขียว สำหรับธาตุเหล็ก พบมากในธัญพืชและถั่วชนิดต่างๆ

เพิ่มภูมิชีวิตต้านเชื้อไวรัส

สำหรับโรคปากนกกระจอกที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส อย่างโรคเริม ซึ่งมีสาเหตุสำคัญมาจากภูมิชีวิตตกต่ำ ไม่ว่าจะด้วยการทำงานหนักเกินไปหรือเครียดเกินไป หรือปฏิบัติตัวผิดๆ เช่นเที่ยวดึกๆ กินอาหารไม่เป็นเวลา ในเรื่องนี้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ให้คำแนะนำง่ายๆ ไว้ดังนี้

ปากนกกระจอก
  • พักผ่อนให้มากขึ้น และรู้จักทำตัวให้หย่อนคลายสบายๆ นั่นก็คืออย่าเครียด
  • ทานข้าวกล้องและอาหารตามสูตรชีวจิต ที่สำคัญ อย่ากินพวกช็อกโกแลต กะทิ ข้าวโพดวุ้น (ขนม) แต่ให้หันมาทานปลาและถั่วเหลืองมากๆแทน
  • ใช้วิตามินซี 1,000 มิลลิกรัม วันละ 3 มื้อจนแผลหาย
  • ใช้แร่ธาตุสังกะสี (Zinc) 50 – 90 มิลลิกรัม วันละ 1 เม็ด

อาจารย์สาทิสกล่าวย้ำว่า วิธีแก้ที่ดีที่สุดเมื่อเป็นเข้าครั้งหนึ่งแล้ว รีบรักษาดูแลตัวเองให้แข็งแรง และเพิ่มภูมิชีวิตของคุณให้แข็งแรงถึงที่สุด ถ้าเป็นอย่างนี้เชื้อจะอาละวาดน้อยครั้ง หรืออาจจะไม่อาละวาดอีกเลยก็ได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 225 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.