3 กิจกรรม บำบัดสมาธิสั้น (เรื่องป่วยไม่รู้ตัวของคนทำงาน)

3 กิจกรรม บำบัดสมาธิสั้น (เรื่องป่วยไม่รู้ตัวของคนทำงาน)

แก้ไขอาการ สมาธิสั้น ด้วย โยคะ นวดไทย และการพับกระดาษ

ฉันจำได้เลือนรางว่า ตอนยังเป็นเด็ก ฉันก็เหมือนแกะดำของห้องที่มักถูกลงโทษเพราะความซุกซนไม่ตั้งใจเรียน และชอบแกล้งเพื่อนอยู่เสมอ เพราะฉันเป็นเด็ก สมาธิสั้น

ถึงวันนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยมากว่าสิบปีแล้ว แต่ฉันก็ยังคงเป็นแกะดำเหมือนเดิม นิสัยมาสายของฉันทำให้เพื่อนร่วมงานและเจ้านายเอือมระอา อีกทั้งงานที่เจ้านายมอบหมายให้ทำก็ไม่เคยเสร็จทันเวลา และบ่อยครั้งที่ฉันมักจะยับยั้งอารมณ์ไว้ไม่อยู่ จึงมักจะมีปากเสียงโต้เถียงอย่างรุนแรงกับเพื่อนร่วมงานเป็นประจำ

…ฉันอยากลาออกจากงานและหนีไปจากสังคมนี้ให้พ้นๆ

จะมีหนทางไหนบ้างที่จะช่วยเปลี่ยนแกะดำอย่างฉัน…ใครรู้ช่วยบอกฉันที

สมาธิสั้น

สาเหตุสมาธิสั้น

สมาธิ คือ การที่คนคนหนึ่งสามารถคัดเลือกได้ว่าจะจดจ่อหรือสนใจกับสิ่งใด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่มีสิ่งเร้ามากมายปรากฏขึ้นรอบตัว เช่น ขณะนั่งทำงานอยู่และมีเสียงแตรรถดังขึ้นหรือมีคนคุยกันอยู่ข้างๆเป็นต้น

แพทย์หญิงอังคณา อัญญมณี จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นโรงพยาบาลมนารมย์ อธิบายว่า อาการสมาธิสั้นในคนวัยทำงานนั้นเกิดได้จาก 2 สาเหตุ คือ

  1. โรคที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก คือ กลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก (ก่อนอายุ 7 ขวบ) ได้แก่ อาการขาดสมาธิ อาการหุนหันพลันแล่น วู่วาม และซุกซน อยู่ไม่นิ่ง ซึ่งเกิดจากความผิดปกติของสมอง และมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคม
  2. ภาวะที่ไม่ใช่โรค แต่เป็นลักษณะของคนที่ไม่ค่อยมีสมาธิซึ่งอาจเกิดจากวิถีชีวิตที่ต้องรวดเร็วทันสมัยและทันใจไปทุกอย่างหรืออาจเกิดจากการที่คนคนหนึ่งต้องแบกภาระหลายอย่างทั้งเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว จนทำให้ไม่สามารถจัดลำดับความสำคัญของภาระต่างๆ ได้

อาการสมาธิสั้นจากทั้งสองสาเหตุ นอกเหนือจากการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรมแล้ว ยังอาจลองเลือกใช้กิจกรรมบำบัดที่คุณสนใจ เพื่อสร้างสมาธิ ฟื้นฟูกำลังกายกำลังใจให้ก้าวข้ามผ่านโรคนี้ไปได้ ดังต่อไปนี้ค่ะ

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

กิจกรรมบำบัด 1 สมาธิดีจากภายในสร้างได้ด้วย…โยคะ

การฝึกโยคะเป็นการฝึกให้จิตอยู่กับลมหายใจเข้า – ออกและการเคลื่อนไหวของร่างกายที่ต้องทำอย่างมีสติ จิตจะสงบนิ่งไม่ฟุ้งซ่านไปถึงเรื่องต่าง ๆ ระบบประสาทและสมองก็จะผ่อนคลาย

สมาธิสั้น

วิธีการหายใจแบบโยคะ

  1. นั่งท่าดอกบัวชั้นเดียวแบบสบายๆ คว่ำฝ่ามือวางบนเข่าทั้งสองข้าง
  2. หลับตาเบาๆ จิตสงบนิ่งและเป็นสมาธิ
  3. หายใจออกอย่างช้าๆ โดยเริ่มบีบหน้าท้องให้ค่อยๆ ยุบเมื่อหมดลมหายใจออกแล้วท้องจะยุบ
  4. กลั้นลมหายใจ นับ 1 – 4
  5. หายใจเข้าอย่างช้าๆ ในขณะที่หายใจเข้า ท้องเริ่มพองขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับสูบลมเข้าในลูกโป่งหายใจเข้าจนเต็มปอด
  6. เมื่อลมหายใจเต็มปอดแล้ว กลั้นลมหายใจ นับ 1 – 4
  7. ค่อยๆ หายใจออกอย่างช้าๆ หน้าท้องค่อยๆ ยุบลง
  8. กลั้นลมหายใจ นับ 1 – 4
  9. ค่อยๆ หายใจเข้าอย่างช้าๆ หน้าท้องค่อยๆ พองขึ้น
  10. กลั้นลมหายใจ นับ 1 – 4
  11. ฝึกการหายใจเช่นนี้ 3 รอบ (หายใจออก – กลั้นหายใจ หายใจเข้า – กลั้นหายใจ คิดเป็นหนึ่งรอบ)

กิจกรรมบำบัด 2  นวดไทย สุขสัมผัสบำบัดโรค

คุณปรีดา ตั้งตรงจิตร โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) เล่าว่า การนวดไทยเป็นศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับเส้นประธานสิบ ซึ่งเป็นเส้นที่ควบคุมระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังนั้นเมื่อเส้นประธานเกิดพิการหรือผิดปกติจึงทำให้เราเกิดโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ รวมถึงอาการก้าวร้าว ซุกซน หรือซึมเศร้า ซึ่งเป็นอาการที่พบได้ในเด็กออทิสติก และผู้ที่มีอาการสมาธิสั้น มักเกิดจากความผิดปกติของเส้นประธานสิบที่มีชื่อว่า อิทา และ ปิงคลา ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบสมอง ซึ่งหากผู้ป่วยได้รับการนวดอย่างถูกวิธีจะมีส่วนช่วยบำบัดอาการดังกล่าวได้อีกทางหนึ่ง

ขั้นตอนการนวดมีดังนี้

  1. เริ่มจากท่านอนหงาย โดยเริ่มนวดจากฝ่าเท้า ซึ่งเป็นส่วนที่ไกลหัวใจมากที่สุด เพื่อให้เลือดหมุนเวียนได้ดี ไล่มาที่ส่วนขาเปิดประตูลม เรื่อยมาถึงแขนและมือ
  2. ท่านอนตะแคง เริ่มนวดจากขาด้านในและด้านนอกทั้งสองข้าง มาที่สะโพก หลัง บ่า ก่อนจบที่แขนและมืออีกครั้ง
  3. ท่านอนคว่ำ เริ่มนวดจากบริเวณส่วนขาด้านหลัง สะโพกหลัง บ่า และหัวไหล่
  4. กลับมาท่านอนหงายอีกครั้ง ครั้งนี้ใช้ท่าดัด เริ่มตั้งแต่ดัดนิ้วเท้า ข้อเท้า หลังเท้า จากนั้นจึงค่อยๆ ดัดที่ขา เข่าข้อสะโพก ตามด้วยเอวเป็นลำดับสุดท้าย
  5. ท่านั่ง เริ่มจากนวดบริเวณศีรษะ ไล่ลงมาที่คอ บ่า ไหล่และจบที่ขา

การนวดทั้งห้าขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 20 นาที โดยผู้นวดควรเป็นผู้ที่มีความรู้หรือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการนวดไทย

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

กิจกรรมบำบัด 3 โอริงามิ กระดาษมหัศจรรย์

โอริงามิ (Origami) หรือ การพับกระดาษแบบญี่ปุ่น เป็นศาสตร์เก่าแก่ที่มีมานานหลายร้อยปีแล้ว ที่จะช่วยสร้างสมาธิและความเพลิดเพลินได้อย่างไม่รู้จบ เพียงแค่หนึ่งชั่วโมงหลังจากที่ฉันได้ไปเรียนรู้และพูดคุยกับกูรูนักพับกระดาษอย่าง ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ ก็เกิดคันไม้คันมือ อยากลองพับกระดาษขึ้นมาทันที

สมาธิสั้น

เมื่อมือทั้งสองของคุณค่อยๆ บรรจงพับกระดาษสรรค์สร้างเป็นโมเดลต่างๆ จะเกิดผลดีดังนี้ค่ะ

  1. เราใช้สองมือพับกระดาษ นั่นเท่ากับว่าสมองทั้งสองซีก ทั้งซ้ายและขวาได้ทำงาน
  2. เราใช้สายตาจดจ้องกับต้นแบบ นั่นเท่ากับว่าคุณต้องมีสมาธิเวลาพับ
  3. แต่ละโมเดลของโอริงามิเป็นการพับที่มีขั้นตอนชัดเจนตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งเป็นการช่วยฝึกให้เรารู้จักทำงานอย่างมีแบบแผนขั้นตอน โดยไม่ถูกจำกัดความคิดสร้างสรรค์
  4. โอริงามิเหมาะสมกับคนทุกเพศทุกวัย เพราะโอริงามิมีโมเดลที่เหมาะกับวัยต่างๆ
  5. การเปลี่ยนกระดาษแผ่นแบนๆ เป็นโมเดลสองมิติหรือสามมิติเป็นการลงทุนที่น้อยมาก
  6. เป็นเครื่องมือสร้างความสัมพันธ์ โดยเราอาจถ่ายทอด แบ่งปันวิธีการพับกระดาษให้เพื่อนร่วมงาน ลูกหลานในครอบครัวหรือคนอื่นๆ รอบข้างที่สนใจ

โอริงามิจึงเป็นมหัศจรรย์ความสุขที่เกิดจากกระดาษแผ่นบางๆ แต่ทรงพลังในการช่วยฝึกสมาธิ สร้างจินตนาการ และพัฒนาสมอง

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 291

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.