ผายลม, ตด, กลิ่นตด

“ตด” บอกสุขภาพ

นอกจากตดจะเกิดเพราะความเจ็บป่วยแล้ว ตดยังเกิดจากพฤติกรรมต่างๆ ของเราด้วย โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ดังนี้

1. อาหารกระตุ้นการตดทั้งเหม็นและบ่อย

หากคุณสวาปามเนื้อสัตว์ปริมาณมากหรือกินอาหารที่มีกากใยน้อย ย่อมทำให้แบคทีเรียตัวร้ายที่สร้างแก๊สพิษเติบโตได้ดีในลำไส้ใหญ่ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดตะกรันของอุจจาระค้างปีหลงเหลืออยู่ในลำไส้ใหญ่มาก เนื่องจากอาหารประเภทนี้ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยนานถึง 72 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ทำให้เกิดการหมักหมมจนเกิดแก๊สพิษหรือตดร้าย ที่มาทั้งเสียงและกลิ่นเหม็น

นอกจากนี้ อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง ได้เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ในบทความ “ตด” (ใครคิดว่าไม่สำคัญ) จากหนังสือ “ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต เล่ม 4” ไว้ว่า

“อาหารอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งฝรั่งเรียกกันว่ากลุ่ม “ถั่วพายุ” (windy pulses) คืออาหารที่กินแล้วทำให้เกิดพายุในท้อง ตัวอย่างเช่น ถั่วแห้งต่างๆ กะหล่ำปลี ดอกกะหล่ำ หัวหอม และแถมด้วยอาหารประเภทอื่นๆ เช่น แอ๊ปเปิ้ลดิบ ขนมปังสด ช็อกโกแลต กาแฟ แตงกวา อาหารทอด ผักกาดแก้ว ขนมหวานเมอแรง ถั่วลิสง ไช้เท้า และครีม (นม) ปั่น เป็นต้น

“นอกจากนั้นยังมีพวกอาหารประเภทแป้งขาวผสมน้ำตาล (ขนม) หรือถ้าขนมพวกนี้ผสมกับพวกโปรตีนเข้าด้วย อย่างเช่น ไข่หวาน อย่างนี้ละก็ เกิดเรื่อง ‘ลม’ ใหญ่แน่ๆ เฉพาะพวกโปรตีนจากพืชนั้น (ถั่วต่างๆ ถั่วลิสง มะม่วงหิมพานต์ เป็นต้น) ส่วนมากไม่ย่อยในกระเพาะอาหาร แต่จะไปย่อยในลำไส้เล็ก เมื่ออาหารประเภทถั่วเคลื่อนเข้าสู่สำไส้เล็ก น้ำย่อยจากตับ (น้ำดี) และน้ำย่อยจากตับอ่อนจะต้องถูกขับเพื่อไปย่อยถั่วเหล่านี้

“ถ้าน้ำดีและน้ำย่อยจากตับอ่อนมีน้อยหรือถูกขับออกไปช้า พวกถั่วก็จะย่อยไม่หมด เมื่อเคลื่อนเข้าสู่ส่วนปลายลำไส้หรือเคลื่อนเข้าสู่ลำไส้ใหญ่ก็จะเป็นกากอาหาร ซึ่งไม่ย่อยอีกต่อไปแล้ว คราวนี้แหละครับ ‘ลม’ ที่ออกมาจะมีทั้งเสียงทั้งกลิ่นเหม็นน่าดูทีเดียวแหละครับ”

 

2. พฤติกรรมกระตุ้นตด ตัวอย่างที่มักเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของใครหลายคน เช่น

  • เคี้ยวอาหารไม่ละเอียด การกินเร็วๆ ไม่เคี้ยวอาหารอย่างละเอียด ผลที่ตามคือ อาหารย่อยไม่หมด และทำให้ท้องอืด หรือบางทีท้องไม่ทันอืด ปากก็เรอออกมาเสียก่อน
  • สุขภาพของฟัน เช่น ผู้สูงอายุที่ฟันไม่ดี ทำให้บดเคี้ยวอาหารไม่ละเอียดได้เช่นกัน
  • พูดมากหรือเคี้ยวหมากฝรั่ง ทำให้ต้องกลืนลมเข้าท้องในปริมาณมาก
  • ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายมีผลอย่างมากต่อการขับถ่ายและการผายลม เนื่องจากการผายลมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการบีบตัวของลำไส้ใหญ่ ซึ่งการทำงานของลำไส้ใหญ่ก็มักจะเป็นไปตามการเคลื่อนไหวของร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายแบบแอโรบิกและรำกระบอง

 

เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายแล้ว สิ่งสำคัญคือไม่ควรปล่อยหรือละเลยสัญญาณเตือนจากร่างกายต่อไป โดยเฉพาะ “ตดร้าย” ที่มาทั้งเสียงและกลิ่นอันร้ายกาจ แถมยังปวดท้องอยู่เป็นประจำ อย่างนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติอย่างแน่แท้

เพราะนั่นหมายความว่าคุณป่วยแล้ว ต้องรีบแก้ไขด่วนค่ะ

 

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 234


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ป้องกันลำไส้อักเสบ ภูมิคุ้มกันตก

ท้องผูก แน่นท้อง ลำไส้แปรปรวน โพรไบโอติกช่วยได้

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.