ร้อนชื้น

4 โรคเสี่ยง ที่มากับอากาศร้อนชื้น

อากาศ ร้อนชื้น

เดือนนี้เริ่มมีฝนโปรยปรายลงมาแล้ว แต่อากาศก็ยังคง ร้อนชื้น อบอ้าวอยู่ งสภาวะเช่นนี้อาจทำให้เชื้อโรคบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี และก่อให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ ตามมา

สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลโรคและอาการผิดปกติจากสภาพอากาศร้อนและมีความชื้นไว้ดังนี้

1. กลิ่นตัว หากเราเคยเดินตามคนที่มีเหงื่อออกมากๆ คงไม่ต้องบรรยายว่ากลิ่นเหงื่อมนุษย์นั้นเป็นอย่างไร ความจริงเหงื่อที่ออกใหม่ๆ นั้นไม่มีกลิ่น สังเกตจากเวลาอาบน้ำใหม่ๆ แล้วมีเหงื่อออก ตัวเราจะไม่เหม็น หรือเวลาวิ่งรอบสวนลุมพินีสัก 2-3 รอบจนเหงื่อท่วมตัว ตัวเราก็ไม่เหม็นเช่นกัน

แต่พอนั่งไปสักพักใหญ่ๆ จะสังเกตว่าตัวเราเริ่มมีกลิ่นไม่ค่อยดี นั่นเป็นเพราะแบคทีเรียซึ่งอยู่บนผิวหนังไปทำปฏิกิริยากับสารบางชนิดในเหงื่อของเราจึงทำให้เกิดกลิ่น โดยเฉพาะรักแร้และในร่มผ้า เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีต่อมเหงื่อชนิดพิเศษ

กลิ่นตัว

นอกจากนี้ การอยู่ในสภาพอากาศร้อนและอับชื้นจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียตามส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ง่ายขึ้น เช่น รักแร้ ฝ่าเท้า ซอกนิ้วเท้า โดยเฉพาะบริเวณฝ่าเท้าทำให้ฝ่าเท้ามีรูพรุนเล็กๆ (Pitted Keratolysis) ซึ่งจะทำให้เท้ามีกลิ่นรุนแรง

2. โรคกลาก เป็นโรคผิวหนังที่เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง เชื้อราโรคกลากนั้นชอบความอับชื้น อวัยวะส่วนใดก็ตามที่มีความอับชื้นพอเหมาะ เชื้อราโรคกลากจะเจริญเติบโตทันที เพราะฉะนั้นจึงพบเชื้อราโรคกลากบ่อย ๆ บริเวณขาหนีบ ฝ่าเท้า และซอกนิ้ว

นอกจากนี้ยังพบเชื้อราโรคกลากบริเวณหนังศีรษะที่เราเรียกกันว่า “ชันนะตุ” หากเป็นที่ขาหนีบจะเรียกว่า “สังคัง” ส่วนที่เท้าจะเรียกว่า “ฮ่องกงฟุต”

โรคกลากจะมีอาการคัน ผิวหนังเป็นผื่นรูป “วงแหวน” ฝรั่งจึงเรียกโรคนี้ว่า “Ringworm”

คลิกเพื่ออ่านหน้าถัดไป

3. โรคเกลื้อน เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่งซึ่งเป็นเชื้อราที่อยู่บนผิวหนังของเรา เชื้อราโรคเกลื้อนชอบความมันและอากาศร้อนดังนั้นเมื่อเหงื่อออก ผิวมีความมันมากขึ้น เชื้อราประเภทนี้จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยจะทำให้ผิวเป็นผื่นลักษณะวงกลม มีหลายสี เช่น สีขาว ชมพู น้ำตาล ม่วง เทา แต่ไม่มีอาการแสบและคันเหมือนโรคกลาก

สำหรับคนไทยจะพบเกลื้อนลักษณะสีขาวที่เรียกกันว่า “เกลื้อนดอกหมาก” พบมากบริเวณหน้าอกและหลัง

4. ผิวหนังอักเสบ พบมากในเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ โดยจะมีผื่นขึ้นบริเวณข้อพับศอก ข้อพับเข่า เกิดจากมีเหงื่อออกมาก ถูกแสงแดดจัด หรืออยู่ในสภาวะอับชื้น ซึ่งจะทำให้มีอาการคันยุบยิบ หลายคนอาจเรียกว่าอาการ “แพ้เหงื่อ”

นอกจากนี้ยังพบผิวหนังอักเสบที่เกิดจากการถูกแสงแดดจัด ๆ ที่เรียกว่า “Seborrheic Dermatitis” ซึ่งในปัจจุบันคนทั่วไปเรียกว่า “Sebderm” ผื่นชนิดนี้มักอยู่บริเวณร่องข้างจมูกหว่างคิ้ว หน้าหู หลังหู และบางคนเกิดร่วมกับรังแค

ผื่นชนิดนี้อาจมีอาการเห่อมากขึ้นเมื่อได้รับแสงแดดจัดทำให้ผู้ป่วยบางรายได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคลูปัส หรือ “โรคพุ่มพวง” ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับแสงแดดโรคหนึ่ง

หากหมั่นรักษาความสะอาดของร่างกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ก็จะช่วยป้องกันโรคผิวหนังได้ค่ะ

ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 377 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.