ลดความอ้วนด้วยโยเกิร์ต

6 เคล็ดลับ ลดความอ้วนด้วยโยเกิร์ต

6 เคล็ดลับ ลดความอ้วนด้วยโยเกิร์ต

ลดความอ้วนด้วยโยเกิร์ต น้ำหนักลดไว ทันใจ ได้ง่ายๆ หากรู้จักเคล็ดลับในการเลือกซื้อ และวิธีกินโยเกิร์ตอย่างเหมาะสม ดังนี้ค่ะ

  1. อ่านฉลาก ดูน้ำตาลก่อนกิน

เพราะน้ำตาลเป็นสาเหตุหนึ่งของความอ้วน ก่อนซื้อโยเกิร์ตจึงควรคำนึงถึงปริมาณ

น้ำตาลเป็นอันดับแรก

โยเกิร์ตที่วางขายตามท้องตลาด 1 ถ้วย หนัก 140 กรัม มีปริมาณน้ำตาลตั้งแต่ 6 – 27

กรัม หากอ่านฉลากโภชนาการ และสังเกตโยเกิร์ตหลากหลายรสชาติให้ดี จะพบว่าโยเกิร์ตรสธรรมชาติมีปริมาณน้ำตาลต่ำสุด ส่วนโยเกิร์ตที่ปรุงแต่งกลิ่นรสต่างๆ เช่น รสผลไม้ จะมีปริมาณน้ำตาลสูง

เพื่อความมั่นใจควรเปรียบเทียบปริมาณน้ำตาลในโยเกิร์ตก่อนซื้อโดยอ่านจากกรอบข้อมูลฉลากโภชนาการข้างถ้วย แนะวิธีอ่านปริมาณน้ำตาลเป็นช้อนชาโดยนำตัวเลขปริมาณน้ำตาล (กรัม) หารด้วย 5 จะทราบว่าโยเกิร์ตถ้วยนี้มีปริมาณน้ำตาลกี่ช้อนชา (คำนวณจากน้ำตาล 1 ช้อนชาหนัก 5 กรัม) เช่น ในฉลากแสดงปริมาณน้ำตาล 25 กรัม แสดงว่าในโยเกิร์ตถ้วยนี้มีปริมาณน้ำตาลมากถึง 5 ช้อนชา

  1. เลือกโยเกิร์ตที่มีวิตามินดีสูง

วิตามินดีสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียม ฉะนั้นหากโยเกิร์ตมีแคลเซียมสูง แต่ร่างกาย

ได้รับวิตามินดีน้อย ร่างกายจึงไม่สามารถดูดซึมแคลเซียมไปใช้ได้และทำให้ไม่ได้รับแคลเซียมเพียงพอที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ระบบเผาผลาญและลดน้ำหนัก

ปัจจุบันจึงมีการพัฒนาโยเกิร์ตเสริมวิตามินดีเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้บริโภค

ซึ่งสามารถเลือกซื้อได้โดยสังเกตข้อความที่ระบุบนฉลากว่า มีวิตามินดีสูง หรือ วิตามินดีพลัส

            แม้ไม่เลือกกินโยเกิร์ตเสริมวิตามินดี ก็สามารถเสริมวิตามินดีเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากได้ง่ายๆ เพียงตื่นแต่เช้า ขยับแขนขา รับแสงแดดยามเช้าตั้งแต่เวลาประมาณ  6.00 น.-10.00 น. หรือออกกำลังกายรับแสงแดดยามเย็น ตั้งแต่เวลา 16.30 น.-18.00 น.เป็นประจำทุกวัน เพียงเท่านี้ก็สามารถเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมจากโยเกิร์ตและอาหารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้

ติดตามเคล็ดลับต่อได้ ในหน้าถัดไป

  1. เติมเมล็ดแฟลกซ์ (Flaxseed) ในโยเกิร์ต

เมล็ดแฟลกซ์ หาซื้อได้ทั่วไปตามร้านขายอาหารสุขภาพ มีลักษณะคล้ายเมล็ดงา มีใย

อาหารสูง 1 ช้อนโต๊ะ มีใยอาหารมากถึง 2 กรัม คิดเป็น 8 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใน 1 วัน

เมล็ดแฟลกซ์สามารถดูดซับน้ำและพองตัวได้ดี ทำให้รู้สึกอิ่มนานขึ้น ทั้งช่วยเพิ่มปริมาณอุจจาระ ทำให้อุจจาระอ่อนตัว ช่วยเร่งให้ของเสียถูกขับถ่ายออกจากร่างกายเร็วขึ้น ทั้งช่วยควบคุมระดับคอเลสเตอรอลโดยขัดขวางการดูดซึมของน้ำดี และยังเป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์สุขภาพในโยเกิร์ตอีกด้วย จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการลดระดับไขมันในเลือดและเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันไปพร้อมกัน

นอกจากนี้สามารถเพิ่มใยอาหารในโยเกิร์ตด้วยวิธีอื่น เช่น หั่นผลไม้สดเป็นชิ้นเล็กๆ กินพร้อมกับโยเกิร์ต หรือจะแช่แข็งผลไม้ก่อนเติมลงในโยเกิร์ตก็ได้เช่นกัน

  1. กินโยเกิร์ต 3 ถ้วย

เน้นว่าควรกินโยเกิร์ตร่วมกับการควบคุมพลังงานในอาหาร การลดน้ำหนักจึงจะ

ประสบผลสำเร็จ

โยเกิร์ตช่วยลดน้ำหนักได้จริง ยืนยันโดยมหาวิทยาลัยเทนเนสซี (University of Tennessee) ประเทศสหรัฐอเมริกา ทีมวิจัยแบ่งอาสาสมัครออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกกินโยเกิร์ตไร้ไขมัน (fat-free yogurt) วันละ 3 ถ้วย (170 กรัม) ได้รับแคลเซียมประมาณ 1,100 มิลลิกรัม ส่วนกลุ่มที่ 2 ให้กินอาหารชนิดอื่นซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์จากนม ได้รับแคลเซียมวันละ 400-500 มิลลิกรัม ทั้งนี้อาสาสมัครทั้งสองกลุ่มได้รับคำแนะนำให้ลดการกินอาหาร เพื่อลดพลังงานลงจากเดิม 500 กิโลแคลอรีร่วมด้วย

หลัง 12 สัปดาห์ กลุ่มที่กินโยเกิร์ต ลดน้ำหนักได้มากกว่าอีกกลุ่ม 22 เปอร์เซ็นต์ ไขมันในร่างกายลดลงมากกว่า 61 เปอร์เซ็นต์ และที่น่าสนใจคือสามารถช่วยลดไขมันบริเวณหน้าท้องได้มากกว่าถึง 81 เปอร์เซ็นต์

นักวิจัยอธิบายว่า แคลเซียมและโปรตีนในโยเกิร์ตมีส่วนสำคัญในการเผาผลาญและขจัดไขมันส่วนเกิน จึงช่วยลดน้ำหนักและไขมันตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย

ติดตามเคล็ดลับต่อได้ ในหน้าถัดไป

  1. กินโยเกิร์ตเป็นมื้อว่าง

University of Washington in Seattle ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการทดลอง โดยให้ชายและหญิง 32 คน กินอาหารสุขภาพยอดนิยม 4 ชนิด ได้แก่ โยเกิร์ตชนิดถ้วยรสผลไม้ โยเกิร์ตพร้อมดื่มรสผลไม้ น้ำผลไม้ และนมแต่งกลิ่นผลไม้ ก่อนถึงมื้ออาหารหลักราว 4 – 5 ชั่วโมง  เพื่อทดสอบว่า อาหารชนิดใดช่วยให้อิ่มนาน และบรรเทาความหิวได้ดีที่สุด

หลังการทดลองหลายครั้ง พบว่า แม้อาหารว่างแต่ละชนิดให้พลังงานเท่ากัน แต่โยเกิร์ตชนิดถ้วยรสผลไม้และ โยเกิร์ตพร้อมดื่มรสผลไม้ช่วยให้อิ่มนานกว่า เมื่ออิ่มนาน การกินระหว่างมื้อจะลดลง ส่งผลให้สามารถควบคุมปริมาณอาหารขณะลดน้ำหนักได้ง่ายขึ้น

  1. อย่าไว้ใจโยเกิร์ตไขมันต่ำ

ฉลากไขมันต่ำมีผลด้านจิตวิทยาต่อผู้บริโภค เพราะคำว่า “ไขมันต่ำ” ทำให้รู้สึกว่า แม้จะกินมากก็ไม่ทำให้น้ำหนักเพิ่ม

            หน่วยปฏิบัติการวิจัยด้านอาหารและตราสินค้า จาก Cornell University ประเทศสหรัฐอเมริกา เตือนไม่ให้วางใจอาหารที่แสดงฉลากไขมันต่ำ เพราะผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ามีผลจูงใจให้คนกินอาหารเหล่านั้นเพิ่มขึ้นถึง 50 เปอร์เซ็นต์ และอาจกินจนได้รับพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 84 กิโลแคลอรี

ความไว้วางใจทำให้ผู้บริโภคลืมสังเกตปริมาณน้ำตาลที่ระบุบนฉลาก โดยมีหลายผลิตภัณฑ์ที่แสดงฉลากไขมันต่ำ แต่มีปริมาณน้ำตาลสูง และให้พลังงานสูง

ทางที่ดีควรอ่านฉลากโภชนาการโดยเน้นปริมาณน้ำตาล และพลังงาน ในโยเกิร์ตเป็นหลัก หากต้องเปรียบเทียบระหว่าง 2 ผลิตภัณฑ์ ควรอ่านจากกรอบข้อมูลฉลากโภชนาการข้างถ้วย และเลือก ผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำตาล และพลังงานต่ำกว่า

ข้อมูลจาก :  นิตยสารชีวจิตฉบับที่ 361

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.