นวดกดจุด

นวดกดจุด…หยุดสายตาเพลีย+กระตุ้นการมองเห็น

นวดกดจุด …หยุดสายตาเพลีย+กระตุ้นการมองเห็น

          เคยได้ยินอาการ “สายตาเพลีย”กันไหมครับ หนังสือ รอบรู้เรื่องตา โดยทีมจักษุแพทย์ โรงพยาบาลจักษุ รัตนิน อธิบายไว้อย่างละเอียดว่า

ผู้ป่วยมักเห็นภาพหรือตัวอักษรพร่าลายเป็นพักๆ นอกจากนี้อาจเกิดอาการปวดเมื่อยดวงตา ระคายเคืองตา แสบตา น้ำตาไหลและมีอาการปวดศีรษะร่วมด้วย

สาเหตุของอาการสายตาเพลียมีหลายข้อ เช่น การทำงานในที่มืดหรือมีแสงจ้าเกินไป ต้องเพ่งตัวอักษรขนาดเล็ก ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานหนักเพื่อปรับภาพให้ชัด ถูกลมหรือเครื่องปรับอากาศโกรกดวงตา รวมถึงเกิดจากความผิดปกติของดวงตาที่ทำให้กล้ามเนื้อตาต้องทำงานมากขึ้น อาทิ สายตาสั้นและสายตาเอียง สายตายาว กล้ามเนื้อตาไม่แข็งแรง ฯลฯ

นอกจากต้องปรับสภาพแวดล้อมในการทำงานให้เหมาะสมแล้ว รองศาตราจารย์ นายแพทย์  กรุงไกร เจนพานิชย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูกและข้อ…. แนะนำ วิธีกดจุดซึ่งประยุกต์มาจากท่าฤาษีดัดตนเพื่อแก้ปัญหาสายตาเพลียว่า

“ท่ากดจุดนี้ นอกจากเป็นท่าบริหารกล้ามเนื้อใบหน้าแล้ว บางจุดที่กดลงไปยังกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาทของดวงตา คล้ายหลักการนวดกดจุดสะท้อนสัญญาณ ซึ่งช่วยป้องกันการมองเห็นภาพซ้อน สายตาเพลีย ลดอาการปวดศีรษะที่เกิดจากการเกร็งของกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ และกล้ามเนื้อตา”

How to: 7 ท่ากดจุดหยุดสายตาเพลีย

          คุณหมอกรุงไกรแนะนำวิธีนวดกดจุดดังต่อไปนี้

          ท่าที่ 1 เสยผม ใช้นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนางของมือทั้ง 2  กดขอบกระบอกตาบน แล้วค่อยๆดันนิ้วทั้งสามเลื่อนขึ้นไปบนศีรษะจนถึงท้ายทอยคล้ายการเสยผม ทำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 2 ทาแป้ง ใช้นิ้วกลางทั้ง 2  กดตรงบริเวณหัวตา(โคนสันจมูก) จากนั้นดันนิ้วขึ้นไป แล้วใช้นิ้วทั้งหมด(ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) แตะหน้าผาก โดยให้ปลายนิ้วจรดกัน ลูบลงไปข้างแก้มแบบแนบสนิทจนถึงคาง ทำ 10 ครั้ง

ท่าที่ 3 เช็ดปาก ทาบมือขวาลงบนปาก กดฝ่ามือให้แน่นพอสมควร จากนั้นลากมือไปทางขวาจนสุด นับเป็น 1 ครั้ง สลับข้าง ทำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 4 เช็ดคาง วางหลังมือขวาใต้คาง จากนั้นออกแรงดันให้หลังมือชนคาง แล้วลากมือไปทางขวาจนสุด นับเป็น 1 ครั้ง สลับข้าง ทำ 20 ครั้ง

ท่าที่ 5 กดใต้คาง วางนิ้วหัวแม่มือทั้ง 2 ใต้คาง โดยให้ปลายนิ้วที่เหลือชี้ตั้งฉากกับคาง ออกแรงกดนิ้วหัวแม่มือค้างไว้ 10 วินาที แล้วเลื่อนนิ้วไปให้ทั่วใต้คางเฉพาะทางด้านหน้า (ประมาณ 5 ครั้ง)

         ท่าที่ 6 ถูหน้าและหลังหู ใช้นิ้วกลางและนิ้วชี้ของมือแต่ละข้างคีบหูไว้อย่างหลวมๆ วางนิ้วนางและนิ้วชี้แนบแก้ม ส่วนนิ้วโป้งวางไว้หลังหู  ถูนิ้วขึ้น-ลงแรงๆ นับเป็น 1 ครั้ง ทำ20 ครั้ง

ท่าที่ 7 ตบท้ายทอย คว่ำฝ่ามือแต่ละข้างปิดหู (มือซ้ายปิดหูซ้าย มือขวาปิดหูขวา) โดยวางนิ้วทั้งหมดบนท้ายทอยให้เสมอกัน สังเกตว่า ปลายนิ้วกลางทั้งสองจะจรดกันพอดี กระดกนิ้วขึ้นให้มากที่สุด แล้วตบลงบริเวณท้ายทอยพร้อมกันทั้ง 2 มือ โดยไม่ต้องยกมือออกจากหู  ทำ 20 ครั้ง

ข้อมูลเรื่องโดย : พทป.ชารีฟ หลีอรัญ คอลัมน์เรื่องพิเศษ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 426

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.