โรคหลอดเลือดสมอง

ดูแลตัวเองอย่างไร ห่างไกล โรคหลอดเลือดสมอง

ห่างไกล โรคหลอดเลือดสมอง

โรคหลอดเลือดสมอง หรือสโตรก (Stroke) คือโรคซึ่งเกิดจากความผิดปกติของหลอดเลือดในสมอง แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ โรคหลอดเลือดสมองแตก และโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน โรคนี้ทำให้เกิดอาการทางระบบประสาทอย่างเฉียบพลัน เช่น ปากเบี้ยวพูดไม่ชัด แขนขาชา อ่อนแรง เดินเซ ทรงตัวไม่อยู่ โดยเป็นอยู่นานมากกว่า 24 ชั่วโมง หรือเสียชีวิต

จะพูดเสียใหม่ว่า เจ้าโรคนี้คือตัวการของการเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ที่ทำให้คนตายทั้งเป็นก็ไม่ผิดนัก ยิ่งไปกว่านั้น โรคหลอดเลือดสมองยังเป็นโรคที่กำลังมาแรงแซงโค้งขึ้นสู่การเป็นโรคอันดับต้นๆ ที่คร่าชีวิตคนไทยทุกวันนี้

เมื่อใครก็มีสิทธิ์เป็นได้ การเรียนรู้สาเหตุ และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะเป็นโรคร้าย ก็อาจช่วยชีวิตคุณและคนที่คุณรักได้ทันท่วงที

ปัญหาอะไรบ้างที่จะเปิดประตูให้โรคร้ายนี้เข้ามาจู่โจมเราโดยไม่ทันตั้งตัว

บางปัญหาเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา เช่น “อารมณ์ด้านลบ” ไม่ว่าจะเป็นความเครียด (stress) ความหดหู่ใจ (depress) ความวิตกกังวล (anxiety) เพราะนอกจากจะกัดกร่อนสุขภาพจิตแล้ว ยังมีผลโดยตรงต่อสุขภาพเส้นเลือดสมอง นอกจากนี้การมีชีวิตที่สะดวกสบาย นั่งกิน นอนกิน ไม่สนใจทำกิจวัตรประจำวันใดๆ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขของประเทศสหรัฐอเมริกาให้คำจำกัดความว่าเป็น “silent killer” หรือเพชรฆาตรเงียบ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ป่วยเป็นสโตรกได้ สุดท้ายคือ วิถีชีวิตปัจจุบัน ทำให้คุณเสี่ยงสโตรก ไม่ว่าจะเป็นวิถีชีวิตคนทำงานแบบไนน์ทูไฟว์ ที่เวลาทำงานจำกัดให้ต้องนั่งประจำโต๊ะตั้งแต่เวลาประมาณ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น การมีชีวิตที่เร่งรีบ ทำให้ขาดการกินอาหารที่ถูกต้อง และการขาดการออกกำลังกาย

ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพที่พร้อมจะจุดชนวนให้หลอดเลือดในสมองตีบ-แตกเมื่อไหร่ก็ได้ มาเช็กกันดีกว่าค่ะว่า คุณเข้าข่ายเป็นหนึ่งในบุคคลที่เสี่ยงจะเป็นสโตรกหรือเปล่า ถ้าใช่ อย่านิ่งดูดาย นำวิธีการปรับวิถีชีวิตที่เรานำมาฝากไปใช้ทันที

อารมณ์ดีหนีสโตรก

• คุณเป็นคนที่…ทำงานภายใต้ความกดดันของเวลา คาดหวังสูง ไม่สบอารมณ์สิ่งรอบข้างเป็นประจำ ขุ่นเคือง หงุดหงิด มักโกรธ โมโห เจ็บใจ อาฆาต และพยาบาทหากคุณกำลังมีอารมณ์เช่นที่กล่าวมา คุณกำลังติดบ่วงความเครียด (stress) นายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย สถาบันประสาทวิทยา อธิบายถึงอารมณ์เครียดที่มีอิทธิพลต่อความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองว่า

“อารมณ์ด้านลบต่างๆ เช่น เครียด ตื่นเต้นตกใจง่าย โมโห วู่วาม ถ้าเป็นบ่อยๆ ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ เพราะอารมณ์เหล่านี้ ทำให้ร่างกายหลั่งสารอะดรีนาลีน ซึ่งเป็นฮอร์โมนความเครียด ส่งผลทำให้เกิดความดันโลหิตสูง ซึ่งความดันโลหิตสูงจะนำมาสู่สโตรกได้”

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ศึกษาพบว่า คนที่มีปฏิกิริยาทางร่างกายตอบสนองต่อความเครียดมาก เช่น มีอาการหัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตสูง จะมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดในสมองได้มาก

How to Fix: พยายามพาตัวเองไปอยู่ในสภาวะหรือสถานที่ที่ช่วยให้รู้สึกผ่อนคลายให้เร็วที่สุด อาจใช้เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ช่วยได้ เช่น ใช้กลิ่นหอมบำบัด (aromatherapy)

ในระยะยาวให้สร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อคนรอบข้าง ให้ความสำคัญกับคนสนิท เพราะจะช่วยลดความรู้สึกโดดเดี่ยว ซึมเศร้า เมื่อมีปัญหา นอกจากนี้ควรใช้เวลาว่างกับคนที่รักความสงบ และใช้ชีวิตอย่างสมดุล ไม่สุดโต่ง

• คุณเป็นคนที่…กลัวผิดพลาด ชอบคิดถึงอนาคต หนักใจ ร้อนใจ วุ่นวายใจในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง จิตใจไม่อยู่กับปัจจุบัน ขาดความมั่นใจ ชอบลังเลสงสัย และคลางแคลงใจ อารมณ์ดังกล่าวข้างต้น เป็นที่มาของภาวะวิตกกังวล (anxiety) การศึกษาของ San Francisco VA Medical Center ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนที่มีภาวะวิตกกังวลมักจะไม่ค่อยดูแลตัวเอง มักจะกินนอนไม่ถูกต้อง และมีแนวโน้มว่าจะสูบบุหรี่ และออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ป่วยเป็นสโตรกได้

• คุณเป็นคนที่…ชอบคิดว่าตัวเองไม่มีค่า ไม่มีเพื่อนแท้ ไร้ที่พึ่ง หงอยเหงา เปล่าเปลี่ยว หรือมักรู้สึกเบื่อ ละเหี่ยใจ เอือมระอา ห่อเหี่ยว สิ้นหวัง และหมดอาลัยตายอยาก หากความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งตามที่กล่าวมาเกิดขึ้นบ่อยๆ ความรู้สึกด้านลบดังกล่าว จะนำมาซึ่งภาวะหดหู่ใจ (depress) ซึ่งอารมณ์นี้จะทำร้ายหลอดเลือดไม่เป็นรองใครเช่นกัน ดร. โรเบิร์ต เอ็ม. คาร์นีย์ อาจารย์ด้านจิตวิทยาเวชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Washington University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าคนวัยกลางคนที่มีอาการ ท้อแท้หดหู่ มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดสมองที่อันตรายถึงแก่ชีวิตมากกว่าคนทั่วไปถึง 3 เท่า

เมื่อดูแลใจให้เข้าสู่อารมณ์ที่สมดุลแล้ว เดินหน้าไปปรับวิถีชีวิตกันต่อ เริ่มด้วยเรื่องอาหารการกินที่ถูกต้องค่ะ

หน้าถัดไป

อารมณ์ดี ป้องกันสโตรกได้อย่างไร ?

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.