ออร์แกนิก, กาละแมร์, กาละแมร์-พัชรศรี, พัชรศรี เบญจมาศ

วิถีเนิบช้า กลางทุ่งนาออร์แกนิก

ออร์แกนิก ไลฟ์ : วิถีเนิบช้า กลางทุ่งนาออแกนิค ตอนที่ 1

ออร์แกนิก ไลฟ์สไตล์ ของเธอคนนี้ คุณกาละเเมร์-พัชรศรี เบญจมาศ แบรนด์แอมบาสเดอร์ของนิตยสารชีวจิต มีเรื่องเล่าดีต่อสุขภาพมาบอกต่ออย่างสนุกสนานเสมอ คราวนี้เธอออกเดินทางสู่ทุ่งนาในอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ …จะสนุกอย่างไร ไปอ่านเรื่องนี้พร้อมกันค่ะ

เรื่องราวที่อยากมาเล่าเม้ามอยในปักษ์นี้เรียกได้ว่า เป็นประสบการณ์ที่ค่อนข้างโปรดปรานเลยทีเดียวล่ะ เพราะเมื่อไม่นานมานี้แมร์มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนไร่ออแกนิคที่สวนบัวชมพู ณ จอมคีรี อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งการขึ้นเชียงใหม่ครั้งนี้ ได้สิ่งดีๆ กลับมามากมายจนสองหน้านิตยสารก็เล่าไม่หมดแน่นอน

เริ่มมาจากโครงการผูกปิ่นโต

          คิดว่าผู้อ่านชีวจิตทุกท่านคงรู้จักโครงการ “ผูกปิ่นโต” เป็นอย่างดีแล้ว เพราะเป็นโครงการที่มีขึ้นเพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่ทำนาอินทรีย์ โดยจะเป็นคนกลางในการเชื่อมโยงระหว่างชาวนาและผู้ซื้ออย่างเราๆ เป็นการสร้างเงื่อนไขว่าเราจะกินข้าวที่เขาปลูก และเขาก็จะปลูกข้าวให้เรากินไปตลอด ตามสัญญาที่ตั้งไว้ เหมือนกับให้ผู้ผลิตเป็นเจ้าบ่าว ผู้บริโภคเป็นเจ้าสาว ส่วนตัวโครงการเป็นแม่สื่อก็ว่าได้

กาละแมร์นั้นเลยอยู่ในฐานะเจ้าสาว ที่ผูกปิ่นโตกับสวนบัวชมพู ของ คุณแหม่ม ศรัณยา กิตติคุณไพศาล ซึ่งทางคุณแหม่มได้เอ่ยปากชวนให้ลองขึ้นไปเยี่ยมที่ไร่ ที่ๆ ปลูกข้าวให้เรากิน แน่นอนว่าแมร์ก็ตบปากรับคำ เก็บกระเป๋าขึ้นเชียงใหม่อย่างไม่ลังเล อยากลองไปใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น วันสองวันก็ยังดี ที่สำคัญคือ เป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิตอีกรูปแบบให้กับตัวเองด้วย

ที่สวนบัวชมพูเป็นไร่ที่โอบล้อมด้วยขุนเขาและสายหมอก  แมร์ได้ไปอยู่ในบ้านชาวนาที่ทางไร่จัดไว้ให้ ไม่มีแอร์ ไม่มีทีวี ไม่มีเครื่องอำนวยความสะดวก เวลานอนก็กางมุ้งกันยุงกันแมลง พูดแบบนี้เหมือนลำบาก แต่ความจริงไม่ใช่เลยค่ะ พอได้ไปอยู่ตรงนั้น แล้วก็พบว่า เออ เราก็อยู่ได้นี่

ทำให้รู้สึกว่า ความจริงแล้วมนุษย์เราไม่ได้มีความต้องการการอำนวยความสะดวกมากมายเท่าไหร่เลย สิ่งที่มีให้ในสังคมเมืองบางอย่างก็ไม่ได้จำเป็น เผลอๆ ทำให้เราขาดความพยายาม และขี้เกียจขึ้นด้วย (จะปิดทีวีเรายังไม่ยอมลุกไปปิดเลยค่ะ ใช้รีโมทเอา)

เวลาที่ใช้อย่างไรก็ไม่หมด

ตอนอยู่ที่ไร่มีกิจกรรมให้ทำเยอะไปหมด ไหนจะแปลงผักผลไม้ออแกนิคที่เปิดให้เราเข้าไปเลือกเก็บแล้วนำมาช่วยกันทำอาหาร ซึ่งผลผลิตของที่นี่นอกจากแบ่งไว้กินเอง และนำไปขายแล้ว หากเหลือเยอะก็สามารถนำมาแปรรูปได้ ทำให้ที่สวนบัวชมพูมีผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเองอย่างแยมสตรอว์เบอร์รี่ โยเกิร์ต น้ำสลัด น้ำเต้าหู้ (จากถั่วเหลืองที่เกษตรกรปลูกเพื่อคลุมดิน) แมร์บอกได้เลยว่าทุกอย่างมีรสชาติดีมาก

ผักทั้งหลายหากกินสดๆ ก็หวานกรอบ และสามารถเก็บได้นาน ทำให้ค้นพบว่า พืชผักที่ปลูกโดยไม่ใช้สารเคมีนี่มันอร่อยขนาดนี้นี่เอง แถมเอาขึ้นมาจากดินแล้วกินได้เลย เรียกว่าผักยังมีชีวิตอยู่ได้เลยล่ะ พอได้กินถึงกับต้องถามตัวเองว่า แล้วที่ผ่านมาเราไปกินอะไรมา ผักที่เคยซื้อมาวันเดียวก็เหี่ยวนั้นคืออะไร นี่เรากินผักที่มีสารเคมี กินผักไร้ชีวิตมาตลอดเลยหรือนี่

นอกจากเรื่องกินๆ ที่กาละแมร์โปรดปรานแล้ว ที่ไม่เล่าไม่ได้คงเป็นกิจกรรมต่างๆ เพราะพอมาอยู่ในที่ๆ ห่างไกลเทคโนโลยี สามทุ่มแมร์ก็เข้านอนแล้วค่ะ (มันไม่มีอะไรให้ทำแล้วนั่นเอง) เลยได้ตื่นแต่เช้า ลุกขึ้นมาตอนตีห้า บ้างไปวิ่ง บ้างก็มาเล่นโยคะมันที่ไร่เนี่ยแหละ แล้วพอมีขุนเขาโอบล้อม รู้สึกได้ว่าอากาศบริสุทธิ์มากๆ ได้รับพลังของวันใหม่อย่างเต็มเปี่ยม จากนั้นก็กินอาหารเช้าที่แม่บ้านของบรรดาเกษตรกรที่นั่นอุตส่าห์ทำให้ ซึ่งใช้วัตถุดิบที่เก็บจากในไร่นั่นแหละ

ไหนจะออกไปเก็บผัก ช่วยกันทำอาหาร ปั่นจักรยาน และอีกสารพัด พอก้มลงดูเวลา พบว่ายังไม่เลยครึ่งวันเช้าเลยด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เราทำอะไรไปหลายอย่างมากๆ เวลาเหลือใช้จนสามารถมาเอนหลังนอนอ่านหนังสือ นอนดูหมอกเคลื่อนผ่านไปเรื่อยๆ ไม่ต้องทำอะไรเลย ซึ่งแมร์ไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาเรื่อยเปื่อยแบบนี้มานานมาก ตอนอยู่กรุงเทพฯ เราชินกับการทำหลายอย่าง คิดหลายสิ่งในเวลาเดียวกัน พอได้มาอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีอะไรรุมเร้า เลยรู้สึกว่าเออ จริงๆ เรามีเวลาให้ทำอะไรในแต่ละวันเยอะเหมือนกันนะ

และชีวิตในชนบทนี้ทำให้ต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมตอนอยู่ในเมือง มีเวลาเท่าไหร่ก็ใช้ไม่เคยพอ เราเสียเวลาไปกับอะไรบ้าง เล่นเฟซบุ๊ครึเปล่า จ้องแต่จอมือถือรึเปล่า นี่แหละคือความชิลล์ของคนที่นี่ที่น่าอิจฉาสุดๆ

และนี่ยังไม่ใช่ทั้งหมดของการขึ้นเหนือครั้งนี้ของกาละแมร์ ยังมีเรื่องราวและความทรงจำดีๆ อีกมากที่พอนึกขึ้นมาก็อดคิดถึงที่นั่นไม่ได้ แต่คงต้องยกยอดให้ช่วยติดตามกันในปักษ์ถัดไป ว่าประสบการณ์การปลูกป่า ดำนา วิ่งตามหาพระ(?) ในเชียงดาวของแมร์จะเป็นอย่างไร ไว้เจอกันค่ะ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.