ตัดมดลูก VS ตัดรังไข่ ตัดอันไหนแย่กว่ากัน

ตัดมดลูก VS ตัดรังไข่ ตัดอันไหนแย่กว่า

คุณหมอชัญวลี เป็นสูตินรีแพทย์ และนักเขียนที่มีผู้ติดตามผลงานมากมาย มาไขข้อสงสัยด้านสุขภาพสูตินรีเวชให้เราเสมอ เช่นเดียวกับคำถามวันนี้ “ตัดมดลูก หรือตัดรังไข่ อย่างไหนแย่กว่า”

ฟังคำตอบพร้อมกันค่ะ

Q       คุณหมอชัญวลีคะ เนื่องจากมีเพื่อนร่วมงานบางคนตัดรังไข่ บางคนตัดมดลูกบ่นถึงปัญหาสุขภาพของตนไปต่างๆ นานา ดิฉันจึงมีข้อสงสัยว่าระหว่างการผ่าตัดรังไข่กับมดลูก อย่างไหนมีผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน

A        คำถามวันนี้ตอบยาก เหมือนคำถามที่ว่า ไก่กับไข่อันไหนเกิดก่อน เพราะตอบได้ทั้งซ้ายและขวา เช่นสามารถตอบได้ว่า ตัดมดลูกแย่กว่าก็ได้ ตัดรังไข่แย่กว่าก็ได้ ตัดแล้วแย่พอ ๆ กัน หรือตัดแล้วดีพอ ๆกัน ก็ได้ เพราะไม่ใช่อวัยวะที่ทำงานเหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุการตัด และสุขภาพทั่ว ๆ ไปของแต่ละคน

ดังนั้น มาพูดเรื่องมดลูกก่อนก็แล้วกันค่ะ หลายคนเข้าใจผิด คิดว่ามดลูกมีสองข้าง เมื่อปวดท้องน้อยข้างซ้ายหรือข้างขวาจึงคิดว่าปวดมดลูก

อันที่จริงมดลูกของคนทั่วไปที่ปกติดี มีเพียง 1 ลูกลักษณะภายนอกเหมือนลูกแพร์หรือชมพู่ ที่คว่ำหัวลง ขนาดของมดลูกกว้าง X ยาว X หนา = 6 X 7 X 5 เซนติเมตร โดยประมาณ ภายในมดลูกมีโพรงที่มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับด้านบนทั้งสองข้างเชื่อมต่อกับท่อนำไข่ซ้ายและขวา ปลายท่อนำไข่ มีรังไข่อยู่

ส่วนล่างของมดลูกมีปากมดลูกยื่นเข้าไปในช่องคลอดภายในมดลูกมีโพรงมดลูกซึ่งมีเยื่อบุโพรงมดลูกซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงภายใต้อิทธิพลฮอร์โมนเพศหญิงจากการทำงานของรังไข่ หากไม่มีการตั้งครรภ์เยื่อบุมดลุกจะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือนหน้าที่ของมดลูก มีเพียงสองประการคือ

  1. สร้างประจำเดือน
  2. เป็นที่อยู่และเลี้ยงดูเด็กทารกในครรภ์

การผ่า ตัดมดลูก ออก(Hysterectomy) ต้องทำโดยมีข้อบ่งชี้หรือปัญหาสุขภาพที่ชัดเจนเป็นการผ่าตัดที่พบมากที่สุดในสตรีรองมาจากการผ่าตัดคลอด

 5 สาเหตุที่พบบ่อยในการ ตัดมดลูก มีดังนี้ค่ะ

  1. เนื้องอกธรรมดาในมดลูก(Myoma Uteri) เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุดพบมากในผู้หญิงโสดหรือไม่มีลูก เมื่ออายุ 40 ปี จะมีโอกาสเป็นโรคนี้ถึงครึ่งต่อครึ่ง แต่ไม่ได้แปลว่าเป็นเนื้องอกธรรมดาในมดลูกแล้วต้องผ่าตัดทุกราย เพราะเนื้องอกชนิดนี้ยุบได้เองเมื่อหมดประจำเดือน การผ่าตัดต้องมีข้อบ่งชี้ เช่นตกเลือดมาก ปวดท้องมาก ก้อนเนื้องอกใหญ่มาก ก้อนเนื้องอกทับอวัยวะข้างเคียง ทำให้ปัสสาวะบ่อย ไตบวมเป็นต้น
  2. เลือดออกผิดปกติจากโพรงมดลูก จากสาเหตุต่าง ๆ เช่นฮอร์โมนผิดปกติโพรงมดลูกอักเสบเรื้อรัง ฯลฯ รักษาด้วยการขูดมดลูก หรือรักษาด้วยยาแล้วอาการไม่ดีขึ้น
  3. กระบังลมและมดลูกหย่อนจนทำให้ปัสสาวะลำบาก ปวดท้องน้อย มีก้อนไปจุกที่ช่องคลอด
  4. ปวดท้องเรื้อรัง เช่นเป็นโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หรือช็อกโกแล็ตซีสต์ เป็นฝีที่ปีกมดลูก
  5. มะเร็งเช่นมะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก มะเร็งปากมดลูก

คราวนี้มาคุยกันต่อ ในเรื่องของรังไข่(Ovary)นะคะ

รังไข่ผู้หญิงมีสองข้าง ข้างซ้ายและข้างขวา ขนาดปกติ กว้าง X ยาว X หนา = 3 X 5X 3 เซนติเมตรโดยประมาณอยู่ใกล้ปากแตรของท่อนำไข่ โดยมีเอ็นยึดรังไข่ติดกับเชิงกรานและตัวมดลูก

หน้าที่ของรังไข่คือ ผลิตฮอร์โมนเพศหญิงและฮอร์โมนเพศชายเทสโตสเตอโรนในปริมาณน้อย ๆ ส่งผลให้ไข่ตก ทำให้เด็กผู้หญิงกลายเป็นสาว มีเต้านม มีขนหัวหน่าว มีระดู และมีการตั้งครรภ์

หากผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีอายุน้อยกว่า 45ปีตัดรังไข่ทั้งสองข้างจะมีผลเสียต่อสุขภาพ (แต่ถ้าตัดรังไข่ข้างเดียว ไม่มีผลต่อสุขภาพ)คือเกิดอาการวัยทองรุนแรง เช่น มีอาการร้อนวูบวาบ เหงื่อแตก นอนไม่หลับ เครียด หงุดหงิด ผิวแห้ง ช่องคลอดแห้ง กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ ไม่มีอารมณ์ทางเพศ เจ็บปวดเวลามีเพศสัมพันธ์เพราะน้ำหล่อลื่นน้อย ส่วนในระยะยาวมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจและภาวะกระดูกพรุน

 ข้อบ่งชี้ 5 ประการ ที่ต้องตัดรังไข่มีดังนี้

  1. เป็นเนื้องอกธรรมดาในรังไข่แม้ไม่ใช่มะเร็ง แต่เนื้องอกเหล่านี้มักมีขนาดใหญ่ ทำให้ปวดท้อง แน่นท้องหรือบางทีเกิดภาวะแทรกซ้อนเช่นเนื้องอกบิด แตก มีเลือดออก
  2. ตัดรังไข่ออกพร้อมมดลูกเมื่อมีข้อบ่งชี้ที่ต้องผ่าตัดมดลูก ในผู้หญิงที่อายุเกิน 51 ปี แพทย์มักจะผ่าตัดรังไข่สองข้างออกด้วย เพราะการตัดรังไข่เป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งรังไข่ที่ได้ผลดีที่สุด ปัจจุบันความเชื่อว่าเมื่อถึงวัยหมดประจำเดือน (อายุเฉลี่ย 48-51ปี)รังไข่หยุดผลิตฮอร์โมนเพศได้เปลี่ยนไป พบว่าแม้รังไข่จะหยุดผลิตฮอร์โมนเพศหญิงเมื่อเข้าสู่วัยทอง แต่รังไข่ยังผลิตฮอร์โมนเพศชายปริมาณน้อยๆ จนถึงอายุ 60-70 ปี เชื่อว่าการเก็บรังไข่ไว้ทำให้คุณภาพชีวิต โดยเฉพาะเรื่องเซ็กส์ดีกว่าตัดรังไข่ออกไป
  3. มีภาวะแทรกซ้อนของซีสต์หรื อถุงน้ำรังไข่ แม้ไม่ใช่มะเร็ง แต่ในผู้ป่วยบางรายถุงน้ำรังไข่ อาจเกิดการบิด แตก มีเลือดออก จนต้องผ่าตัดรักษา
  4. มะเร็งรังไข่การผ่าตัดเป็นการรักษาอันดับแรกของมะเร็งรังไข่ ไม่ว่าจะเป็นมากหรือน้อย หากเป็นระยะต้นใช้การผ่าตัดอย่างเดียว หากเป็นระยะหลังอาจใช้รังสีบำบัดและเคมีบำบัดร่วมด้วย
  5. โรคเยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่/ช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดมดลูกและรังไข่ซึ่งกลายช็อกโกแลตซีสต์ออกทั้งสองข้าง เป็นการรักษาโรคนี้ให้หายขาด

 สรุป การผ่าตัดมดลูกทำให้ไม่มีลูก ไม่มีประจำเดือน มีผลต่อสุขภาพน้อย แต่ก็เป็นความทุกข์ทรมานสำหรับคนอยากมีลูก การผ่าตัดรังไข่ออกสองข้างเมื่ออายุน้อยกว่า 51 ปี ทำให้มีอาการวัยทอง การผ่าตัดชนิดไหนส่งผลเสียต่อสุขภาพมากกว่ากัน หรืออย่างไหนแย่กว่ากัน จะเอามาเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะการผ่าตัดทั้งหลายนั้นต้องมีข้อบ่งชี้ทั้งสิ้น

ดังนั้น หากเป็นโรคร้ายแรง หรือเจ็บปวดทุกข์ทรมานมาก เช่นโรคมะเร็งรังไข่ โรคช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดเอารังไข่ออกสองข้างแม้ทำให้มีอาการวัยทอง แต่ทำให้หายขาด ก็ต้องนับว่าเป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างมาก ทั้งอาการวัยทอง แพทย์ก็สามารถแก้ไขได้

ได้คำตอบแล้วนะคะว่า ตัดมดลูก หรือตัดรังไข่ อย่างไหนก็มีผลดีผลเสียด้วยกันทั้งคู่ เพียงแต่ต้องพิจารณาองค์ประกอบร่วมอื่นๆ โดยละเอียดนั่นเอง

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.