รู้จัก กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนโรคเรื้อรัง

คุณหมอศัลย์ ใจยอดศิลป์ ศัลยแพทย์โรคหัวใจคนเก่ง และคอลัมนิสต์ชื่อดัง อีกทั้งยังเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต กรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก และที่ปรึกษาอนุกรรมการช่วยชีวิตของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย รวมถึงเป็นเจ้าของเพจที่มีผู้ติดตามกว่า 10 ล้านคน

วันนี้ท่านจะมาแนะนำกับเราว่า โรคร้ายส่วนใหญ่รักษาได้ ทั้งจากด้วยยา และด้วยแรงใจจากคนที่รักและเข้าใจ …กับแรงสนับสนุนของเพื่อนร่วมโรคค่ะ

            “เพื่อนช่วยเพื่อนโรคเรื้อรัง”

เห็นชื่อแล้วไม่เก็ทเลยใช่แมะ ชื่อนี่ผมตั้งให้เองแหละ จากภาษาอังกฤษว่า Group Therapy

“อ๋อ..รู้ละ แบบว่ากลุ่มบำบัดที่ทำในโรงพยาบาลมีพยาบาลนั่งหัวโด่แล้วคนไข้นั่งล้อมวงใช่ไหมละ

“ไม่ใช่หรอกครับ”

กลุ่มบำบัด (Group therapy) ซึ่งเป็นเครื่องมือในการรักษาผู้ป่วยโรคใดโรคหนึ่งโดยให้มืออาชีพเช่นพยาบาลนักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์เป็นผู้นำกลุ่มให้คนไข้นั้น ซึ่งเป็นคนละอย่างกับกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน(Group Support) ซึ่งเป็นกลุ่มคนเป็นเพื่อนกันล้วนๆไม่มีผู้มีอำนาจนอกเหนือ… เอ๊ยไม่ใช่ นอกวง (เช่นหมอหรือพยาบาล) เข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นกลุ่มของคนหัวอกเดียวกัน ถ้าเป็นก็เป็นคนไข้โรคเดียวกัน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องเป็นกันยาว..ว

 

วิธีการเกิดกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนแบบนี้มีได้สองแบบคือ

แบบที่ 1. องค์กรไม่แสวงกำไร เช่น สมาคมมะเร็ง ศูนย์สุขภาพ เป็นเจ้าภาพให้เกิดกลุ่มขึ้น อย่างที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ก็ตั้งกลุ่มขึ้นด้วยวิธีนี้ คือใครมาเข้าคอร์สสุขภาพก็จับเข้ากลุ่มซะเลย หนึ่งคอร์สก็หนึ่งกลุ่ม

แบบที่ 2. บุคคลธรรมดาเนี่ยแหละ คนใดคนหนึ่ง ที่มีปัญหาแยะและอยากจะหาพวก ก็ไปเที่ยวหาพวกที่มีปัญหาแบบเดียวกันมารวมกันเป็นกลุ่ม ไม่ขอความอุปถัมภ์จากใครก็ได้

แต่ไม่ว่าจะคลอดด้วยสูติศาสตร์หัตถการแบบไหน กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนทั้งสองแบบก็เหมือนกันตรงที่มีความ “ขลัง” หรือมี “พลัง” ที่ลำพังสมาชิกคนใดคนหนึ่งไม่อาจสร้างขึ้นได้หากอยู่คนเดียว ความขลังของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนนี้แรงถึงขนาดทำให้กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนได้เลื่อนอันดับขึ้นมาเป็นหนึ่งในสี่ปัจจัยที่จะทำให้คนเรามีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์(อาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และการได้เข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน) งานวิจัยทางสังคมวิทยาพบว่ากลไกที่ทำให้เกิดพลังนี้มีห้ากลไก คือ

  1. กลุ่มเป็นสนามให้และรับความรู้สึกเฉพาะ (Emotional support)คือสำหรับคนหัวอกเดียวกัน หรือคนมีชะตากรรมเดียวกัน จะมี “ความรู้สึกเฉพาะ (special feeling)” ที่คนหัวอกเดียวกันเท่านั้นจะรู้และจะให้แก่กันได้ คนอื่นแม้จะเป็นคนใกล้ชิดเช่นสามีภรรยาหรือพ่อแม่ หากไม่ได้มีชะตากรรมเดียวกันนี้ ก็ไม่สามารถเข้าถึงความรู้สึกเฉพาะนี้ได้ และไม่สามารถส่งมอบความรู้สึกเฉพาะนี้ให้ใครได้
  2. กลุ่มเป็นสถาบันทางใจให้สมาชิก (Sense of community) เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม (pact animal) มนุษย์จะรู้สึกมั่นคงไม่โดดเดี่ยวเมื่อในใจรู้อยู่เสมอว่าตัวเองมีพวกอยู่ (pact instinct) ความรู้สึกเช่นนี้เป็นพลังอย่างหนึ่ง เมื่อต้องมาป่วยด้วยโรคบางโรค หรือมีชะตากรรมบางอย่างที่ไม่เหมือนคนอื่น หรือกลายเป็นคนมีปมด้อยในสายตาคนอื่น กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมีกลไกที่สร้างพลังหรือความอุ่นใจและมั่นใจนี้ให้เกิดขึ้นใหม่ในตัวสมาชิกได้
  3. กลุ่มเป็นที่บ่มเพาะความบันดาลใจ (Motivation) กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมีกลไกเสริมสร้างความบันดาลใจให้สมาชิกเกิดพลังที่จะทำอะไรให้ตนเองได้สองกลไกคือ

กลไกที่ 1. สมาชิกเป็นแม่แบบ (role model) ให้สมาชิกด้วยกัน ในเชิงสังคมวิทยาการเชียร์ให้คนทำอะไรใหม่ๆที่ดีๆหรือยากๆที่มีผลสูงสุดคือการทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง หรือการเป็นแม่แบบ เมื่อสมาชิกคนหนึ่งสามารถทำอะไรสำเร็จให้เห็น ก็จะเป็นแม่แบบหรือเป็นตัวอย่างให้สมาชิกคนอื่นเกิดความฮึดหรือเกิดแรงที่จะทำตาม

กลไกที่ 2. พลังเมตตาต่อกัน เมื่อสมาชิกมารู้จักและปฏิสัมพันธ์กัน โดยธรรมชาติของการเป็นสัตว์สังคมก็จะเกิดเมตตาธรรม (kindness) ต่อกัน เมตตาธรรมนี้จะผลักดันให้เกิดความบันดาลใจสองแบบคือ ความอยากสอนซึ่งนำไปสู่การได้เรียน (teach to learn) คือเพราะอยากช่วยเพื่อนจึงพยายามสอนเพื่อน ในความพยายามสอนทำให้ได้ขวานขวายจนเกิดความรู้หรือทักษะระดับที่ลึกซึ้งขึ้น ทำให้ตัวเองแก้ปัญหาให้ตัวเองได้ดีขึ้น

แบบที่สองคือความอยากเรียนซึ่งนำไปสู่การได้สอน (learn to teach) คือเพราะเกรงใจหรืออยากจะตอบแทนเมตตาจากเพื่อนผู้หวังดีที่พยายามสอน จึงตั้งใจเรียน ในความพยายามนั้นนอกจากจะทำให้ได้ความรู้และทักษะให้ตัวเองใช้แก้ปัญหาของตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว ยังเกิดความรู้และทักษะใหม่ที่จะเอาไปสอนคนอื่นที่เราอยากช่วยเขาต่อไปได้อีก

  1. กลุ่มเป็นแหล่งเรียนรู้และฝึกทักษะ (Knowledge & skill development) กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมีบรรยากาศของการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเฉพาะเรื่องซึ่งสมาชิกล้วนมีความสนใจเพราะเป็นปัญหาร่วมของสมาชิกทุกคน ทั้งในรูปแบบของใครรู้อะไรใหม่ๆก็เอามาแชร์กัน หรือในรูปแบบของการเชิญผู้รู้จากนอกกลุ่มมาสาธิตสอนแสดงให้กลุ่มดู
  2. กลุ่มปลูกสำนึกสมาชิกว่าได้รับมอบอำนาจ (Empowerment) การได้เห็นเพื่อนคนอื่นมีความสามารถดูแลตัวเองได้ด้วยตัวเอง ทำให้สมาชิกกลุ่มที่ไม่เคยคิดว่าตนเองจะมีศักยภาพที่จะดูแลตนเองได้ เกิดความมั่นใจและตระหนักว่าตนเองนี่แหละที่จะเป็นผู้ดูแลตนเองได้ดีที่สุด ซึ่งความตระหนักอันนี้เป็นพื้นฐานสำคัญที่สมาชิกกลุ่มจะใช้เป็นพลังในการดูแลตนเองต่อไปในภายหน้า

ดังนั้นกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนนี้ไม่ใช่ขี้ไก่นะครับ ในคนไข้ฝรั่งเขาใช้มันเป็นแรงหนุนให้สมาชิกพลิกผันโรคของตัวเองสำเร็จมานักต่อนักแล้ว

 

กฎกติกาของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน

เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์

1.กฎความลับ คือเรื่องของกลุ่มเป็นความลับของกลุ่ม ห้ามโพนทะนาที่อื่น

2.กฎพูด หรือกฎเชโรกี เป็นกฎการประชุมของอินเดียนแดงเผ่าเชโรกี ซึ่งมีสาระว่าคนถือไม้อาญาสิทธิ์ (ไมค์)เท่านั้นที่จะได้สิทธิ์พูดในที่ประชุม คนอื่นต้องฟังอย่างเดียวจนเขาจะพูดจบ

3.กฎฟัง เมื่อไม่ได้สิทธิ์พูด ต้องฟัง และต้องฟังดีๆด้วย ส่งภาษากายว่าสนใจ เงี่ยหู มองหน้า สบตา เออออ ผงกหัว พูดซ้ำทวนสาระเป็นเชิงถามกลับให้คนพูดรู้ว่าเราเข้าใจถูก

4.กฎตรงต่อเวลา

5.กฎทัก คือเจอกันต้องสบตา ทักทาย เอ่ยชื่อ โอภาปราศรัย

 

ฉะนั้น ท่านผู้อ่านที่รู้สึกว่าตัวเองป่วยหรือประสบชะตากรรมอะไรสักอย่างที่จะพูดกับคนอื่นที่ไม่เคยประสบชะตากรรมนี้ก็ไม่ได้ ลองหาทางสร้างหรือไปเข้ากลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนดูสิครับ

 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.