หยุด 3 เหตุ ก่อนหัวใจจะหยุดเต้น

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านหัวใจหลอดเลือดและทรวงอก อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยปัจจุบันเป็นประธานมูลนิธิสอนช่วยชีวิต กรรมการมูลนิธิช่วยผ่าตัดหัวใจเด็ก ที่ปรึกษาอนุกรรมการช่วยชีวิตของสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย

หยุด 3 เหตุ ก่อนหัวใจจะหยุดเต้น

คุณหมอสันต์ ใจยอดศิลป์ คุณหมอใจดีที่มีแฟนเพจติดตามเรื่องราวที่ท่านถ่ายทอดกว่า 10 ล้านคนทั่วประเทศ นอกจากท่านจะเล่าเรื่องราวสุขภาพอย่างสนุกน่าติดตามแล้ว ท่านยังเป็นศัลยแพทย์หัวใจที่มีประสบการณ์มาก และวันนี้ท่านจะแบ่งปันเรื่องราวของ 3 สาเหตุที่มีแนวโน้มทำให้ผู้ป่วยโรคหัวใจเสียชีวิตได้ค่ะ

STOP 3 CAUSES ก่อนหัวใจหยุดเต้น

ดังที่ได้บอกกล่าวไปแล้วว่าคอลัมน์นี้ชื่อเวลเนสคลาส(Wellness Class) เพราะต้องการสื่อความรู้ต่างๆที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนสุขภาพที่ผมสอนที่เวลเนสวีแคร์เซ็นเตอร์ (Wellness We Care Center) มาให้ท่านผู้อ่านได้เรียนรู้ โดยไม่จำเป็นต้องไปเข้าคอร์สด้วยตัวเอง

ชั้นเรียนแรกเป็นชั้นเรียนที่ชื่ออาร์ดี 1(RD1)ฟังชื่อแล้วไม่เก็ตเลยใช่ไหมครับ อาร์ดี 1 ย่อมาจากประโยคเต็มว่า Reversing Disease By Yourselfแปลว่า “ชั้นเรียนวิธีพลิกผันโรคด้วยตัวคุณเอง” เลขหนึ่งที่ห้อยท้ายจึงหมายความว่าเป็นบทเรียนชั้นแรกหรือครั้งแรก

โดยแรก ชั้นเรียนนี้จัดสำหรับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) ฟังชื่อแล้วก็ไม่เก็ตเลยเช่นกันใช่ไหมครับ โรคหลอดเลือดแดงแข็งแปลว่าโรคหลอดเลือดตีบที่เป็นความผิดปกติพื้นฐานของโรคไม่ติดต่อยอดนิยมทั้งหลายทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ได้แก่โรคหัวใจ โรคอัมพาต โรคความดัน โรคเบาหวาน โรคไขมันสูง และ..โรคอ้วน

คุณลองนึกภาพคอร์สสุขภาพที่นำคนเป็นโรคเหล่านี้ระดับไปไหนไม่รอดแล้วมารวมกัน แบบว่ารายหนึ่งก็บอลลูนไปสองครั้ง บายพาสไปหนึ่งครั้ง หมอจะให้บายพาสอีกสักหนจนบางท่านกว่าจะผูกเชือกรองเท้าได้เรียบร้อย ก็ต้องหยุดอมยาเสียก่อนหนึ่งครั้ง ประมาณนี้

เมื่อรวมผู้ป่วยระดับนี้มาเข้าแค้มป์กินนอนเพื่อเรียนรู้วิธีดูแลตัวเองทั้งอาหาร การออกกำลังกายและอื่นๆ มันน่าเสียวไส้ไหมละครับอิอิ ผมก็เสียวนะ

การเตรียมแค้มป์แบบนี้ก็ต้องว่ากันเต็มยศ มีอุปกรณ์ช่วยชีวิตฉุกเฉินครบเทียบเท่าห้องฉุกเฉินในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีเครื่องช็อกไฟฟ้า หมอเวชบำบัดฉุกเฉินที่คล่องแคล่วว่องไวอยู่กินนอนประจำร่วมกับผู้ป่วยตลอดคอร์ส มีพยาบาลเวชบำบัติฉุกเฉินที่แก่วัด เอ๊ยไม่ใช่..แก่วอร์ด ได้ที่แล้วอยู่ประกบใกล้ชิด

แต่ท่านผู้อ่านเชื่อไหมครับ ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานั้นฟังดูขลังและน่าเลื่อมใสดี แต่แทบไม่มีความหมายอะไรเลย

ที่พูดมาเนี่ยไม่ได้ปรามาสความจำเป็นของการบำบัดฉุกเฉินนะครับ เพราะตัวผมเองก็เป็นหมอที่คร่ำหวอดอยู่กับการช่วยชีวิต การปั๊มหัวใจ มาตั้งแต่หนุ่มจนแก่ ถึงขั้นเคยได้ร่วมกับสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) พัฒนากระบวนการช่วยชีวิตเรื่อยมาเป็นเวลาร่วมยี่สิบปี และร่วมกับสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทยพัฒนาระบบการช่วยชีวิตของเมืองไทยขึ้นมาจนเป็นมาตรฐานเดียวกันอย่างทุกวันนี้

แต่ท้ายที่สุดเรามาลงเอยเป็นเอกฉันท์ตรงที่ว่าในการช่วยชีวิตหรือการฟื้นคืนชีพนี้ ไม่มีอะไรสำคัญเท่าการจัดการในระยะก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น (pre-cardiac arrest management) ซึ่งก็บังเอิญเหลือเกินที่คนทำการจัดการที่ว่านี้ได้ดีที่สุดไม่ใช่หมอเวชบำบัดวิกฤติที่เก่งกาจที่ไหน แต่เป็นตัวคนไข้นั่นเอง

ปลายทางของโรคหลอดเลือดแดงแข็ง ไม่ว่าจะมาจากทางสายเบาหวาน สายอัมพาต สายความดัน สายหัวใจขาดเลือด สายไขมันสูง หรือสายอ้วน มักจะมาจบที่เดียวกัน คือการตายกะทันหัน จากอวัยวะสำคัญขาดเลือดเฉียบพลัน อวัยวะสำคัญที่ว่าอาจเป็นหัวใจหรือสมองก็ได้ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะหัวใจมากกว่าสมอง เราเรียกว่า heart attack หรือเรียกแบบบ้านๆว่า “หัวใจวาย” ก็ได้ความเหมือนกัน

ถ้าจุดจบตรงนี้คือจุดเริ่มต้นของหัวใจหยุดเต้น และหลักวิชาฟื้นคืนชีพ (resuscitation) บอกว่าอะไรก็ไม่สำคัญเท่าการจัดการก่อนที่หัวใจจะหยุดเต้น ดังนั้น มันจึงสำคัญมากใช่ไหมครับ ที่คนป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งหลาย หรือแม้กระทั่งท่านผู้อ่านทั่วไปที่ยังไม่ป่วยทั้งหลายจะได้เรียนรู้ไว้เสียแต่ต้นมือว่าปัจจัยอะไรบ้างที่จะนำเราไปสู่ภาวะหัวใจวายและตายกะทันหัน

หลักฐานวิทยาศาสตร์ปัจจุบันนี้สรุปได้ว่าปัจจัยที่นำไปสู่การตายแบบกะทันหันมี 3 อย่าง คือ

  1. โรคที่เป็นงอมได้ที่จนต่อมไขมันบนหลอดเลือดแตกออก แหม ข้อนี้ไม่ต้องเอาหลักฐานวิทยาศาสตร์มาอ้างก็ได้ คนธรรมดาใครๆที่ไหนก็รู้กันทั่วว่าคนเป็นโรคมานานจนงอมได้ที่ก็ต้องตายง่ายถูกไหมครับ

คำตอบก็คือ..อาจจะไม่ถูกนะ เพราะการชัณสูตรหลอดเลือดหัวใจของผู้ที่เกิดหัวใจวายเสียชีวิตกะทันหันเกินครึ่งโรคยังไม่ทันงอมได้ที่เลย ไม่มีต่อมไขมันแตกเติกอะไรเลย บางคนที่อายุระดับสามสิบปลายๆสี่สิบต้นๆ เพิ่งจะเริ่มเป็นโรค แต่ก็มาหัวใจวายตายเสียแล้วโดยที่ไม่เคยรู้ตัวเลยว่าตัวเองเป็นโรค ดังนั้นจึงต้องมีปัจจัยอื่นที่มาร่วม “ซ้ำเหงา” ให้เกิดเรื่องทั้งๆที่หลอดเลือดยังเพิ่งเริ่มเป็นโรคเท่านั้นเอง ปัจจัยซ้ำเหงาที่ว่าคือ..

  1. ความเครียดเฉียบพลันที่เจ้าตัวไม่รู้วิธีรับมือ งานวิจัยเชิงระบาดวิทยาพบว่าผู้ที่เสียชีวิตกะทันหันจำนวนหนึ่งมีความเครียดเฉียบพลันเป็นตัวเหนี่ยวนำ วิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่าความเครียดทำให้หลอดเลือดหดตัว ถ้าเครียดมากก็หดมาก ถ้าเครียดมากที่สุดก็หดแบบไม่ยอมคลาย ถ้าเป็นการหดที่หลอดเลือดที่หัวใจเรียกว่าเกิด coronary spasm

ความเครียดระดับนี้พูดภาษาบ้านๆก็คือเป็นความเครียดระดับ “ปรี๊ดแตก” คือปากสั่นคอสั่นพูดจะไม่เป็นคำแล้วถ้าไม่รู้วิธีรับมือก็จะม่องเท่งเอาได้ง่ายๆ

ดังนั้นท่านผู้อ่านต้องมีวิทยายุทธ์ที่จะรับมือกับความเครียดเฉียบพลัน คือต้องฝึกสติ รู้ตัวว่าอารมณ์เรากำลังเดือดปุดๆหรือยัง ถ้าเห็นว่าเริ่มจะปุดๆแล้วให้รีบพาตัวเองออกจากสถานการณ์นั้นทันที อย่างน้อยก็ให้หายใจเข้าลึกๆแล้วค่อยๆระบายลมหายใจออกพร้อมกับบอกกล้ามเนื้อทั่วตัวให้ผ่อนคลาย บอกใจให้ปล่อยวางซะเดี๋ยวนี้ ถ้าไม่ทำอย่างนี้..ตายไม่รู้ด้วยนะ

  1. การที่ระดับไขมันในเลือดสูงขึ้นพรวดพราด เช่นหลังอาหารมื้อหนักๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์ซึ่งมีไขมันจากสัตว์สูง งานวิจัยพบว่าหลังมื้ออาหารแบบนั้นไขมันในเลือดจะสูงขึ้น แม้จะสูงแป๊บเดียวก็จริง คือสูงอยู่ประมาณชั่วโมงกว่า แล้วลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว แต่ฤทธิ์ของไขมันในเลือดสูงจะมีผลอยู่นานถึง 4-6 ชั่วโมง

ฤทธิ์ที่ว่านั้นคือเลือดจะหนืดขึ้น ไหลช้าลง เมื่อเอาอัลตร้าซาวด์สอดเข้าไปถ่ายรูปหลอดเลือดดูก็พบว่าหลอดเลือดหดตัวแน่นไม่ยอมคลาย เพราะไขมันทำลายกลไกการผลิตก๊าซไนตริกออกไซด์ (NO) ที่คอยทำให้หลอดเลือดขยายตัว จังหวะที่หลอดเลือดหดตัวฟุ้บควบกับเลือดหนืด นื้ด หนืด เนี่ยแหละ ลิ่มเลือดก็ก่อตัวขึ้นและอุดตันหลอดเลือดที่ตีบอยู่แล้ว…เป็นเรื่อง

ดังนั้นการจะป้องกันการตายกะทันหันจากเหตุนี้ก็มีวิธีเดียว คืออย่ากินไขมันมาก

แหม หมอสันเนี่ย ยังไม่ทันจะเริ่มเวลเนสคลาสเลย ขู่กันซะขนลุกแล้ว อิอิ ทั้งหมดเนี่ยก็เพื่อให้ท่านผู้อ่านรับข่าวสารกลับบ้านสองประเด็นเท่านั้นคือให้หัดดับความเครียดเฉียบพลัน ก่อนที่ปรี๊ดจะแตก และ..อย่ากินไขมันมาก

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.