“ฝันดี – ฝันร้าย” เกี่ยวอย่างไรกับสุขภาพ

อ่านชื่อเรื่องแล้วชวนให้สงสัยนะคะว่า “ความฝัน” เกี่ยวข้องกับสุขภาพได้อย่างไร

วันนี้จึงชวนคุณมามอง (อ่าน) อย่างวิเคราะห์ว่า ความฝันนั้นมีที่มาที่ไปอย่างไร และเกี่ยวข้องกับสุขภาพ …รับรองว่าได้คำตอบที่น่าสนใจ และคาดไม่ถึงอย่างแน่นนอนค่ะ

เมื่อสมองขอร้องให้ฝัน

อันดับแรกเราควรมารู้จักที่มาของความฝัน โดยนายแพทย์ศุภโชค สิงหกันต์ จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล กรุณาอธิบายให้ฟังค่ะ

“ตลอดทั้งวันเราได้รับข้อมูลมากมาย การเข้ามาของข้อมูลเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งเหยิง และสมองไม่สามารถจดจำได้หมด สมองจึงคัดกรองเอาสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ให้เหลือแต่สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น และสิ่งที่เหลือจะตกผลึกเป็นความทรงจำที่สามารถนึกออกได้ภายหลัง

“นอกจากนี้มีสมมุติฐานว่า ความฝันเป็นความพยายามของสมองที่จะกลั่นกรองความรู้ ประสบการณ์ต่างๆ มาจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ ซึ่งกระบวนการเกิดความฝันต้องอาศัยการทำงานที่ซับซ้อนของสมองหลายขึ้น ทั้งการประมวลผลของระบบสารสื่อประสาทด้านชีวเคมีและฮอร์โมนในร่างกาย

“ช่วงแรกๆ ของการนอน สมองจะทำหน้าที่เรียบเรียงข้อมูลและความทรงจำที่เกิดขึ้นมาไม่นาน แต่ขณะที่ช่วงท้ายๆ ของการนอนจะเป็นการเรียบเรียงความทรงจำที่เกิดขึ้นมานานแล้ว จึงสังเกตได้ว่า ความฝันในช่วงแรกๆ ของการนอนจะสับสน ไม่เป็นเรื่องราว แต่ช่วงท้ายๆ จะเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันตลอดครับ”

โดยรวม คุณหมอศุภโชคสรุปว่า“ทุกคนที่นอนหลับต่างมีความฝันเกิดขึ้นด้วยกัน ทุกคน เพียงแต่ว่าจำได้หรือไม่เท่านั้น” และยืนยันว่าความฝันเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับมนุษย์มากทีเดียว โดยเปรียบเทียบให้ฟังว่า ช่วงที่เราหลับลุกเป็นช่วงที่ร่างกายได้รับการพักผ่อน แต่ช่วงที่กำลังฝันนั้นร่างกายก็ได้รับการฟื้นฟูจากการหลับด้วย

ขณะที่มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความฝัน จากหนังสือ อัศจรรย์จิตมนุษย์ ของรีดเดอร์ส ไดเจสท์ ที่อธิบายไว้น่าสนใจมากว่า ขณะหลับในระยะกลอกตา (REM)หรือระยะที่มีความฝัน ผู้หลับจะหยุดกรน หายใจช้าลง เลือดไหลเวียนไปสู่สมองมากขึ้น ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น กล้ามเนื้อที่ใบหน้าและปลายนิ้วอาจกระตุกบ้าง แต่แขน ขา และลำตัว ซึ่งสามารถเคลื่อนไหวในช่วงหลับแบบไม่กลอกตาเร็วกลับหยุดนิ่ง สาเหตุนั้นไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่า คงเป็นเพราะกลไกอัตโนมัติในร่างกายป้องกันไม่ให้เราทำอันตรายต่อตนเองผู้อื่นขณะที่เรากกำลังตื่นเต้นไปกับความฝันนั่นเอง

ความฝันในมุมมอง “นักจิตวิทยา”

คุณหมอศุภโชคท่านเดิมอธิบายสิ่งที่เราเห็นในฝันไว้อย่างน่าสนใจว่า…

“มีข้อสังเกตว่า เนื้อหาในความฝันจะเกี่ยวพันกับประสบการร์การเรียนรู้ค่อนข้างมาก ทั้งเกี่ยวข้องกับค่านิยม ความเชื่อ และวัฒนธรรมในสังคมของบุคคลนั้น เช่น มีการศึกษาความฝันในเด็กพบว่า ความฝันจะเกี่ยวข้องกับพัฒนาการทางสมองของเด็กแต่ละวัยด้วย

“ส่วนมากเด็กจะฝันถึงการเล่นตุ๊กตา เล่นเกม แต่เขาจะไม่ฝันถึงเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง หรือเรื่องยากๆ แต่ความฝันจะซับซ้อนมากขึ้นเมื่อเด็กโตขึ้น

“จึงพอสรุปได้ว่า เนื้อหาของความฝันขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของคนคนนั้นเป็นหลัก เพียงแต่เขาจะจับส่วนไหน หรือช่วงไหนของชีวิตมาฝันนั่นเอง”

ฝันดี – ฝันร้าย ใครกำหนด

คุณหมอศุภโชคชี้ว่า ฝันจะดีหรือร้ายนั้นขึ้นอยู่กับสภาวะทางอารมณ์เป็นหลัก ช่วงไหนอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ปกติ ความฝันมักออกมาดี ขณะที่หากจิตใจเศร้าหมอง โกรธ หมกมุ่น ฝันก็มักจะไม่ดีนัก

ข้อมูลจากหนังสืออัศจรรย์จิตมนุษย์อธิบายไว้น่าสนใจเช่นกัน โดยเรียกฝันร้ายในทางจิตวิทยาว่า “อาการกระวนกระวายในความฝัน” (Dream Anxiety Attack)และมักเกิดขึ้นในช่วงกลางๆ หรือท้ายๆ ของการนอนหลับมากกว่าในช่วงต้น

ฝันร้ายมักเกี่ยวพันกับความเครียดภายในใจ ความปั่นป่วนทางอารมณ์จากประสบการณ์เลวร้ายในชีวิต เช่น อุบัติเหตุรถยนต์หรือการสู้รบ มักฝังใจและผุดขึ้นมาในรูปฝันร้าย ความเจ็บป่วยทางกายก็อาจเป็นสาเหตุให้ฝันร้ายเช่นกัน แต่ยังไม่รู้แน่ชัดว่าเกิดจากความเจ็บป่วยหรือเดจากความเครียดที่เกิดตามมากันแน่

สุราและยาเสพติด รวมถึงยาที่แพทย์สั่งบางชนิดก็อาจจะมีผลต่อการฝันร้ายด้วย ดังนั้นหากกินยาใดแล้วเริ่มมีอาการฝันร้ายควรแจ้งแทพย์หรือเภสัชกรให้ทราบด้วย

ในบางกรณี ฝันร้ายที่รุนแรงและเกิดซ้ำๆ ก็อาจจะเป็นสัญญาณบ่งบอกความผิดปกติทางจิตประสาท และความพบจิตแพทย์เพื่อการบำบัดด้วย

แต่คุณหมอศุภโชคเสริมว่า “ฝันร้ายจะมีผลต่ออารมณ์คนมากเพียงใด ขึ้นอยู่กับความเชื่อและบุคลิกภาพด้วย ใครมีแนวโน้มอ่อนไหว ตึงเครียดง่าย จะเป็นทุกข์กับความฝันมาก และมีผลกับร่างกายตามมา

“สิ่งที่ควรคำนึงคือ ความฝันคือความฝัน เปรียบเหมือนการดูหนังหนึ่งเรื่อง จบแล้วก็คือจบเรื่องไป แม้จะทำให้เกิดความรู้สึกเสียใจ ตื่นเต้น หรือเศร้าหมอง แต่เมื่อจบแล้วก็ควรกลับมาใช้ชีวิตปกติ ไม่ควรให้ความฝันนั้นมีผลต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายในระยะต่อมาครับ”

ตีความ “ฝัน” ได้แค่ไหน

คนเราสนใจใคร่รู้ความหมายของความฝันกันมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยอียิปโบราณ นักบวชตีความสัญลักษณ์ในความฝันไว้กว่า 200 อย่าง ขณะที่ในทางจิตวิทยาเองเคยกล่าวถึงการวิเคราะห์ความฝันว่าเป็นตัวแทนของความขัดแย้ง หรือสิ่งที่เราไม่สามารถแสดงออกไปได้ในชีวิตประจำวัน และถูกเก็บกักไว้

แต่ในปัจจุบัน การศึกษาในทางจิตวิทยาพบว่า ความฝันนั้นเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำมากกว่า เพียงแต่เนื้อหาอาจบิดเบือน แตกต่างไป เราจึงไม่ค่อยตีความกัน

…แต่อย่างนั้นก็ใช่ว่าไม่มีใครได้ลองตีความไว้นะคะ

อย่างเนื้อหาในหนังสือ “ความฝัน : มหัศจรรย์แห่งการนอน”ที่เขียนโดย ซิลเวีย บราวน์ กับ ลินด์เซย์ แฮร์ริสัน จากสำนักพิมพ์ โพเอม่า นำเสนอว่า

          “ความฝันที่คุณเห็นคือเรื่องราวเฉพาะบุคคล ดังนั้นการแปรความฝันจึงป็นศิลปะ ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ที่จะเอาแต่ชี้ถูกผิดอย่างชัดเจน สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือ ความหมายใดจะสอดคล้องกับความเป็ฯจริงในชีวิตคุณนั่นเอง”

อาทิ…

“ฝันเห็นบ้าน” หมายถึง ความกังวลใจเกี่ยวกับสุขภาพ ตำแหน่งของร่างกายที่มีปัญหามักเกี่ยวกับตำแหน่งในบ้านที่ฝันถึง เช่น หลังคา อาจหมายถึงโรคปวดศีรษะไปจนถึงโรคไซนัส

“ฝันว่าโป๊เปลือย” มักบ่งชี้ถึงความกลัวในการเปิดเผยบางอย่าง อาจเป็นนัยถึงความไม่พร้อม ความอ่อนแอร์ในจิตใจ ด้วยรู้สึกว่าไม่มีกลไกใดมาปกป้องตัวเองได้

“ฝันถึงการมีเซ็กซ์” บอกถึงความต้องการการใกล้ชิดทางอารมณ์ ต้องการการดูแลและให้ความเชื่อมั่นจากผู้อื่น หรือหมายถึงความไมม่สบายใจที่ต้องสะกดกลั้นอารมณ์ไว้

“ฝันว่าตั้งครรภ์” หมายถึงแนวทางใหม่ๆ ในชีวิตที่คุณมองว่ากำลังเกิดขึ้นแล้ว หรือไม่ก็เป็นบางสิ่งที่ซ่อนอยู่ในตัวคุณและกำลังจะปรากฎออกมา

“ฝันถึงความตาย” มักเป็นสัญญาณของทัศนคติ หรือความเชื่อเก่าๆ นิสัยเดิมๆ ที่เคยเป็นมา

…ส่วนการฝันว่า “งูรัด” ในแบบไทย ในเชิงวัฒนธรรมมักคิดถึงการเจอเนื้อคู่ หากแต่ในเชิงพุทธศาสนา มองว่าความรักหลงนั้นคือกิเลส การฝันเป็ฯงูจึงหมายถึงการถูกกิเลสครอบงำ หรืออาจต้องเจ็บป่วย ก็เป็นได้

ก่อนจากกัน คุณหมอศุภโชคแนะนำวิธีรับมือกับความฝันไว้ดังนี้ค่ะ

  1. ไม่ควรรับอารมณ์ต่างๆ มากระทบใจในช่วงเวลา 00 – 20.00 น. เพราะจะส่งผลต่อความฝันได้ง่ายกว่าช่วงเวลาอื่นๆ
  2. ควรทำจิตใจให้ผ่อนคลายก่อนนอน การสวดมนต์ก็ช่วยได้
  3. หากฝันร้ายจนตื่นขึ้น อย่าเพิ่งตกใจ เพราะอาจเกิดจากความไม่สบายของร่างกาย จากท่านอน หรือจากสิ่งที่ดื่มกินก่อนนอน เช่น ท้องอื่นเพราะน้ำอัดลม เบียร์ หรือเหล้า ควรหายาลดลมในกระเพาะ หรือดื่มน้ำขิงอุ่นๆ สักแก้ว ก็จะช่วยลดอาการไม่สบายตัวได้

 

ดังนั้น คืนนี้ไม่ว่าหลับไปแล้วฝันอย่างไร ดีหรือร้าย ขอให้คุณกำหนดชีวิตในวันรุ่งขึ้นด้วยสติ และความตั้งใจดี นะคะ

…แล้วทุกอย่างจะย่อมดีแน่ ^__^

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.