เช็กสีลิ้นแบบจีนทำนายโรคแม่นเป๊ะ

ทุกครั้งที่แพทย์จีนตรวจโรค และขอให้เราแลบลิ้น …มีเหตุผลนะคะ

วันนี้ แพทย์จีนนภษร แสงศิวะฤทธิ์อาจารย์ประจำคณะการแพทย์แผนจีน มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติจะมาอธิบายเรื่องนี้ให้เราทราบ

ตามองค์ความรู้ในภูมิปัญญาของชาวจีนอธิบายว่าลิ้นเชื่อมกับอวัยวะภายใน ทั้งชี่เลือด เส้นลมปราณและสารน้ำแพทย์แผนจีนแบ่งความสัมพันธ์ระหว่างลิ้นกับอวัยวะภายในได้ ดังนี้

ตำแหน่งบริเวณลิ้น                         อวัยวะภายใน

ปลายลิ้น                                               หัวใจ ปอด

กลางลิ้น                                                ม้าม กระเพาะอาหาร

โคนลิ้น                                                 ไต กระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่

ขอบลิ้นด้านข้าง                                   ตับ ถุงน้ำดี

เมื่อซักประวัติและอาการเจ็บป่วยเรียบร้อยแล้ว แพทย์จีนจะขอตรวจชีพจรและดูลิ้น จากประสบการณ์ มีคุณยายท่านหนึ่งมาหาหมอด้วยอาการปวดเอว ท่านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยอ้าปากแลบลิ้นให้ดู เมื่อเห็นลิ้นคุณยายหมอต้องเพ่งพิจารณาอยู่นานเพราะสีของลิ้นแตกต่างไปจากสภาพลิ้นในตำราที่หมอเรียนมาอย่างสิ้นเชิง จึงถามคุณยายว่า“คุณยายทานหมากมาใช่ไหมคะ”

health22

คุณยายยิ้มหวานๆแล้วตอบอย่างอายๆว่า “ยายติดหมากจ้ะหมอ เคี้ยวมาตั้งแต่สาวแล้ว” และยังมีผู้ป่วยอีกหลายท่านที่เป็นเหมือนกรณีนี้ คือเพิ่งดื่มชากาแฟมา ทำให้การตรวจลิ้นคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง เพราะมีคราบอาหารหรือเครื่องดื่มติดลิ้น

หากรู้เช่นนี้แล้ว สิ่งที่ผู้ป่วยควรปฏิบัติก่อนการตรวจคือไม่ควรดื่มเครื่องดื่ม อาหาร หรือแม้แต่อมลูกอม ยาอมที่อาจจะทำให้สีหรือคราบอาหารติดลิ้น รวมถึงไม่ควรขูดหรือแปรงลิ้นในวันที่จะเข้ารับการตรวจรักษาจากแพทย์จีนค่ะ

สำหรับวิธีตรวจลิ้น แพทย์จีนจะต้องดูลิ้นไล่ตั้งแต่ปลายลิ้นไปที่กลางและข้างขอบลิ้นจนถึงโคนลิ้น ห้องตรวจต้องมีแสงสว่างต้องเพียงพอ แสงที่ดีที่สุดคือแสงธรรมชาติในตอนกลางวัน ถ้าภายในห้องตรวจค่อนข้างมืดหรือมาตรวจตอนกลางคืน ควรเปิดไฟที่เป็นแสงชนิดเดย์ไลท์(Day light)เพื่อช่วยในการมองเห็นที่ชัดเจนค่ะ

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว เราสามารถตรวจลิ้นด้วยตัวเองได้ โดยหลังตื่นนอนตอนเช้าให้แลบลิ้นส่องกระจกและสังเกตสีลิ้นในแต่ละวันด้วยตนเอง สีลิ้นสามารถบอกอะไรบ้าง มาดูกันค่ะ

สีลิ้น                                                     ภาวะโรค

สีแดงอ่อน                      เป็นปกติ หรือมีภาวะโรคค่อนข้างเบา

สีขาวซีด                        ชี่พร่อง เลือดพร่อง หยางพร่อง

สีแดงสด                       ร้อนแกร่ง หยินพร่อง

สีแดงเข้ม                       มีความร้อนสะสมภายใน หยินพร่อง เกิดไฟ

สีม่วงคล้ำ                      ชี่ติดขัด ระบบเลือดไหลเวียนไม่ดี (เลือดคลั่ง)

การแลบลิ้น ต้องแลบออกมาสบายๆ เป็นธรรมชาติ ห้ามเกร็งหรือห่อลิ้น เพราะจะทำให้ขนาดของลิ้นเปลี่ยนไป ขนาดของลิ้นสามารถบอกภาวะโรค ได้ดังนี้

ขนาดลิ้น                                              าวะโรค

ปกติ                                               เป็นปกติ หรือภาวะโรคค่อนข้างเบา อาจต้องดูสีลิ้นหรือ ฝ้าบนลิ้น ฯลฯ ร่วมด้วย

ใหญ่ หนา แลบออกมาเต็มปาก     มีสารน้ำและความชื้นสะสมในร่างกายมากเกินไป

เล็ก บาง                                        ชี่พร่อง เลือดพร่อง หยินพร่อง เกิดไฟ

ดังคำกล่าวที่ว่า “เห็นหน้าไม่รู้ใจ เห็นลิ้นรู้กายภายใน” การตรวจลิ้นเพื่อบอกโรค ยังมีรายละเอียดอีกมากมาย อาทิ ลักษณะใต้ลิ้น ฝ้าบนลิ้น ฯลฯติดตามได้ในฉบับหน้าค่ะ

เครดิตภาพ Shutterstock

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.