"นวดสมอง”

เคล็ดลับ “นวดสมอง” ไอเดียแล่นฉิว

“นวดสมอง” ปรับปรุงการกิน พร้อมออกกำลังกาย ช่วยให้ไอเดียแล่น

หลายคนเลือกบริหารสมองด้วยการอ่านหนังสือ เล่นเกมต่อจิกซอว์ หรือแม้กระทั่งเต้นลีลาศ เหล่านี้ก็เป็นวิธีที่ถูกต้องในการคงความอ่อนเยาว์ให้แก่สมองนอกจากนี้คุณยังสามารถใช้การ “นวดสมอง” เพื่อช่วยให้สมองแข็งแรง ความคิดเล่นฉิว ความจำเป็นเลิศได้เช่นกัน

ปักษ์นี้เราขอยกศาสตร์นวดที่หลายๆคนคุ้นเคยกันดีนั่นคือการนวดไทยพร้อมท่านวดที่ทำตามง่าย ได้ผลจริงมาแนะนำกันครับ

นวดไทยไล่เลือดไล่ลมกระตุ้นสมอง

นวดไทยเป็นศาสตร์เก่าแก่ที่ได้รับการถ่ายทอดต่อกันมายาวนานพบการบันทึกในศิลาจารึกสมัยพ่อขุนรามคำแหงและจดหมายราชทูตฝรั่งเศสชื่อลาลูแบร์ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชมีใจความว่า

“ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลงก็จะเริ่มทำเส้นสายยืดโดยให้ผู้ชำนาญทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้แล้วใช้เท้าเหยียบกล่าวกันว่าหญิงมีครรภ์มักใช้ให้เด็กเหยียบเพื่อให้คลอดบุตรง่ายไม่ต้องเจ็บปวดมาก

ปัจจุบันการนวดไทยใช้เพื่อบำบัดอาการต่างๆมากมายโดยเฉพาะการรักษาโรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกถือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพและเห็นผลชัดเจนนอกจากนี้ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้ในการกระตุ้นการทำงานของสมองด้วยเช่นกัน

"นวดสมอง”

การนวดไทยที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของสมองจะเป็นการนวดกล้ามเนื้อระดับลึกโดยใช้เเรงกดเพื่อกระตุ้นตัวรับ (Receptors)ในกล้ามเนื้อระดับต่างๆให้ส่งกระเเสประสาทไปยังบริเวณต่างๆของสมอง อาจารย์นิเวศน์ บวรกุลวัฒน์แพทย์แผนไทยปฏิบัติการสถาบันการเเพทย์แผนไทยอธิบายว่า

“ในทางการแพทย์แผนไทยนั้นเชื่อว่าร่างกายประกอบไปด้วยการทำงานของธาตุทั้ง 4 ได้แก่ดินน้ำลมและไฟซึ่งจะคอยขับเคลื่อนระบบการทำงานของร่างกายให้มีความสมดุลเเข็งเเเรงแต่เมื่อธาตุใดอ่อนแอลงก็ย่อมทำให้ร่างกายเจ็บป่วยได้

“การนวดไทยเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองเป็นการขับเคลื่อนเลือด (ธาตุน้ำ) ซึ่งประกอบไปด้วยสารอาหารต่างๆมากมายไปเลี้ยงบริเวณมัดกล้ามเนื้อและพื้นที่ต่างๆของสมอง (ธาตุดิน) โดยอาศัยการทำงานของลมและไฟเป็นตัวขับเคลื่อน หรือแม้กระทั่งทฤษฎีเส้นสิบของแพทย์แผนไทยก็กล่าวถึงความเชื่อมโยงของการไหลเวียนเลือดกับลมไปตามจุดต่างๆของร่างกาย การนวดจึงเป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยเพิ่มการทำงานของสมองได้”

เฉกเช่นเดียวกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่อธิบายไว้ว่า การนวดเป็นการส่งสัญญาณบางอย่างไปสู่สมองส่งผลให้สมองหลั่งสารสื่อประสาทและสารโปรตีนต่างๆที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อระบบประสาทและระบบภูมิคุ้มกันหรืออาจกล่าวได้ว่า การนวดเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานในสมองกับร่างกายนั่นเอง

นอกจากนี้ อาจารย์นิเวศน์ยังอธิบายเหตุผลสำคัญที่เราจำเป็นต้องนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อซึ่งส่งผลต่อการไหลเวียนเลือดไปเลี้ยงสมองดังนี้

“เราต้องรู้จักป้องกันไม่ให้สมองทำงานผิดปกติเสียตั้งแต่เนิ่นๆคือไม่ปล่อยให้กล้ามเนื้อเเข็งเกร็งหรือตึงตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะหากกล้ามเนื้อหดเกร็งจะส่งผลให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เต็มทีโดยเฉพาะเส้นเลือดฝอยขนาดเล็กที่ลำเลียงเลือดไปบริเวณเนื้อเยื่อต่างๆของสมอง เราจึงจำเป็นต้องยึดเหยียดกล้ามเนื้อบ้าง โดยใช้การนวดเป็นต้น”

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

สุดยอดท่านวดไทย

ช่วยสมองอ่อนเยาว์

นอกจากจะช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลาย จิตใจสงบลงแล้ว การนวดยังช่วยให้คงความอ่อนเยาว์ของสมองอย่างแน่นอน อาจารย์นิเวศน์ ได้แนะนำท่านวดอย่างง่าย ที่เราสามารถทำได้ด้วยตัวเองไว้ดังต่อไปนี้

"นวดสมอง”

ท่าเตรียม

          นั่งขัดสมาธิ ผ่อนคลาย ไม่เกร็งหรือฝืนร่างกายจนเกินไป

    ท่าที่ 1

1.1 ใช้ปลายนิ้วมือขวาทั้งสี่(ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ)กดคลึงบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหัวไหล่กล้ามเนื้อบ่าและคอด้านซ้ายจนถึงบริเวณฐานกะโหลกพร้อมกับหันศีรษะไปด้านขวาให้มากที่สุด

1.2 ใช้ปลายนิ้วมือซ้ายทั้งสี่(ยกเว้นนิ้วหัวแม่มือ) กดคลึงไปทั่วบริเวณหน้าอกด้านขวาหัวไหล่กล้ามเนื้อบ่าและคอด้านขวาจนถึงบริเวณฐานกะโหลก พร้อมกับหันศีรษะไปด้านซ้ายให้มากที่สุด

ท่าที่ 2 ประสานมือทั้งสองข้างไว้บนท้ายทอยโดยคว่ำหัวแม่มือลงแล้วใช้หัวแม่มือทั้งสองกดนวดไปตามแนวเกลียวคอทั้งสองข้างเริ่มต้นตั้งแต่ฐานคอกึ่งกลางคอและไล่ไปจนถึงใต้ฐานกะโหลกศีรษะโดยนวดขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ห้ามนวดลงเด็ดขาด

ท่าที่ 3 กดจุดใต้ฐานกะโหลกศีรษะ 3 จุด ดังนี้

3.1 จุดที่1วางมือขวาบริเวณหน้าผากในลักษณะประคองไว้ กดนิ้วหัวแม่มือซ้ายที่จุดใต้กะโหลกศีรษะด้านซ้าย ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 2-3 รอบ

3.2 จุดที่ 2 วางมือซ้ายบริเวณหน้าผากในลักษณะประคองไว้กดนิ้วหัวแม่มือขาวที่จุดกึ่งกลางใต้กะโหลกศีรษะ ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 2-3 รอบ

3.3 จุดที่ 3 วางมือซ้ายบริเวณหน้าผากในลักษณะประคองไว้กดนิ้วหัวแม่มือขวาที่จุดใต้ฐานกะโหลกศีรษะด้านขวา ค้างไว้ 5 วินาที ทำซ้ำ 2-3 รอบ

ท่าที่ 4 วางปลายนิ้วกลางและนิ้วนางที่ขมับทั้งสองข้างคลึงเบาๆตามเข็มนาฬิกาทำซ้ำ 5-10 รอบ

ท่าที่ 5 วางนิ้วหัวแม่มือไว้บนคิ้วทั้งสองข้างกดและดันเบาๆทำซ้ำ 2-3 ครั้ง

     อาจารย์นิเวศน์ยังแนะนำเพิ่มเติมว่า เราสามารถนวดตนเองได้ทุกเวลาเช่นหลังตื่นนอนก่อนนอระหว่างดูทีวีหรือทำงาน

นอกจากเป็นการบริหารสมองเเล้วการนวดกล้ามเนื้อบ่าและศีรษะยังช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อยคอบ่าอาการง่วงนอนหรืออ่อนล้าจากการทำงานระหว่างวันและทำให้เรากระปรี้กระเปร่าได้อีกด้วย

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

"นวดสมอง”

นอกจากวิธีนวดแล้ว เรายังต้องปรับพฤติกรรมการกิน ออกกำลังให้สมดุลด้วย เพื่อให้สมองอ่อนเยาว์ และทรงประสิทธิภาพตราบนานเท่านานครับ

เกิดอะไรขึ้นในสมอง…ขณะถูกนวด

          สมองเป็นอวัยวะสำคัญเป็นศูนย์รวมระบบสั่งการเกือบทั้งหมดของร่างกายเราจึงต้องดูแลสมองอย่างดีที่สุด เพื่อให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง โดยการนวดนั้นเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถทำให้สมองแข็งแรงและอ่อนเยาว์ได้ เนื่องจากจะช่วยให้การทำงานของระบบฮอร์โมนและสารสื่อประสาทที่ควบคุมสมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

นายแพทย์ดร. โดวไมเคิลผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและพฤติกรรมมนุษย์มหาวิทยาลัยแคลิฟอเนียซานฟรานซิสโกประเทศสหรัฐอเมริกาได้อธิบายผลของการนวดที่ทำให้สารสื่อประสาทและฮอร์โมนชนิดต่างๆเกิดการหลั่งออกมาดังนี้

  • ซีโรโทนิน (Serotonin) เมื่อได้รับการนวดสารซีโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งในสมองจะหลั่งออกมา ทำให้อารมณ์ดีจึงไม่แปลกที่จะเห็นคนถูกนวดหลับสบายและสารสื่อประสาทชนิดนี้ยังช่วยทำให้แผลหายเร็วยิ่งขึ้น
  • โดปามีน (Dopamine)เป็นสารสื่อประสาทที่ทำหน้าที่ควบคุมอารมณ์และความรู้สึกทำให้

เกิดความสุขความรักพึงพอใจจึงไม่แปลกที่บางคนจะเกิดอาการติดการนวด

  • ออกซิโทซิน (Oxytocin)เป็นฮอร์โมนความรักเมื่อหลั่งออกมาจะทำให้เกิดอารมณ์อ่อนโยนและรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น
  • คอร์ติซอล (Cortisol)หรือเรียกว่าฮอร์โมนความเครียดการนวดจะทำให้ฮอร์โมนนี้หลั่ง

น้อยลงช่วยให้แผลหายเร็วขึ้นและเพิ่มระดับภูมิคุ้มกันในการต่อสู้กับไวรัส

  • อะดรีนาลิน (Adrenaline) และนอร์อะดรีนาลิน (Noradrenaline) ฮอร์โมนทั้งสองชนิดนี้

ทำหน้าที่ต่อสู้กับความเครียดส่งผลให้อัตราการเต้นของหัวใจลดลงความดันโลหิตต่ำลงลดการเผาผลาญกลูโคสและทำให้ร่างกายผ่อนคลายมากขึ้น

นอกจากนี้แล้วการศึกษาของ Touch Research Instiute พบว่าการนวดยังส่งผลให้การทำงานของคลื่นสมองเดลต้า(Delta Brainwave )ทำงานดีขึ้นเราจึงรู้สึกผ่อนคลายหลับลึกมากยิ่งขึ้นด้วย

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.