ความต้องการทางเพศ, ฮอร์โมนเพศ , เพศหญิง, เพศชาย, เซ็กส์, sex

“ความต้องการทางเพศ” แค่ไหนจึงพอดี

” ความต้องการทางเพศ ” แค่ไหนจึงพอดี

มีคำถามน่าสนใจจากผู้อ่านเช่นเคยค่ะ… รอบนี้เป็นเรื่อง ” ระดับของ ความต้องการทางเพศ ” ซึ่งคุณหมอชัลวลี ศรีสุโข ก็ตอบให้อย่างกระจ่างเช่นเคย ความต้องการทางเพศ แค่ไหนจึงพอดี มาอ่านเรื่องนี้ด้วยกันนะ ^^

ความต้องการทางเพศแค่ไหน จึงพอดี

Q คุณหมอชัญวลี อยากทราบเรื่องของความกำหนัดหรือความต้องการทางเพศว่า ต้องมีแค่ไหนถึงเรียกว่าพอดี และถ้ามีความต้องการมากหรือน้อยไป จะส่งผลเสียต่อสุขภาพไหมคะ

ความต้องการทางเพศนั้นเกิดจากอะไร

                ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องของแต่ละบุคคล มีมากมีน้อยต่างกัน อาศัยการกระตุ้นหรือแรงจูงใจต่างกัน เป็นสิ่งที่ต้องมีกาลเทศะ มีความควรความเหมาะ ในแต่ละสถานการณ์ อย่างไรก็ตามมีขีดคั่นของความปกติและความผิดปกติ หากความต้องการทางเพศมีมากหรือมีน้อยจนเกิดความเดือดร้อนตนเอง คู่ครอง และคนแวดล้อม ถือว่าไม่ปกติ

ความต้องการทางเพศเป็นเรื่องซับซ้อนไม่ตรงไปตรงมา ไม่สามารถวัดปริมาณความต้องการจากค่าของฮอร์โมนในประแสเลือดได้ แต่มีอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ มากมาย ดังนี้

  1. ฮอร์โมนเพศ ความต้องการทางเพศจะเริ่มเกิด เมื่อมีฮอร์โมนเพศปรากฏขึ้นในร่างกายของเด็กหญิง เด็กชาย ในเด็กหญิงมีความเปลี่ยนแปลงให้เห็นคือ มีการเพิ่มความสูงอย่างรวดเร็ว (Growth spurt) นมตั้งเต้า มีขนรักแร้ ขนหัวหน่าว มีกลิ่นตัว มีตกขาว

ส่วนในเด็กชาย มีการขยายขนาดของอัณฑะ อวัยวะเพศชาย มีขนรักแร้ ขนหัวหน่าว หนวด เครา มีลูกกระเดือก เสียงห้าว และมีกลิ่นตัว

การเป็นหนุ่มสาว หรือการปรากฏของฮอร์โมนเพศนั้น อายุเฉลี่ย ประมาณ 10 ปี แต่อาจเกิดเร็วหรือช้ากว่านี้ก็ได้ ขึ้นอยู่กับพันธุกรรม ครอบครัว เชื้อชาติ เพศ (เด็กหญิงฮอร์โมนออกเร็วกว่าเด็กชาย) น้ำหนักตัวตั้งแต่แรกคลอด (เด็กที่ขาดอาหารหรือน้ำหนักตัวน้อยแรกคลอด เป็นหนุ่มสาวช้ากว่า)

นอกจากนี้ก็มีเรื่อง อาหารการกิน (เด็กที่น้ำหนักตัวมากมีไขมันมาก เป็นหนุ่มสาวเร็วกว่า) โรคภัยไข้เจ็บ (เด็กที่เป็นโรคเรื้อรังเป็นหนุ่มสาวช้ากว่า) ความเครียด (เด็กที่เครียด เช่นแข่งขันเป็นนักกีฬา เรียนหนัก งานหนัก เป็นหนุ่มสาวช้ากว่า)

ความต้องการทางเพศ, ฮอร์โมนเพศ , เพศหญิง, เพศชาย, เซ็กส์, sex
ความต้องการทางเพศจะเริ่มเกิด เมื่อมีฮอร์โมนเพศปรากฏขึ้นในร่างกาย

 

 

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

  1. สิ่งแวดล้อม ชุมชน สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ในสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดเรื่องการแสดงออกทางเพศ หรือสอนว่าเรื่องเพศเป็นสิ่งที่ไม่ดีไม่เหมาะสม ความต้องการทางเพศอาจลดลง ในทางตรงกันข้าม สิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้แสดงออกทางเพศ การแต่งตัวยั่วยวน หรือการมีเพศสัมพันธ์กับคนมากหน้าหลายตา อาจทำให้มีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น
  2. ความแข็งแรงของระบบประสาทสมอง ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบกล้ามเนื้อ ฯลฯ ความต้องการทางเพศสัมพันธ์กับความแข็งแรงของร่างกายในคนอ้วน คนที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขข้อ ฮอร์โมนผิดปกติ ภูมิแพ้ มีผลให้ความต้องการทางเพศลดลง
  3. สารสื่อประสาทในสมอง พบว่าหากมีสารซีโรโทนิน (Serotonin )สูง จะมีความต้องการทางเพศลดลง แต่ถ้ามีสารโดปามีน(Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน(Norepinephrine)ในสมองสูง ความต้องการทางเพศจะเพิ่มขึ้น
  4. ความแข็งแรงทางจิตใจ โรคจิต โรคประสาท เช่น ซึมเศร้า ย้ำคิดย้ำทำ วิตกกังวล เครียด เศร้าซึม ทำให้ความต้องการทางเพศลดลง
  5. อายุ โดยทั่วไป ความต้องการทางเพศลดลงเมื่ออายุมากขึ้น หญิงเป็นมากกว่าชาย เช่นในประเทศสหรัฐอเมริกา งานวิจัยพบว่า เมื่ออายุ 81 ปีชายร้อยละ 41 ยังมีความต้องการทางเพศ สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ขณะที่หญิงมีความต้องการทางเพศเหลือร้อยละ 18 และลงเอยด้วยการช่วยตนเอง
  6. คู่ครอง โดยทั่วไป คนมีคู่ครอง มีความต้องการทางเพศมากกว่าคนที่ไม่มีคู่ครอง ในหญิงที่ไม่มีคู่ครอง ความต้องการทางเพศมักลดลง ส่วนในครอบครัวที่มีการทะเลาะเบาะแว้ง ไม่ลงรอยกันระหว่างสามีภรรยา ไม่ว่าเรื่องใด ๆ จะทำให้ความต้องการทางเพศทั้งหญิงและชายลดลง
  7. ผลข้างเคียงจากยา ยารักษาโรคเรื้อรังหลายโรค ลดความต้องการทางเพศ เช่น ยารักษาโรคเบาหวาน ยาความดันโลหิตสูง ยาภูมิแพ้ ยาลดกรด ยารักษาเชื้อรา ยารักษาโรคต่อมลูกหมาก ยารักษาโรคผมร่วง ฯลฯ

 

ความต้องการทางเพศ, ความต้องการทางเพศ, ฮอร์โมนเพศ , เพศหญิง, เพศชาย, เซ็กส์, sex
ผู้ที่มีความต้องการทางเพศสูง แต่สามารถควบคุมได้ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ถือว่าเป็นปกติ

ความต้องการทางเพศควรมีแค่ไหน

คำว่าพอเหมาะนั้นไม่อาจบอกได้ว่าเท่าไหร่ เพราะไม่มีค่าฮอร์โมนหรือสารเคมีวัดได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของตนเองและคู่ครอง ความพอเหมาะของคนหนึ่งอาจน้อยไปหรือมากไปสำหรับคนอื่น ๆ ก็ได้ แต่หากวัดจากการมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ ซึ่งทำให้มีลูกง่ายในวัยเจริญพันธุ์ ควรมีความต้องการทางเพศอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง หรือมีเพศสัมพันธ์ 1 ครั้ง เว้นสองวัน

คนที่มีความต้องการมาก ต้องการทุกวัน วันละหลายครั้ง แต่สามารถควบคุมตนเอง แสดงออกอย่างเหมาะสม เช่น ช่วยตนเองในสถานที่ส่วนตัว ไม่เป็นปัญหาการงาน ความสัมพันธ์กับผู้อื่น ก็อาจเป็นความต้องการทางเพศที่พอเหมาะ แต่ในคนที่มีความต้องการทางเพศมาก จนแสดงออกในทางผิด เช่นหมกมุ่นทางเซ็กซ์ ทำให้เกิดความเสียหายในหน้าที่การงาน กระทบความสัมพันธ์ระหว่างญาติมิตร เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน ไปจนถึงกระทำผิดกฎหมาย เช่น ข่มขืน กระทำชำเรา ทำอนาจารผู้อื่น หรือชอบโชว์ (Exhibitionist) ถือว่าผิดปกติ ควรได้รับการแก้ไขหรือพบแพทย์ สำหรับผู้ที่มีความต้องการทางเพศน้อย หากไม่แต่งงาน ไม่มีคู่ครอง หรือคู่ครองไม่มีปัญหา ก็ไม่ต้องแก้ไข เมื่อไม่ต้องใช้พลังงานทางเพศ เราสามารถนำพลังนั้นไปสร้างสรรค์งานอื่น ๆ ได้อีกมากมาย แต่หากเป็นปัญหากับคู่ครอง ควรแก้ไขปัจจัยเสี่ยง

หากแก้ไขไม่ได้ควรพบแพทย์เช่นกันค่ะ

เรื่องโดย : พญ.ชัญวลี ศรีสุโข

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.