อัลไซเมอร์, โปรตีน, ความจำเสื่อม, สมอง

อาหารต้องห้ามทำป่วย อัลไซเมอร์

อัลไซเมอร์ เสี่ยงเพราะอาหารต้องห้าม

จากนี้อาจารย์สาทิส อินทรกำแหง กูรูชีวจิต เล่าเรื่องสาเหตุความเจ็บป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์ ว่าเกิดจาก “อาหารที่กินเข้าไปค่ะ

….

ถ้าคุณกำลังอ่านบทความเรื่องนี้อยู่ด้วยความสนใจ (สำหรับแฟนๆชีวจิตนะครับ) แปลว่าคุณกำลังจะเรียนรู้การป้องกัน” อัลไซเมอร์

แต่ถ้าคุณกำลังเปิด บทความหน้านี้ และไม่รู้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวหนังสือที่กำลังวิ่งเป็นแถวๆอยู่ต่อหน้านั้นคืออะไร น่ากลัวคุณจะป่วยเป็นอัลไซเมอร์แล้ว

บังเอิญเหลือเกิน ขณะที่กำลังเขียนเรื่องอัลไซเมอร์อยู่ ผมนึกถึงหน้าตาของอาจารย์ผมคนหนึ่งได้ คือ อาจารย์นายแพทย์เจมส์ บาลช์ (James Balch) ผมไม่ได้พบหน้าท่านมาเกือบ 30 ปีแล้ว

นึกถึงท่าทางหน้าตาของท่านเวลาบรรยายเรื่องวิชาการต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาหารที่อาจจะเป็นบ่อเกิดของโรคอัลไซเมอร์

ท่านชอบพูดช้าๆ หน้าตาท่านเป็นคนใจดีและใจเย็น ยังจำได้ว่าท่านศีรษะเถิกหน่อยๆ หนวดเฟิ้มเหนือริมฝีปาก สวมแว่นตาวงกลมเบ้อเริ่ม ท่านเคยเปรียบเทียบการป่วยเป็นอัลไซเมอร์กับการขี้ลืมธรรมดาๆไว้ว่า

” ถ้าคุณนึกไม่ออกว่าคุณเอาแว่นตาวางไว้ที่ไหน แปลว่าคุณเป็น คนขี้ลืม ถ้าคุณไม่รู้ว่าคุณกำลังสวมแว่นตาอยู่  แปลว่าคุณ  ความจำเสื่อม  และถ้าคุณสวม แว่นตาอยู่ มองกระจก แล้วไม่รู้ว่าคนในกระจกเป็นใคร คุณป่วยเป็นอัลไซเมอร์แล้ว ”

ที่ผมพูดถึงอาจารย์บาลช์ขณะนี้ก็เพราะผมจะนึกถึงท่านเสมอ เวลาที่กำลังเขียนเรื่องเกี่ยวกับวิชาการ โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสารอาหาร

ท่านเป็นศิษย์เอกคนหนึ่งของอาจารย์ไลนัส พอลลิ่ง ซึ่งเป็นผู้เดียวในโลกที่เคยได้รับรางวัลโนเบลถึง 2 ครั้ง และอาจารย์ไลนัส พอลลิ่ง เป็นยอดอาจารย์ ในดวงใจของผม เพราะวิชาการต่างๆในด้าน ORTHO MOLECULAR นั้น ผมได้มาจากท่านทั้งสิ้น

จากนี้จะพูดถึงเรื่องสารอาหารประเภทโปรตีน โปรตีนนั้นแบ่งออกโดยคร่าวๆ  เป็นโปรตีนดีและโปรตีนเลว โปรตีนเลวมีอยู่กลุ่มหนึ่งซึ่งมีสารที่เราเรียกว่า เบต้า แอมเมิลลอยด์ (Beta-Amyloid) และเจ้าเบต้า แอมเมิลลอยด์นี้แหละเป็นสาเหตุสำคัญตัวหนึ่งในหลายๆสาเหตุที่ทำให้ป่วยเป็นอัลไซเมอร์

คราวนี้จึงถึงเวลาที่ผมจะขออ้อนวอนคุณๆ แฟนชีวจิตทั้งหลายให้อดทน ลองอ่านเรื่องวิชาการ นี้ให้มากขึ้นสักนิด น่า-ยิ้มหน่อยน่า นานๆ ผมจึงจะขอพูดเรื่องวิชาการ สักที ผมเองก็ไม่ชอบเลยที่จะต้องเขียนเรื่องหนักๆ ทางวิชาการ ขอเล่าเรื่องโปรตีนสักนิดว่า เป็นสารอาหาร (NUTRIENT) ซึ่งร่างกายขาดไม่ได้ ถ้าร่างกายขาดโปรตีน ก็คงจะอ่อนเพลียถึงตายท่าเดียว

อ่อนเพลีย, อัลไซเมอร์, โปรตีน, สมองเสื่อม, สมอง
ร่างกายที่ขาดโปรตีน จะรู้สึกอ่อนเพลีย

 

หน้าถัดไป

อ่อนเพลีย, อัลไซเมอร์, โปรตีน, สมองเสื่อม, สมอง
เลือกกินอาหารที่มีโปรตีนชนิดดี ช่วยป้องกันโรคอัลไซเมอร์ได้

โปรตีนเป็นสารอาหารซึ่งช่วยสร้างความเจริญเติบโตให้ร่างกาย ทำให้ร่างกายเกิดพลัง โดยเฉพาะส่วนสำคัญของร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อทั้งหมดของร่างกายนั้นต้องอาศัยโปรตีนเป็นผู้สร้างให้ทั้งสิ้น

นอกไปจากนั้นโปรตีนยังเป็นเหมือนโรงงานซึ่งช่วยสร้างฮอร์โมน สร้างภูมิต้านทาน เช่น แอนติบอดี้ สร้างเอนไซม์ซึ่งเป็นตัวเร่งสำคัญให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้ครบวงจรอีกด้วย

ความแปลกประหลาดอย่างหนึ่งของโปรตีนคือ เมื่ออยู่นอกตัวผู้บริโภค มันก็มีสภาพเป็นรูปอาหาร แต่เมื่อมันเริ่มเข้าปากผู้บริโภคเข้าไป มันก็จะเปลี่ยนรูปร่างจากอาหารกลายเป็นสารอาหาร ตามลักษณะการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีโดยสิ้นเชิงอย่างเช่น คุณบางคนที่ชอบรับประทานสเต๊กซึ่งเป็นเนื้อวัวชั้นดีพอคุณสั่งสเต๊กมาหนึ่งจาน เขาย่างเนื้อให้คุณใส่จานไม้ส่งกลิ่นหอมฉุยมาแต่ไกล

ตอนนั้นมันก็ยังเป็นก้อนเนื้อสเต๊กหอมฉุยก้อนหนึ่ง แต่พอคุณตัดชิ้นเนื้อส่งเข้าปาก เคี้ยวหยับ ๆ เพียง 2 – 3 ที มันก็จะไม่ใช่ชิ้นสเต๊กเนื้อวัวอีกต่อไป มันจะถูกย่อยในปาก แล้วไปย่อยต่อในกระเพาะอาหารและลำไส้ แล้วมันก็จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือด ความเป็นสเต๊กของมันหายไปหมด

โดยเหตุนี้เราจึงรู้ถึงความเป็นไปของโปรตีนว่า ตอนแรกมันจะเป็นสภาพของอาหาร และต่อไปเมื่อถูกเคี้ยว มันจะเริ่มแตกตัวออกเป็นตัวย่อย ๆ ซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ตอนที่มันแตกตัวนี้เราเรียกกันว่าจากสภาพของโปรตีน มันจะต้องแตกตัวออกเป็นแอมิโนแอซิด (AMINO ACID) ตามลักษณะของชีวเคมี แอมิโนแอซิดในโลกนี้มีกันอยู่หลายร้อยตัว แต่แอมิโนแอซิดซึ่งร่างกายเราต้องการมีเพียง 23 ตัวเท่านั้น ในจำนวน 23 ตัวนี้มีอยู่เพียง 8 ตัวที่ร่างกายขาดไม่ได้ เรียกว่า ESSENTIAL หมายความว่า จำเป็นสำหรับร่างกายและร่างกายขาดไม่ได้

อีก 17 ตัวเป็นแอมิโนแอซิดที่เรียกกันว่า NONESSENTIAL ซึ่งถ้าจะแปลว่า ไม่สำคัญต่อร่างกายก็ไม่ถูกต้องนัก แต่จริง ๆนั้นหมายความว่า ร่างกายสามารถสร้างเทียมขึ้นมาได้

สร้างเทียมแปลว่าอะไร ก็แปลว่า เมื่อร่างกายมี ESSENTIAL ขึ้นมาแล้ว ก็อาศัยแอมิโนแอซิดที่จำเป็นเหล่านี้ ผสมกับแอมิโนแอซิดตัวอื่น ๆ และสามารถสร้างเทียมแอมิโนแอซิดอีก 17 ตัวขึ้นมาได้

เอาละครับ ตอนนี้มาถึงปัญหาสำคัญหรือจะว่าเป็นปัญหาความเป็นความตายเกี่ยวกับอัลไซเมอร์ก็ว่าได้

แอมิโนแอซิดซึ่งกล่าวไว้ว่ามีอยู่ในโลกนี้อีกมากมายหลายร้อยตัวนั้น ส่วนมากมันจะเป็นแอมิโนแอซิด ซึ่งร่างกายไม่ต้องการ หรือไม่มีความจำเป็นต่อร่างกายเลย

แล้วจะทำอย่างไร แล้วแปลกไหมเล่าครับ พวกแอมิโนแอซิดหรือแท้ที่จริงคือโปรตีนพวกนี้ ส่วนมากผู้บริโภครู้อยู่แล้วว่ามัน ไม่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ผู้บริโภคเหล่านั้นท่านชอบกินและกินจนติดเสียด้วย ทำไมถึงติดเล่าครับ เพราะมันอร่อยและบางอย่างก็ทั้งอร่อยและแพงแสนแพง แต่ยังกิน เพราะกินเข้าไปนอกจากอร่อยแล้ว ยังเอาไปคุยกับใครได้อย่างโก้ “ฉันกินของแพงนะ คำหนึ่งตั้งหลายพันบาทเชียว รู้ไหม”

เอาละ คำตอบสั้น ๆ ว่า โปรตีนเลว ๆ ที่จะไปสร้าง PLAQUE (อ่านว่า พลัค) ในสมอง ทำให้เกิดโรคอัลไซเมอร์นั้น มีอะไรบ้าง

  1. ขอให้ระวังโปรตีนจากเนื้อสัตว์ ให้ระวังเนื้อสัตว์ที่มีมันมากเกินไปนั้นอย่างหนึ่งละ อีกอย่างหนึ่ง เนื้อชนิดครึ่งเนื้อครึ่งมันก็ต้องระวัง โดยเฉพาะท่านที่ชอบกินปิ้งย่างชนิดสุก ๆ ดิบ ๆ
  2. เพื่อให้ระวังและพิจารณาเรื่องโปรตีนจากเนื้อสัตว์แล้วก็คงสงสัยต่อว่า แล้วจะให้กินโปรตีนดี ๆ ชนิดไหนเล่า คำตอบคือ ขอให้ใช้เนื้อสัตว์ประเภทปลา (ได้ทั้งน้ำจืดและน้ำเค็ม)ร่วมกับอาหารทะเลอื่น ๆ กุ้ง หอยได้บ้าง

ในขณะเดียวกัน พยายามรับประทานโปรตีนจากเนื้อสัตว์ร่วมกับโปรตีนจากพืช (ถั่วเหลือง ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว)ให้ได้อัตราส่วนเนื้อสัตว์ – โปรตีนจากพืชประมาณครึ่งต่อครึ่งอย่างนี้จะได้โปรตีนที่สมบูรณ์และจะไปสร้างพลัคได้น้อยกว่าอันตรายน้อยกว่า

  1. ขอให้ระวังโปรตีนประเภทมาจากแป้งขาวและน้ำตาลปกติโปรตีนบางอย่างจากแป้งไม่ขัดขาว เช่น ข้าวกล้อง (จมูกข้าว) มันเทศ มันไข่นั้น มีโปรตีนที่ดีอยู่แล้ว ฉะนั้นขอให้ระวังโปรตีนจากแป้งขาวให้มาก ๆ ก็แล้วกัน
  2. ขอให้ระวังโปรตีนจากแป้งขาว นม เนย ของหวาน น้ำตาลขาวให้มาก ๆ โปรตีนแบบนี้เรียกว่า ไกลโคโปรตีน (GLYCOPROTEIN) จะสร้างพลัคได้ง่าย

นี่คือตัวอย่างอาหารซึ่งต้องระวัง

เรียบเรียงจากคอลัมน์ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิต ตีพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2554

ข้อมูลเรื่อง ” อาหารต้องห้ามทำป่วย อัลไซเมอร์ ” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 356 คอลัมน์ ” ปัญจกิจสุขภาพ ” เรื่องโดย: สาทิส อินทรกำแหง

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.