เพกา

เพกา “ลิ้นฟ้า” ผักพื้นบ้านสุดน่ารัก ที่เหมือนฟ้าแลบลิ้นให้เรา

เพกา “ลิ้นฟ้า” ผักพื้นบ้านสุดน่ารัก ที่เหมือนฟ้าแลบลิ้นให้เรา

“ไปเก็บฝักบักลิ้นฟ้ามาให้พ่อกินกับลาบหน่อย”

พ่อบอกฉันด้วยภาษาอีสาน เพื่อให้ไปเก็บฝักเพกา หรือที่คนอีสานเรียกกันว่า ‘บักลิ้นฟ้า’ บ้างก็ว่า ‘บักลิ้นไม้’ จากสวนหลังบ้าน มากินแนมกับลาบหมู นั่นทำให้ฉันฉุกคิดได้ว่าพืชผักพื้นบ้านนี้มีสรรพคุณดีมากมายเลยทีเดียว จึงอยากนำมาเล่าสู่กันฟัง

ฉันคิดว่า ชื่อ ‘ลิ้นฟ้า’ น่าจะเป็นคำอธิบายรูปลักษณะของฝักพืชชนิดนี้ได้ชัดเจนดี เพราะเหมือนรูปลิ้นยาวๆ ห้อยอยู่บนฟ้า ทว่าความจริงแล้วพืชชนิดนี้มีชื่อสามัญว่า ‘เพกา’ จึงสงสัยว่า ชื่อดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร หลังจากไปค้นหาข้อมูล  ก็พบข้อมูลหนึ่งจากวารสาช่อมะพะยอม ปีที่ 28 ระบุว่า เพกา เป็นคำที่เรายืมมาจากภาษาเขมรที่ออกเสียงว่า ‘pikau’   นอกจากนั้นยังระบุว่า  ต้นเดียวกันนี้ภาษาเขมรมีอีกชื่อหนึ่งซึ่งมีความหมายว่า ‘ต้นฝักดาบ’

จับเลี้ยงแก้ร้อนใน ต้องใส่เมล็ดในของฝักเพกา

สมัยที่ฉันเรียนเภสัชกรรมไทย อาจารย์หมอบางท่านที่มีความรู้ด้านแพทย์แผนจีนร่วมกับแพทย์แผนไทย เคยเล่าว่าเครื่องดื่มแก้ร้อนในของคนจีนที่เรียกว่า ‘จับเลี้ยง’ นั้น มีส่วนผสมสมุนไพรสำคัญอย่างหนึ่ง คือ เมล็ดในของฝักเพกา เพราะมีสรรพคุณเป็นยาเย็น มีรสขม ออกฤทธิ์ต่อปอด ตับ และใช้เป็นยาช่วยให้ปอดชุ่ม แก้ไอร้อน ร้อนในปอด ได้ดี น้ำจับเลี้ยงจึงจัดเป็นเครื่องดื่มสมุนไพรแก้ร้อนในชั้นดี

นอกจากนี้ใครที่ชอบร้องเพลง หรือต้องใช้เสียงมากๆ จะต้องหลงรักฝักเพกาเป็นแน่ เพราะเมล็ดในของฝักเพกามีสรรพคุณช่วยแก้เสียงแหบ แก้คออักเสบเจ็บคอ แก้หลอดลมอักเสบ คอตีบ ได้ด้วย

นี่ยังไม่นับรวมกับอีกหลายสรรพคุณดีที่ยังไม่ได้กล่าวถึง ทั้งทำให้ตับคลายตัวอ่อนลง ขับลมในกระเพาะอาหาร แก้ลมขึ้นจุกเสียดในกระเพาะอาหาร เรียกได้ว่าเมล็ดในของฝักเพกานั้นมีคุณอนันต์เลยทีเดียว

ฝักเพกาอ่อนเป็นยาร้อน สำหรับแพทย์พื้นบ้านไทย

แพทย์พื้นบ้านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับฝักอ่อนของเพกาสืบต่อกันมาว่า มีรสขมร้อน ช่วยให้ร่างกายอบอุ่น ประจวบเหมาะกับฤดูกาลที่ฝักพืชชนิดนี้ออก นั่นคือฤดูฝน ที่ชาวนาเริ่มหว่านกล้าทำนา มีไอความชื้นและความเย็นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัว การนำฝักเพกาอ่อนมาปรุงเป็นอาหารจึงช่วยอบอุ่นร่างกายให้ต่อสู้กับอากาศเย็นชื้นจากละอองฝนได้ รวมทั้งช่วยไม่ให้เจ็บป่วย เป็นโรคหวัด ไอ หรือหอบหืด

และเพราะเป็นยาร้อน แพทย์พื้นบ้านจึงห้ามไม่ให้แม่ลูกอ่อนกินฝักเพกา เพราะอาจทำให้แท้งบุตรได้

ลิ้นฟ้าฆ่าคอเรสเตอรอล ต้านมะเร็ง

มีรายงานทางเภสัชวิทยาระบุว่า เพกามีฤทธิ์ลดคอเรสเตอรอล ทำให้เลือดไหลเวียนดี  และมีรายงานวิจัยผักพื้นบ้านจากสถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่า เพกา เป็นหนึ่งในสี่ผักพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ต้านการก่อมะเร็งสูงสุด เพราะฝักเพกามีวิตามินซีสูงถึง 484 มิลลิกรัม/100 กรัม เทียบเท่ากับมะขามป้อม ผลไม้ไทยที่ได้ชื่อว่าเป็นราชินีวิตามินซี นอกจากนี้ฝักเพกายังมีวิตามินเอ สูงมาก  เรียกได้ว่า กินฝักเพกาเป็นอาหาร 1 คำ ได้ประโยชน์สุขภาพกันไปเต็มๆ

จริงๆ แล้ว ส่วนอื่นๆ ของต้นเพกา หรือ ที่คนอีสานเรียกว่า ต้นลิ้นฟ้า นั้นยังมีประโยชน์ในเชิงสมุนไพรอีกหลากหลาย เช่น  ใบ เป็นยาเย็น มีรสฝาดขม ต้มดื่มแก้ปวดข้อ ปวดท้อง ช่วยเจริญอาหาร ราก เป็นยาบำรุงธาตุ ทำให้เกิดน้ำย่อยอาหาร ช่วยขับเสมหะ เป็นยาแก้ท้องร่วง เปลือกต้น รสฝาดเย็นขม ใช้สมานแผล แก้น้ำเหลืองเสีย ดับพิษโลหิต หากต้มกินหรือบดทำยาลูกกลอน จะช่วยขับเหงื่อ แก้ไขข้ออักเสบเฉียบพลัน

“ก้อยบักลิ้นฟ้า” เมนูขมอร่อยจากฝักลิ้นฟ้า

ฉันเคยไปเยือน จ.อุบลราชธานี ครั้งหนึ่ง และได้กินเมนู ‘ก้อยบักลิ้นฟ้า’ เป็นเครื่องจิ้มที่อร่อยมาก และพอลิ้นฟ้าที่บ้านติดผลก็เล็งไว้ว่าจะลองทำ จึงค้นวิธีทำจากตำราอาหารอีสานเล่มหนึ่ง ได้ความว่า  ให้นำฝักลิ้นฟ้าไปย่างไฟแรงๆ ให้ผิวด้านนอกเกรียม จากนั้นนำไปล้าง ขูด   แล้วซอยตามขวางเป็นชิ้นบางๆ ก่อนนำไปเคล้าในครกพร้อมกับ ข้าวคั่ว พริกป่น น้ำปลา น้ำมะนาว คล้ายๆ กับเครื่องลาบอีสาน แต่ใส่น้ำปลาร้าลงไปด้วย แล้วเติมต้นหอมผักชีซอยใส่ลงไป ตักใส่ถ้วยขึ้นพาข้าว (สำรับ) พร้อมผักสด ผักลวก

ก็แปลกดีนะกินเมนูผักกับผัก แต่อร่อยได้ใจ ที่สำคัญคือรสขมอ่อนๆ ของลิ้นฟ้านั้นกลับเพิ่มเสน่ห์ให้แต่ละคำของข้าวเหนียวที่เคี้ยวกินนั้นอร่อยล้นใจ   


 เรื่องโดย สิทธิโชค ศรีโช

เอกสารอ้างอิง

หนังสือ “แนวกินอีสาน 1” สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรสกลนคร สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

หนังสือ “บันทึกของแผ่นดิน เล่ม ๒ ผักเป็นยารักษาชีวิต” โดย ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

หนังสือ “สารานุกรมสมุนไพรไทย – จีน ที่ใช้บ่อยในประเทศไทย” ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก คณะกรรมการวิชาชีพการแพทย์แผนจีน สำนักสภาพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.