ประสบการณ์ชีวิต,เบาหวาน,โรคเบาหวาน,ชกมวย

ชกมวยน็อกเอาท์เบาหวาน

ย่างสามขุมเข้าหาลูกศิษย์หนุ่มมุมน้ำเงินอย่างไม่กลัวเกรง ทั้งสองผลัดกันแลกหมัดอย่างสนุกสนาน
ไม่ทันหมดยกแรก ฝ่ายลูกศิษย์ก็ออกอาการหอบแฮก โบกมือยอมแพ้หยอยๆ ครูอ๊อดอดนึกถึงตัวเองเมื่อสี่ปีที่แล้วไม่ได้ ผลพวงจากการเป็นโรคเบาหวานแบบไม่ทันตั้งรับ อย่าว่าแต่ขึ้นชกเลย แค่เดินธรรมดาเขาก็เหนื่อยจนแทบขาดใจแล้ว หากเขาไม่ยอมแพ้ ลุกขึ้นสู้ทวงความแข็งแรงกลับคืนมา จึงเป็นจุดเริ่มต้นสู่สังเวียนการชกมวยเพื่อสุขภาพ

ยกที่ 1 พ่าย บ.เบาหวาน ศิษย์แม่น้ำตาล
ตลอดวัยหนุ่ม ครูอ๊อดสุขภาพแข็งแรงมาก เขาทำงานขับรถโดยสารอย่างแข็งขัน ไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ มีเพียงพฤติกรรมการกินอาหารเท่านั้น ที่เป็นเสมือนภัยเงียบ
ครูอ๊อดเล่าว่า “ผมชอบกินขนมหวานมาตั้งแต่เด็ก ตู้เย็นที่บ้านมีของกินทุกชนิด ขนมหม้อแกงเอย ทองหยอดเอย โดยเฉพาะทองหยิบแช่เย็น ผมกินครั้งละเกือบกิโลกรัม ระหว่างดูโทรทัศน์ไปเพลินๆ ยิ่งช็อกโกแลตด้วยแล้ว ชอบจนใครๆ ต้องซื้อมาฝากเสมอ
“น้ำเปล่านี่แทบไม่แตะ แต่ผมจะเตรียมน้ำอัดลมไว้ดื่มแทน บางคืนเผลอดื่มน้ำอัดลมก่อนนอนเป็นลิตรๆ บางคืนก็กินผลไม้กระป๋องแช่ช่องฟรีซเย็นๆ”
ความสุขเล็กๆ น้อยๆ จากการกิน ชักนำโรคเบาหวานมาหาครูอ๊อดอย่างรวดเร็ว และรุนแรงประหนึ่งหมัดฮุก สอยจนเขาร่วงเข้าโรงพยาบาล
“สี่ปีที่แล้ว หลังกลับจากทำงาน จู่ๆ ผมก็รู้สึกวูบ เวียนหัวจะเป็นลม หมอตรวจพบว่าระดับน้ำตาลในเลือดสูงถึง 700 (มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ส่วนความดันเลือดขึ้นเกือบ 170 (มิลลิเมตรปรอท) เฉียดอาการช็อก เลยให้แอทมิททันที พร้อมเริ่มรักษาเบาหวาน”
ครูอ๊อดอดทนกินยาลดระดับน้ำตาลนานสองปี กระทั่งน้ำตาลเหลือ 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ แต่ร่างกายกลับซูบผอม หมดเรี่ยวหมดแรง อีกทั้งมีอาการปวดตามข้อต่างๆ ตามมา
“หมอเตือนว่า ถ้ากินยามากอาจเป็นอันตรายต่อร่างกาย อีกอย่างผมกลัวเป็นโรคไต ซึ่งเป็นผลข้างเคียงจากโรคเบาหวาน เลยอยากดูแลร่างกายให้มากกว่านี้ จึงหันมาชกมวยตามคำชักชวนของครูผู้ฝึกสอน ที่รู้จักกันโดยบังเอิญ”

ยกที่ 2 วิ่งฟิตซ้อมคลายปวดข้อแขนและขา
ทว่าอาการปวดชาตามข้อแขนและขาเพราะปลายประสาทอักเสบ ซึ่งเป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวาน เป็นอุปสรรคด่านแรก ที่ทำให้ครูอ๊อดเคลื่อนไหวเชื่องช้าอย่างทรมาน จนชกมวยไม่ได้ดั่งใจ
เพื่อเสริมสร้างกำลังข้อในการยืดเหยียด และเตะต่อยให้แข็งแรงว่องไว เขาหาทางออกด้วยการวิ่ง โดยเล่าขั้นตอนให้ฟังว่า
“เพราะปวดตามนิ้วมือ แขน ขา ไปหมด ทำอะไรก็ไม่สะดวกเหมือนข้อโดนยึดไว้ ผมจึงต้องเริ่มจากเดินช้าๆ ทีละก้าว ประมาณวันละหนึ่งชั่วโมง แล้วถึงเร่งความเร็วในการเดินขึ้น
“ผ่านไปสองเดือนเริ่มวิ่งเหยาะๆ ได้บ้าง ผมไปวิ่งที่ศูนย์กีฬาเยาวชนฯ ราวหกโมงเย็นทุกวัน พอเห็นคนวิ่งปร๋อก็ฮึดสู้บ้าง อดทนวิ่งอยู่อีกสองเดือน ใช้วิธีค่อยๆ เร่งความเร็วเหมือนเดิม จากวิ่งได้แค่ครึ่งรอบสนาม ก็พัฒนาขึ้นจนวิ่งได้ครบรอบแบบสบายๆ”
จากความพยายามนี้ ทำให้ครูอ๊อดไม่มีอาการปวดข้อหลงเหลือ ครูอ๊อดจึงสั่งตัวเองให้วิ่งก่อนชกมวยทุกครั้งจนเป็นนิสัย
“ผมวิ่งวอร์มร่างกายเพิ่มเป็นวันละห้ารอบสนาม ราวๆ ครึ่งชั่วโมงได้ ยังไม่ทันจะเริ่มชกมวยก็เหงื่อเปียกซ่กเป็นทางแล้ว” ครูอ๊อดหัวเราะร่วน

ยกที่ 3 หลากท่าต่อย & เตะลดน้ำตาล
การชกมวย (แบบไม่หักโหม) ทำให้ร่างกายได้ออกกำลังทุกส่วน นอกจากช่วยลดภาวะดื้ออินซูลินแล้ว ยังช่วยกระตุ้นให้เกิดการเผาผลาญน้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง ด้วยเหตุนี้ ครูอ๊อดจึงตั้งใจชกมวยอย่างสม่ำเสมอ มุ่งมั่นเอาชนะเบาหวานให้ได้
เขาลุกขึ้นยืน แล้วเริ่มแนะนำท่าชกมวยต่างๆ พร้อมทำท่าประกอบการอธิบายไปด้วยว่า
“เริ่มจากท่าเตรียม ให้ยืนแยกเท้ากว้างกว่าหนึ่งช่วงไหล่เล็กน้อย ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า (หากถนัดซ้าย ให้ก้าวขาขวาไปข้างหน้า) บิดตัวไปทางขวา 45 องศา งอเข่าทั้งสองพอประมาณ
“กำหมัดหลวมๆ ทั้งสองมือ ถ้าใช้กระสอบทรายควรสวมนวมด้วย ป้องกันมือซ้นแตกเป็นแผล จากนั้นงอข้อศอกซ้ายแนบแขนท่อนบนในแนวตั้งฉาก ให้กำปั้นอยู่ระดับไหล่ ส่วนข้อศอกขวาให้งอแนบลำตัวข้างขวาในแนวนอน กำปั้นอยู่เหนือเอวเล็กน้อย”
เมื่อซักซ้อมท่าเตรียมได้คล่องแคล่วแล้ว ครูอ๊อดจึงชวนทำท่าต่อไป ดังนี้
• ท่าเตะ ยืนท่าเตรียม บิดเท้าด้านหน้าให้อยู่แนวขวาง หันส้นเท้าออกนอกตัว จะช่วยส่ง
แรงเตะจากขาหลังได้เต็มที่ ให้เตะข้างขวา 10-20 ครั้ง แล้วสลับเตะข้างซ้าย (เปลี่ยนวางเท้าขวาไว้ด้านหน้า) จากนั้นจึงเตะเป็นชุด โดยเลือกตามถนัดว่าจะเตะแบบ ชุด 2 จังหวะ หรือ 3 จังหวะ วันละสิบชุด ดังนี้

ยกที่ 4 สังเวียนแห่งความสำเร็จ
สองปีของการชกมวยเป็นประจำ ครูอ๊อดก็กำราบโรคเบาหวานได้อยู่หมัด เขาเล่าด้วยน้ำเสียงมีความสุขว่า
“ผมไปตรวจตามหมอนัดทุกสี่เดือน ระดับน้ำตาลค่อยๆ ลดลงทีละน้อย จาก 170 เหลือ 105 (มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) ตรวจกี่ครั้งก็ไม่เจอความผิดปกติ ไม่มีอาการปวดข้อ หรือความดันโลหิตสูงอีกเลย ผมจึงเลิกกินยาลดเบาหวานตั้งแต่นั้นมา แล้วชกมวยบริหารควบคู่ไปด้วยทุกวัน
“คุณหมอยังชวนไปเป็นวิทยากรแนะนำการออกกำลังกายให้ผู้ป่วยเบาหวานคนอื่นๆ อีกด้วย ส่วนนอกเวลางานแล้ว ผมจะมาช่วยเป็นครูฝึกสอนชกมวยสากลที่ศูนย์กีฬาเยาวชนฯ ให้เด็กๆ จะได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์ครับ”

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากใจฮึดสู้ ไม่ว่าจะเจ็บป่วยกี่ยกต่อกี่ยกก็เอาชนะได้เสมอค่ะ

ข้อมูลเรื่อง “ชกมวยน็อกเอาท์เบาหวาน” จากนิตยสารชีวจิต ฉบับที่ ….

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.