คางทูม

ภาวะโรคแทรกซ้อนที่มากับ คางทูม

คางทูม

คุณทราบหรือไม่ ว่า คางทูม (Mumps) คือโรคติดเชื้อเฉียบพลันที่เกิดจากเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งซึ่งมักจะเกิดกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ทั้งนี้โรคดังกล่าวหากเกิดในเด็ก (อายุระหว่าง 5 -10 ปี) อาการมักไม่รุนแรงนัก แต่ถ้าเป็นในผู้ใหญ่และไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่คาดไม่ถึงตามมาได้

อาการของโรคคางทูม

คางทูมเป็นโรคติดเชื้อชนิดหนึ่งที่ติดต่อกันโดยตรงทางการหายใจ การจาม ไอ และการสัมผัสกับน้ำลายของผู้ป่วย เช่น การดื่มน้ำและกินอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน เมื่อได้รับเชื้อ ผู้ป่วยจะเริ่มมีไข้ต่ำ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และปวดเมื่อยตามตัว หลังจากนั้นจะมีอาการเจ็บบริเวณขากรรไกร เนื่องจากต่อมน้ำลายบริเวณข้างหูบวมโตขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการปวดหูเวลาพูด กลืน และเคี้ยวอาหารได้ลำบากมากขึ้น

หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รักษา เชื้อไวรัสดังกล่าวจะเข้าไปเพิ่มจำนวนในเยื่อบุทางเดินหายใจและต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงของเรา จากนั้นจะซึมเข้าสู่กระแสเลือด และทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ตามมาได้

โรคแทรกซ้อนที่มากับคางทูม

  • อัณฑะอักเสบ เด็กวัยรุ่นและเพศชายที่ป่วยเป็นโรคคางทูมราว 1 ใน 4 คน มักจะมีอาการอัณฑะอักเสบร่วมด้วย ทั้งนี้อาการดังกล่าวมักเกิดหลังจากต่อมน้ำลายอักเสบราว 4-10 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดบวมที่ลูกอัณฑะ เมื่อกดดูจะรู้สึกเจ็บและอึดอัด โดยทั่วไปจะปวดอยู่ราว 2 -4 วันก่อนจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้อาการอักเสบที่ลูกอัณฑะอาจเป็นข้างเดียวหรือสองข้างก็ได้ และสำหรับคนที่ลูกอัณฑะเกิดการอักเสบทั้งสองข้าง อาจทำให้อัณฑะที่บวมอยู่ถูกบีบให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด ทำให้ขาดการยืดหยุ่น และมีขนาดเล็กลงเรื่อยๆ หากไม่รีบไปรักษา อาจทำให้เป็นหมันได้
  • รังไข่อักเสบ พบในผู้หญิงวัยแตกเนื้อสาว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีไข้และปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย ทั้งนี้ยังพบอีกว่าผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคคางทูมในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์มีอัตราเสี่ยงต่อการแท้งบุตรและคลอดก่อนกำหนดอีกด้วย
  • เยื่อหุ้มสมองอักเสบชนิดไม่พบเชื้อ เป็นโรคแทรกซ้อนชนิดรุนแรงอีกอย่างหนึ่งที่มากับโรคคางทูม ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดศีรษะอย่างหนักและซึมเศร้า คอแข็ง หลังแข็ง และมีอาการชัก หากรักษาไม่ทันอาจทำให้เสียชีวิตได้
  • ประสาทหูอักเสบ พบได้ประมาณ ร้อยละ 4-5 ส่วนใหญ่มักจะอยู่เพียงชั่วคราว และหายได้เอง ซึ่งอาการประสาทหูอักเสบเนื่องจากโรคเกิดจากเชื้อไวรัสชนิดดังกล่าวเข้าไปทำลายระบบการได้ยินของหู ส่งผลให้หูชั้นในเกิดการอักเสบ ซึ่งหากไม่รักษาอาจทำให้ผู้ป่วยมีอาการหูตึง หรือหูหนวกได้

นอกจากนั้น โรคคางทูมยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอื่นๆตามมาอีกมายมาย เช่น โรคตับอ่อนอักเสบ ไตอักเสบ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ไขข้ออักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ เป็นต้น ซึ่งโรคทั้งหมดที่กล่าวมานี้ จะแสดงอาการมากน้อยขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน

การรักษาและป้องกัน

ปัจจุบันโรคคางทูมยังไม่มียารักษา แต่เราสามารถป้องกันได้โดยการฉีดวัคซีน ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขได้ให้วัคซีนป้องกันโรคคางทูม ซึ่งมักจะอยู่ในรูปของวัคซีนรวม ทั้งโรคหัด คางทูม และหัดเยอรมันที่มีชื่อว่าเอ็มเอ็มอาร์ (MMR) โดยจะให้กับเด็กทั่วประเทศ ครั้งแรกเมื่อเด็กอายุเก้าเดือน และรับครั้งที่สอง เมื่ออยู่ชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่ง

สำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคคางทูม ให้รักษาตามอาการ เช่น หากอ่อนเพลียให้นอนพักและดื่มน้ำมากๆ เวลามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดไข้ ในกรณีที่คางบวมมากๆให้ใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณที่เป็นคางทูม และหมั่นทำความสะอาดในช่องปากเพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นต้น

ในอดีต คนไทยส่วนใหญ่นิยมนำใบเสลดพังพอนมาตำผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ทาบริเวณคางที่บวม 2-3 ครั้งต่อวัน ก็จะทำให้อาการบวมลดลงได้ ซึ่งใครที่เคยป่วยเป็นโรคคางทูมแล้ว จะไม่กลับมาเป็นอีก

ข้อปฏิบัติในการดูแลผู้ป่วย

ในกรณีของคนใกล้ชิดหรือกลุ่มเสี่ยงที่อยู่ใกล้ผู้ป่วยโรคคางทูม มีข้อแนะนำดังต่อไปนี้

  • แยกผู้ป่วยโรคคางทูมออกจากผู้อื่น เป็นเวลา 9 วัน หลังจากมีอาการบวมของต่อมน้ำเหลือง พร้อมทั้งสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสดังกล่าวแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นๆ
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสิ่งปนเปื้อนของผู้ป่วยโรคคางทูม ไม่ว่าจะเป็นเสมหะ น้ำลาย ที่เกิดจากการจามหรือไอของผู้ป่วย รวมถึงงดใช้ภาชนะต่างๆ ร่วมกับผู้ป่วย เป็นต้นว่า ช้อน แก้วน้ำ ผ้าเช็ดหน้า เพื่อป้องกันการรับเชื้อ เป็นต้น

ขอบคุณข้อมูลจาก นิตยสารชีวจิต

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.