ปรับกิจวัตร ต้านข้อเสื่อมก่อนวัย

ปรับกิจวัตร ต้านข้อเสื่อมก่อนวัย

รู้จัก โรคข้อเสื่อม พร้อมสังเกตอาการ และ วิธีการป้องกัน

เชื่อไหมคะว่า ยังไม่ทันแก่ข้อก็เสื่อมกันได้ฉันเป็นคนหนึ่งที่เชื่อว่า โรคข้อเสื่อม จะเกิดก็ต่อเมื่ออายุเฉียดเลข 5 เลข 6 แล้วเท่านั้นคนในวัยเลข 3 ไม่น่าจะมีปัญหา จนเมื่อเข่าเริ่มส่งเสียงดังกรอบแกรบให้ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง จึงได้เวลาขอคำปรึกษาจากคุณหมอผู้เชี่ยวชาญด้านโรคข้อเพื่อความแน่ใจ

สังเกตอาการข้อเสื่อม

นายแพทย์สูงชัย อังธารารักษ์ แพทย์โรคกระดูกและข้อ โรงพยาบาลราชวิถี และรองศาสตาจารย์ แพทย์หญิงวิไล คุปต์นิรัติศัยกุล หัวหน้าภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล อธิบายถึงสัญญาณเตือนอาการข้อเสื่อมไว้ว่า

  • ข้อมีเสียงกรอบแกรบ เป็นลักษณะสำคัญของข้อเสื่อม ลองคลำที่เข่าแล้วเคลื่อนไหวเข่าดูว่ามีเสียงกรอบแกรบหรือไม่ อย่างไรก็ตามหากเป็นในคนอายุไม่มาก สาเหตุมักมาจากข้อหลวม เอ็นหลวมโดยอาการนี้อาจทำให้เกิดข้อเสื่อมในอนาคตได้เช่นกัน
  • ปวด เป็นอีกอาการหนึ่งที่สำคัญที่ส่อแววข้อเสื่อม โดยมักมีอาการเมื่อใช้หรือเคลื่อนไหวข้อ เช่นยืน เดินนานๆ ขึ้น – ลงบันได โดยอาการปวดมีหลายลักษณะ เช่น ปวดแบบเป็นๆ หายๆ เมื่อพักการใช้เข่าอาการปวดจะทุเลาลง และจะปวดมากขึ้นเมื่อมีการใช้งานข้อมากขึ้น

โรคข้อเสื่อม

นอกจากนี้คุณหมอยังเล่าว่า อาการปวดตึงน่อง อาการปวดลึกๆ ภายในข้อ และอาการปวดตรงรอยต่อของข้อ ก็สัมพันธ์กับอาการข้อเข่าเสื่อมด้วยเหมือนกัน และในรายที่เป็นมากมักมีอาการปวดตลอดเวลา

  • ข้อฝืด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเดินแล้วนั่งพัก หรือตื่นขึ้นมาตอนเช้า อาการฝืดตึงที่ข้อจะเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ คือ10 – 15 นาที บางรายอาจมีอาการข้อติดด้วย
  • ข้อผิดรูป โดยข้อจะมีขนาดใหญ่ขึ้น บวมโตขึ้น เข่าบวมโต หรือบางรายขาอาจโก่งออก อาการข้างต้นคือสัญญาณของข้อเสื่อม ว่าแต่สาเหตุคืออะไร
  • คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

พฤติกรรมทำร้ายข้อ

คุณหมอสูงชัยและคุณหมอวิไลบอกว่า แม้ข้อของเราทุกคนจะต้องเสื่อมไปตามกาลเวลา แต่อิริยาบถที่เกิดจากพฤติกรรมและกิจวัตรประจำวันที่ไม่ถูกต้องก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดอาการข้อเสื่อมเร็วกว่าปกติ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในช่วงอายุ 50 – 60 ปีได้ นั่นคือ

ใส่รองเท้าส้นสูง การใส่รองเท้าส้นสูงทำร้ายข้ออย่างชัดเจนโดยเฉพาะข้อเข่า คือจะทำให้ข้อเข่ามีแรงกดทับมากกว่าปกตินอกจากนี้ยังทำร้ายข้อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าได้เช่นเดียวกันเพราะเป็นอวัยวะที่ต้องรับน้ำหนักก่อนจุดอื่นๆ และเป็นจุดที่รับน้ำหนักได้ง่าย

โรคข้อเสื่อม

คนที่ข้อเข่าไม่ค่อยแข็งแรงที่ไม่ชอบออกกำลังกาย มีประวัติครอบครัวที่ป่วยเป็นโรคข้อมาก่อนหรือมีโครงสร้างร่างกายผิดปกติจะเสี่ยงมากกว่าคนปกติ

สะพายกระเป๋าหนัก การถือของหรือยกของมีผลกับข้อเข่าและข้อโคนนิ้วหัวแม่เท้า เพราะน้ำหนักของของจะลงที่บริเวณดังกล่าวโดยตรง

นั่งงอเข่ามากกว่า 90 องศา การนั่งงอเข่ามากกว่า 90 องศาซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนั่งกับพื้น เช่น การนั่งพับเพียบ ขัดสมาธิหรือนั่งยองๆ นั้นทำให้เกิดอาการปวดข้อได้ง่าย และทำให้เกิดอาการข้อเสื่อมตามมาได้เร็วขึ้น

โดยเฉพาะในรายที่นั่งพับเพียบนานๆ เพราะข้อต่างๆ ถ้าไม่ได้เคลื่อนไหว กระดูกอ่อนผิวข้อที่ทำหน้าที่ลดแรงเสียดทานและลดแรงกระแทกจะไม่ได้รับน้ำและอาหาร จึงไม่แข็งแรงและก่อความเสื่อมได้

คลานเข่า การคลานเข่า คุกเข่า หรือชันเข่านานๆ อาจทำให้เกิดปัญหาที่ลูกสะบ้ากระดูกบริเวณเข่า และกระดูกต้นขา เพราะต้องรับน้ำหนักทั้งตัว ทำให้เกิดอาการเอ็นอักเสบ มีถุงน้ำ ถ้าได้รับการกดทับ

บ่อยๆ แล้วเกิดกระดูกงอก น้ำหนักจะลงที่กระดูกงอกนั้นทำให้ไม่มีการกระจายแรงเกิดปัญหาข้อเสื่อมตามมาได้

ขึ้น – ลงบันไดบ่อยครั้ง การเดินขึ้นลงบันไดทำให้เกิดแรงต้านทานบริเวณข้อมากขึ้นข้อที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ข้อเข่าและข้อเท้า โดยจะได้รับน้ำหนัก 3 – 4 เท่าของน้ำหนักปกติ คนที่มีน้ำหนักมากจึงไม่ควรขึ้น – ลงบันไดบ่อยครั้งโดยไม่จำเป็น

บาดเจ็บที่ข้อในช่วงวัยรุ่น อุบัติเหตุหรือการเล่นกีฬาจนได้รับบาดเจ็บ หรือใช้ข้อต่างๆ บ่อยจนล้า จะทำให้ความแข็งแรงของข้อลดลง ข้อจะบาดเจ็บได้ง่าย ซึ่งทำให้เกิดข้อเสื่อมตามมา

พบสาเหตุแล้วจึงต้องขอเคล็ดลับการดูแลและถนอมข้อจากคุณหมอ เพื่อนำมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่ให้ทำลายข้อ

คลิกเพื่ออ่านต่อหน้าถัดไป

การใช้ข้ออย่างถูกวิธี

ต่อไปนี้คือคำแนะนำจากคุณหมอสองท่านและข้อมูลดีๆ จากหนังสือ โรคข้อ ความรู้สำหรับประชาชนโดยมูลนิธิโรคข้อในพระราชูปถัมภ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี

จัดระเบียบและวิธีการทำงานใหม่

  1. การทำงาน ควรเปลี่ยนท่าทางการทำงานบ่อยๆ ทั้งขณะทำงานและพัก
  2. การซักผ้า ซักทีละไม่มากชิ้น โดยนั่งซักบนม้านั่งเตี้ยๆ และเหยียดขาสองข้างออกไป ถ้าสามารถใช้เครื่องซักผ้าได้ก็จะเป็นการดี
  3. การรีดผ้าเลี่ยงการนั่งพื้นรีดผ้า ควรใช้โต๊ะรีดผ้าโดยการนั่งเก้าอี้หรือยืนรีด และควรหาม้านั่งเตี้ยๆ มารองเท้าเพื่อพักขาข้างหนึ่งไว้ เพื่อช่วยพักกล้ามเนื้อขาและหลัง
  4. การถูพื้น ควรเลี่ยงการก้มหรือคลานถูพื้นบ้าน หรือการทำความสะอาดห้องน้ำ ให้ใช้ไม้ม็อบถูพื้นแทน

โรคข้อเสื่อม

ลดแรงที่กระทำต่อข้อที่มากเกินไป

  1. การสวมรองเท้าที่เหมาะสม ควรเลือกรองเท้าส้นเตี้ยหรือไม่สูงจนเกินไป พื้นนุ่มมีความยืดหยุ่นดี ใส่สบาย บริเวณพื้นรองเท้าเสริมอุ้งเท้า
  2. การยกของ ใช้การผลักหรือดันสิ่งของแทนการยกหรือหิ้ว เช่น การเลื่อนลัง
  3. การนั่ง เช่น การนั่งขัดสมาธิขณะทำสมาธิ ควรนั่งสมาธิบนเก้าอี้แทนการนั่งขัดสมาธิที่พื้น หรือการไปวัดฟังเทศน์ฟังธรรมก็ควรนั่งขอบบันได หรือนั่งบนเก้าอี้แทนการนั่งพับเพียบ
  4. การอ่านหนังสือ หนังสือบางเล่มหนัก หรือบางเล่มต้องอ่านนาน การถือหนังสือค้างไว้จะทำให้ต้องเกร็งข้อมือและข้อนิ้วมือนาน ทำให้ข้ออักเสบหรือปวดข้อได้ดังนั้นจึงควรหาที่สำหรับวางหนังสือ โดยวางในตำแหน่งที่อยู่ตรงกลางลำตัวและอยู่ในระดับสายตาพอดี และควรเลือกท่านั่งที่สบายที่สุด
  5. การใช้ห้องน้ำ ในรายที่ใช้ส้วมนั่งยองๆ อาจปรับโดยหาม้าสามขาคร่อมบนส้วมซึมและนั่งบนม้าสามขาแทน หรือเปลี่ยนไปใช้ส้วมแบบชักโครก
  6. การเทน้ำจากกล่องหรือขวดขนาดใหญ่ การเทด้วยมือข้างเดียวอาจทำให้มือหรือข้อนิ้วต้องออกแรงมากเกินไป ส่งผลให้ปวดหรืออักเสบได้ ดังนั้นควรเทน้ำด้วยมือสองข้างโดยการจับตำแหน่งตรงกลางกล่องหรือขวด เพื่อจะได้ไม่ต้องเกร็งข้อไหล่หรือข้อศอก

ใช้ข้อที่ใหญ่กว่าแทนข้อที่เล็กกว่า

  1. ถือกระเป๋า ควรใช้ข้อที่ใหญ่หรือแข็งแรงกว่าในการช่วยถือกระเป๋า เช่น ใช้ไหล่สะพายเป้หรือกระเป๋า ใช้แขนคล้องกระเป๋าหรือผูกกระเป๋าติดลำตัว ใช้ข้อศอก ข้อมือ หรือแขน แทนการใช้ข้อนิ้วมือ
  2. การลุกจากเก้าอี้ ควรใช้แขนทั้งสองข้างช่วยพยุงตัวเวลาลุกจากเก้าอี้แทนการใช้ข้อนิ้วหรือข้อมือ

แม้ในวันนี้อาการข้อเสื่อมยังไม่ถามหา แต่ไม่ควรนิ่งนอนใจ เพราะอาการเหล่านี้เราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเอง เมื่อมีอาการควรรีบแก้ไขพฤติกรรมเสียแต่วันนี้

            รู้แล้วปฏิบัติทันที มีชัยไปกว่าครึ่งแล้วนะคะ

 ข้อมูลจาก : นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 266 

 

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.