ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน

ผู้หญิงต้องรู้ “ปวดท้องน้อย” เสี่ยงอะไรบ้าง

ผู้หญิงต้องรู้ “ปวดท้องน้อย” เสี่ยงอะไรบ้าง

ปวดท้องน้อย  เชื่อว่าในชีวิตของลูกผู้หญิงหลายคนจะต้องเคยมีประสบการณ์นี้กันบ้าง อาจะปวดน้อย ปวดมาก แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่แต่ละบุคคลในระหว่างที่มีประจำเดือน แต่คุณรู้หรือไม่ว่า อาการปวดท้องน้อย ปวดหน่วงๆ บางครั้งก็ไม่ใช่เรื่องปกติของของเดือนเสมอไป หากมาพร้อมกับอาการปวดท้องน้อยเรื้อรังทุกวัน รอบเดือนมากผิดปกติ ปวดหน่วงๆ จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำอื่นได้

นั่นอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคต่างๆได้ การปวดท้องน้อย สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ มีทั้งแบบเรื้อรัง และทันทีทันใด ขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ต่างกัน

การปวดท้องน้อยเรื้อรัง

โดยส่วนใหญ่จะเริ่มจากปวดแบบเป็นๆ หายๆ กระทั่งปวดตลอดเวลา หรืออาจจะปวดหน่วงๆ เป็นช่วงๆ ไม่สม่ำเสมอ บางรายปวดร่วมกับการมีประจำเดือน ตามหลักเมื่อสตรีมีประจำเดือนไม่ควรจะปวด หรือปวดเพียงเล็กน้อยพอรู้สึก ถ้าปวดมากมักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นจากโรคอื่นๆ เช่น เนื้องอกมดลูก (ถ้าก้อนโตมากๆ อาจคลำได้ก้อนที่บริเวณท้องน้อย หรือมีอาการท้องโตคล้ายคนท้อง) ซีสต์ที่รังไข่ และ เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญขึ้นผิดที่

อาการปวดมักจะเป็นต่อเนื่องกันมากกว่า 3-6 เดือน มีอาการเลือดออกกะปริบกะปรอย หรือมีประจำเดือนออกมาก หรือนานผิดปกติ บางรายอาจมีอาการปวดขณะถ่ายปัสสาวะ หรือร่วมเพศ และอาจคลำเจอก้อนเนื้อที่ท้องน้อย

ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน

จะมีอาการปวดท้องน้อยเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด และมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน เป็นลม สาเหตุจากการขาดเลือดไปเลี้ยงที่อวัยวะในช่องท้องที่เป็นสาเหตุ หรืออาจเกิดจากอวัยวะที่เป็นสาเหตุได้รับความเสียหาย และมักเกิดจากสาเหตุเพียงอย่างเดียว ที่พบได้บ่อยๆ เช่นการอักเสบต่างๆ ได้แก่ มดลูกอักเสบ ปีกมดลูกอักเสบ ลำไส้อักเสบ ไส้ติ่งอักเสบ กระเพาะปัสสาวะอักเสบหากเกี่ยวข้องกับมดลูกอักเสบ โดยทั่วไปสังเกตได้จากการอักเสบของทางเดินปัสสาวะ อาจมีอาการปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะบ่อย มีอาการปวดหลังร่วมด้วย

ปวดท้องน้อย

แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าอาการ ปวดท้องน้อยที่เป็นมาจากสาเหตุใด?

สาเหตุของการปวดท้องน้อยมีหลายอย่าง หากมีอาการควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และรับการรักษาต่อไป ปัจจุบันการค้นหาโรคจากความผิดปกติทำได้ไม่ยุ่งยาก และเสียเวลา เช่น การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง ซึ่งจะทำให้เห็นลักษณะของมดลูก และปีกมดลูกได้ การส่องตรวจกระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ การทำเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ หรือ เอ็มอาร์ไอ เป็นต้น

ปวดท้องน้อย…อาจเป็นสัญญาณเตือนจากโรคเหล่านี้!

โรคที่เกิดในระบบสืบพันธุ์

โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ โรคเนื้องอกมดลูก และโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ในกลุ่มนี้จะมีอาการปวดประจำเดือนมาก ประจำเดือนมามาก มีลักษณะเป็นลิ่มเลือดหรือเป็นก้อน เวลาปวดจะปวดประจำเดือนและมักปวดร้าวไปทั้งหลัง ก้น จนถึงขาซึ่งในกลุ่มนี้หากมีอาการปวดท้องน้อย แพทย์จะต้องซักประวัติว่าก่อนว่าเคยมีประวัติโรคเกี่ยวกับมดลูกหรือรังไข่หรือไม่ เพราะโดยส่วนใหญ่มักจะมีอาการสัมพันธ์กับรอบเดือน หรือมีอาการอื่นร่วมด้วย เช่น ปวดท้องน้อย มีเลือดออกผิดปกติ มีปริมาณประจำเดือนมากกว่าปกติ ปัสสาวะบ่อย ท้องผูก ฯลฯ

โรคที่เกิดในระบบทางเดินปัสสาวะ

โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, ท่อปัสสาวะอักเสบ, นิ่ว, กรวยไตอักเสบ เป็นต้น มักจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับปัสสาวะสามารถที่สังเกตได้ทันที เช่น รู้สึกแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด และปวดท้องน้อยร่วมด้วย หรือสีของน้ำปัสสาวะมีความผิดปกติ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด มีฟอง สีขุ่น

ปวดท้อง

โรคที่เกิดในระบบลำไส้

โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ โรคลำไส้อักเสบ อาหารเป็นพิษ ติดเชื้อทางเดินอาหาร หรือโรคลำไส้แปรปรวน ซึ่งในกลุ่มนี้มักมีความผิดปกติที่ทางเดินอาหารหรือสำไส้ คนไข้จึงมักมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ท้องผูก ท้องเสีย ถ่ายอุจจาระมีมูกปนเลือด หรือถ่ายเหลว ร่วมด้วย

โรคที่เกิดในระบบกล้ามเนื้อ

โรคที่พบได้บ่อยในระบบนี้ ได้แก่ กล้ามเนื้ออักเสบ มักพบว่าเป็นไปตามประวัติการใช้งานของคนไข้ อาการคือปวดบริเวณหน้าท้อง ท้องน้อย ไปจนถึงหัวหน่าว คนไข้ที่ปวดบริเวณนี้มักจะมีประวัติยกของหนัก หรือเกร็งกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายอย่างหนัก

ไม่อยากปวดท้องน้อย…คุณก็ป้องกันได้!

สำหรับคุณผู้หญิงที่ปวดท้องประจำเดือนเป็นเรื่องปกติ อาจป้องกันไม่ให้มีอาการปวดรุนแรงได้ โดยดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และรู้จักผ่อนคลายความเครียดเพื่อให้ประจำเดือนมาอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งในขณะมีประจำเดือนควรทานอาหารอ่อนที่ย่อยง่าย เพื่อไม่ให้ลำไส้เกิดการบีบรัดเกินไป จะช่วยทุเลาอาการปวดท้องน้อยได้

สำหรับอาการปวดท้องน้อยจากสาเหตุอื่น สามารถป้องกันได้ด้วยการดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อความผิดปกติต่างๆ อันเป็นสาเหตุของอาการปวดท้องน้อยได้

สิ่งที่สำคัญ! คือผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วควรตรวจภายในเป็นประจำทุกปี ส่วนในกลุ่มที่ยังไม่มีเพศสัมพันธ์ ควรตรวจภายในปีละครั้งเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี หากตรวจติดต่อกัน 3 ปีแล้วไม่พบความผิดปกติก็สามารถตรวจเว้นปีได้

ข้อมูลประกอบจากก: รพ.พญาไท

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ 

สังเกต อาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง สัญญาณเตือนสุขภาพคุณผู้หญิง

CHECK IT OUT ตำแหน่งปวดท้อง บอกโรคได้

4 วิธีแก้ ปวดท้องประจำเดือน ให้อยู่หมัด

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.