ยาดักจับไขมัน

ยาดักจับไขมัน น้ำหนักลดไหมไม่รู้ แต่กลิ่นมาแน่

ยาดักจับไขมัน น้ำหนักลดน้อย แต่กลิ่นมาแน่

สำหรับหลายคนที่มีปัญหาเรื่องน้ำหนักตัว ทำยังไงก็ไม่ลดสักที จนต้องมองหาตัวช่วยอย่างยาลดน้ำหนักแบบต่างๆ หนึ่งในนั้นคือ ยาดักจับไขมัน ที่ฟังๆ ดูเหมือนจะไม่อันตราย แล้วยังกำจัดไขมันได้อีก แต่จะเป็นแบบนั้นจริงหรือเปล่า วันนี้เราไปหาคำตอบมาให้แล้วค่ะ 

การทำงานของยาดักจับไขมัน

โดยปกติแล้วร่างกายคนเราจะมีกลไกคล้ายๆ กรรไกร ที่ใช้ย่อยไขมันให้มีขนาดที่เล็ก เพื่อดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย แต่หากเราทานยาดักจับไขมันนี้เข้าไปแล้ว ยาเหล่านี้จะทำให้กรรไกรใช้งานไม่ได้ ไขมันก็จะไม่ถูกย่อยและดูดซึมไปใช้งาน 

ไขมันที่ไม่ถูกดูดซึมไปใช้งานเหล่านี้ก็จะค้างอยู่ในลำไส้ และถูกขับออกไปทำให้อุจจาระเหลว และมัน เวลาขับถ่ายคนที่กินยาประเภทนี้ก็จะเจอว่าไขมันออกมาด้วย แหมมันน่ายินดี เหมือนว่ายาเหล่านี้ได้ผลจริงดังต้องการ 

 

ผลกระทบของยาดักจับไขมัน

  1. หูรูดที่คอยปิดกั้นไม่ให้อุจจาระออกมาดูโลกภายนอกก่อนเวลาอันเหมาะสมนั้น เหมาะกับการปิดกั้นอุจจาระที่เป็นภาวะของแข็งมากกว่า หากอุจจาระอยู่ในภาวะเหลวเป๋วและมันย่อง หูรูดก็อาจจะอุดกั้นได้ไม่ดี พอเกิดอะไรนิดหน่อย อย่างไอ จาม เจ้าอุจจาระเหล่านี้ก็อาจจะเล็ดลอดออกมาได้ ถ้าอยู่ในท่ามกลางคนมากๆ หรืออยู่นอกบ้านนี้มีอายแน่นอน
  2. กลิ่นไม่พึงประสงค์ตามมาอีกด้วยนะคะ  เพราะเมื่อมีไขมันค้างในลำไส้แบคทีเรียก็จะทำงานหนักขึ้น กลิ่นก็มากขึ้นตามไปด้วย คราวนี้ละก็ขับถ่ายเมื่อไหร่ ก็อาจจะเจอกับภาวะ “ไส้เน่า” เหม็นคลุ้งกันไปชนิดที่ว่าต้องกลบด้วยสบู่แชมพูกันเลยทีเดียว

ยาลดน้ำหนัก

ผลลัพธ์ของยาดักจับไขมัน

แม้ว่าเราจะเห็นไขมันออกมาจากการขับถ่ายด้วย แต่ก็ใช่ว่านั่นคือทั้งหมดที่ทานเข้าไป ความจริงแล้วแค่ 1 ใน 3 เท่านั้นเอง สมมุติว่ากินไป 2000 แคลอรี ซึ่งมี ไขมันอยู่ 700 แคลอรี่ ยาดักจับไขมันก็จะไปดักจับไขมันได้แค่ 233 แคลอรีเท่านั้นเอง น้อยนิดจนอาจเรียกได้ว่าไม่มีผลเลยก็ว่าได้ เพราะนอกจากไขมันแล้วในหนึ่งมื้อเรายังมีทั้งแป้ง และน้ำตาลอีกด้วยที่ยาดักจับไขมันมีผลต่อกลุ่มนี้เลย 

นอกจากนั้นแล้ว การกินยาดักจับไขมันต่อเนื่องยาวนาน ก็อาจทำให้ร่างกายดูดซึมวิตามินบางชนิดที่ละลายในไขมันเช่น่ วิตามิน A E D และ K ได้น้อยลงอีกด้วย 

 

ผศ. พญ.ดรุณีวัลย์ วโรดมวิจิตร สาขาวิชาโภชนวิทยาและชีวเคมีทางการแพทย์ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล  จึงสรุปว่า แม้ยาดักจับไขมันจะไม่จัดเป็นอันตราย แต่ในเรื่องของการลดน้ำหนักก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งการลดน้ำหนักที่ดีคือการออกกำลังกาย และควบคุมอาหาร รวมถึงปรับพฤติกรรมจะดีที่สุด 

ข้อมูล RAMA CHANNEL

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจ

วิ่งลดน้ำหนัก กันเถอะ! อยากผอม ต้องวิ่งแบบไหน ถึงลดไขมันตรงจุด
เผยเคล็ดลับกิน-ดื่มกระชับหน้าท้อง
4 เคล็ดลับช่วยลดน้ำหนักที่คุณยังไม่รู้

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.