โรคซิกา โรคไข้เลือดออก ยุงลาย สมองขนาดเล็ก

สธ. วอน 5 ส. ป้องกันโรคซิกา โรคไข้เลือดออก

นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กำชับมาตรการป้องกันควบคุม และข้อสั่งการโรคซิกา (รวมถึงโรคที่เกิดจากยุงเช่น โรคไข้เลือดออก)ให้สัมภาษณ์ว่า ทางกระทรวงฯ มีมาตรการดูแลโรคซิกาอย่างเข้มงวด แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการระบาดของโรคซิกาในประเทศไทยก็ตาม โดยมีมาตรการรองรับ 5 ข้อ คือ
1. การป้องกัน ด้วยมาตรการ “3 เก็บ” เพื่อป้องกัน 3 โรคที่เกิดจากยุงคือ โรคซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย คือ เก็บบ้านไม่ให้ยุงลายเกาะ เก็บขยะเศษภาชนะไม่ให้ยุงลายเพาะพันธุ์ และเก็บน้ำ โดยปิดฝาให้มิดชิด หรือเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ เพื่อไม่ให้ยุงลายวางไข่ ซึ่งสามารถป้องกันได้ 3 โรค คือไข้เลือดออก โรคซิกา และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย
นอกจากนี้ ยังเพิ่มมาตรการ “5 ส.” กำชับ ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ รณรงค์ให้โรงพยาบาล ที่ทำงาน โรงงาน บ้าน ชุมชน โรงเรียน และวัด ดำเนินการทุกวันศุกร์ ส่วนในวันเสาร์-อาทิตย์ ให้บุคลากรกลับไปดำเนินการที่บ้าน พร้อมทั้งได้ทำหนังสือขอความร่วมมือ หน่วยราชการอื่นๆ และประชาชนร่วมมือรณรงค์ในรูปแบบประชารัฐ เพื่อป้องกันควบคุมโรคซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย ที่มียุงลายเป็นพาหะ
2. การเฝ้าระวังและตรวจจับ จะดำเนินการอย่างรวดเร็ว โดยจะเฝ้าระวังพิเศษเข้มข้นใน 5 กลุ่ม คือ ผู้เดินทางจากประเทศเสี่ยงโรคซิกา หญิงตั้งครรภ์ที่มีไข้ออกผื่น กลุ่มไข้ออกผื่นเป็นกลุ่มก้อน เด็กแรกคลอดที่มีหัวเล็ก และกลุ่มอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกลุ่มที่มีอาการที่เข้าข่ายป่วย คือ มีไข้ออกผื่น ปวดข้อ ตาแดง โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาล และด่านควบคุมโรคที่สนามบิน เฝ้าระวังตรวจจับ สอบสวนและดูแลรักษา เพื่อควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจาย
3. การดูแลรักษาตามอาการ
4. การควบคุมป้องกันโรค ซึ่งจะใช้มาตรการเดียวกันกับโรคไข้เลือดออก
และ5. การสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) รณรงค์ให้ความรู้แก่ประชาชนเรื่อง โรคซิกา โรคไข้เลือดออก โรคไข้ปวดข้อยุงลาย และกลุ่มเสี่ยง ให้เกิดความมั่นใจว่าจะไม่มีการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย
หากทุกคนร่วมมือกันป้องกัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาทอง 2 เดือน ตั้งแต่วันแห่งความรักถึงวันสงกรานต์ เชื่อว่าจะสามารถลดประชากรยุงก่อนถึงช่วงโรคระบาดในฤดูฝนได้

ที่มา: สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธารณสุข
เครดิตภาพ hindustantimes.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.