“เบาหวาน” ดูแลกันอย่างไร

เดี๋ยวนี้คนทำงานหลากหลายวัย ป่วยเป็นเบาหวานกันมากขึ้น อีกทั้งหลายคนมักไม่รู้วิธีการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม บางรายปล่อยปละละเลยจนเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ขึ้น

วันนี้ขอแนะนำการดูแลตัวเอง และดูแลคนใกล้ชิดที่อาจกำลังป่วยด้วยโรคนี้ ด้วยหลักการที่เหมาะสมค่ะ

ปฏิบัติตัวดังนี้ ลดเสี่ยง ลดอาการ

  1. กินอาหารให้ตรงเวลา วิธีการคือ กินให้ครบมื้อในปริมาณที่เหมาะสม ไม่มีมื้อไหนปริมาณมากน้อยโดดออกมา และหลีกเลี่ยงการกินของจุบจิบจะดีที่สุด
  2. อาหารที่ควรงด ได้แก่ ขนมหวานทั้งไทยและฝรั่ง น้ำหวาน น้ำอัดลม นมรสหวาน และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อีกทั้งผลไม้หวานจัด ผลไม้กระป๋อง ผลไม้เชื่อม รวมถึงผลไม้แช่อิ่ม
  3. อาหารที่ควรควบคุมปริมาณ ได้แก่ อาหารจำพวกแป้ง เช่น ข้าว ขนมปัง ขนมจีน รวมถึงผักผลไม้ที่ให้แป้งสูง อย่างฟักทอง หรือผลไม้หวานจัดอย่างทุเรียน ลำไย
  4. อาหารที่ควรกิน ได้แก่ โปรตีนจากปลาและพืช เช่น ถั่วและเต้าหู้ รวมถึงอาหารที่มีกากใยมากๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ถั่วฝักยาว ถั่วแขก ตลอดจนผักทุกชนิด
  5. สำหรับคนที่อ้วนมากๆ จำเป็นต้องลดน้ำหนักก่อน โดยลดอาหารทอด หรืออาหารที่มันมากๆ เช่น มีส่วนผสมของกะทิ น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันปาล์มมาก

คนใกล้ชิดช่วยดูแลอย่างไร

คนที่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยเบาหวาน ต้องช่วยสังเกตหลายๆ อาการของคนที่เรารักค่ะ เนื่องจากอาหารของเบาหวานเกิดจากน้ำตาลในกระแสเลือดมีปริมาณสูงขึ้น ในขณะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลมาใช้เป็นพลังงานได้ หรือนำมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ปริมาณน้ำตาลในกระแสเลือดจึงล้นออกมากับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะมาก หรือปัสสาวะปริมาณมาก

ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้ได้นี้อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาหมดสติ จนถึงเสียชิตได้ ทำให้ต้องสังเกต “ภาวะเบาหวานฉุกเฉิน”ได้ใน 2 ลักษณะ

ภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลต่ำ ผู้ป่วยมักเริ่มด้วยอาการมึน วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ใจสั่น เหงื่อออก คล้ายเวลาหิว แต่เป็นมากกว่า หากเกิดอาการควรรับประทานน้ำตาลเพื่อให้พ้นจากสภาวะนี้

ภาวะเบาหวานฉุกเฉินจากน้ำตาลสูง ได้แก่ น้ำตาลในเลือดสูงเพราะความผิดปกติของระบบเผาผลาญ ทำให้มีกรดคั่งในร่างกายจนทำให้ผู้ป่วยหมดสติ อาการเริ่มต้นจะอ่อนเพลีย ปัสสาวะบ่อย ซึมลงอย่างเห็นได้ชัด บางรายมีอาการหอบ หายใจลึก จำเป็นต้องรีบพาส่งโรงพยาบาลด่วน

 

อาการเบื้องต้นเหล่านี้ เชื่อว่าจะช่วยให้คุณดูแลตัวเอง หรือดูแลคนใกล้ชิดได้ง่าย และรับมือได้อย่างมีสติขึ้นค่ะ

ข้อมูลจากคอลัมน์เกร็ดสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับที่ 163

ภาพประกอบจาก pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.