สธ. เร่งปรับพฤติกรรมแก้ปัญหาโรคเบาหวาน

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ชี้ว่าองค์การสหประชาชาติมีเป้าหมายควบคุมโรคไม่ติดต่อ โดยจะพยายามลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้ร้อยละ 25 ภายในปีพ.ศ. 2568 ซึ่ง โรคเบาหวานและโรคอ้วนเป็นโรคที่มีอัตราคงที่ ส่วนองค์การอนามัยโลกมีเป้าหมายไปที่โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง

ในประเทศไทย โรคเบาหวานถือเป็นปัญหาสุขภาวะ โดยโรคนี้เป็นปัญหาอันดับ 1 ของผู้หญิง และเป็นอับดับ 7 ของผู้ชาย จาก 10 โรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่ส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยและครอบครัว รวมทั้งรายได้ทางเศรษฐกิจของประชาชนด้วย จากการสำรวจอัตราการเสียชีวิตจากโรคเบาหวานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2550-2557 พบ ว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอัตราการป่วยก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน เครือข่ายวิจัยกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย ยังพบอีกว่า ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ในปีพ.ศ. 2556-2558 มีโรคแทรกซ้อนถึง 4 โรค คือ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหัวใจ โรคตา และโรคไต ซึ่งมีอัตราการแทรกซ้อนสูง เป็นผลมาจากการควบคุมระดับน้ำตาลไม่ดี

โดยกระทรวงสาธารณสุขมีแผนการดำเนินงานการป้องกันควบคุมโรคเบาหวาน เริ่มจากกลุ่มเสี่ยงไปถึงกลุ่มที่มีภาวะดื้ออินซูลิน เพื่อลดอัตราป่วยรายใหม่ ให้ผู้ป่วยเก่าควบคุมระดับน้ำตาลได้ดี เลิกสูบบุหรี่ได้ ได้รับการคัดกรองภาวะแทรกซ้อน และได้รับการประเมินความเสี่ยงและภาวะแทรกซ้อน นอกจากนี้ยังต้องการให้ความพิการในผู้ป่วยลดลง โดยจะดำเนินงานผ่านเขตสุขภาพ พื้นที่ระดับจังหวัด อำเภอ และตำบล ซึ่งจะมีอาสาสมัครสาธารณสุขและทีมหมอครอบครัวคอยดูแล เพื่อให้คนในครอบครัวสามารถดูแลผู้ป่วยได้เอง

ทั้งนี้ กระทรวงฯ จะร่วมกับโรงเรียนแพทย์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ควบคู่กับการใช้ยา หากควบคุมอาการของผู้ป่วยได้ จะสามารถลดภาวะแทรกซ้อนได้ด้วย นอกจากนี้ยังจะกำหนดตัวอย่างหรือต้นแบบที่ดี เพื่อลดภาวะน้ำหนักเกิน เช่น การตั้งคลินิกNCD

ที่มา: สำนักสารนิเทศ กระทรวงสาธาณสุข

ขอบคุณภาพจาก jill111/Pixabay.com

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.