ภาษีความหวาน

ดีเดย์เก็บภาษีความหวาน ระยะ 2 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ ป้องกันคนไทยติดหวาน

ภาษีความหวาน  ดีเดย์ 1 ตุลาคมนี้ ป้องกันคนไทยติดหวาน

ภาษีความหวาน ดีเดย์เก็บภาษีความหวานระยะ 2 เริ่ม 1 ตุลาคมนี้ แบบเก็บเต็มพิกัดตามขั้นบันไดและขยับขึ้นอีกทุก 2 ปี เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวานให้จับตาผู้ผลิตว่าจะให้แท็กติกการตลาดแบบไหนมาดึงลูกค้า เผยหลังบังคับใช้ 2 ปีแรก พบคนไทยบริโภคน้ำตาลดลงจากเดิมแล้ว 4 ช้อนชาต่อคนต่อวัน ส่งผลดีต่อสุขภาพในอนาคต

ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน เปิดเผยว่า การปรับภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูงรอบใหม่นี้ ขอให้สังคมจับตามองภาคอุตสาหกรรมหรือกลุ่มผู้ผลิตเครื่องดื่มว่าจะใช้แท็คติกทางการตลาดและช่องทางทางกฎหมายอย่างไร เพื่อคงยอดขายไว้ ขณะเดียวกันก็หวังว่าผู้บริโภคจะศึกษาข้อมูล และมองหาเครื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพให้มากขึ้น

ทพญ.ปิยะดา กล่าวด้วยว่า ผลดีของการปรับขึ้นภาษีความหวานที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 พบว่าในปัจจุบันคนไทยบริโภคน้ำตาลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากเดิมคนไทยบริโภคน้ำตาลโดยรวมทั้งหมดประมาณ 100 กรัมต่อคนต่อวัน แต่การบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มคิดเป็นครึ่งหนึ่งของการบริโภคน้ำตาลต่อวัน ดังนั้นคนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มจึงอยู่ที่ 50 กรัมต่อคนต่อวัน คิดเป็น 12 ช้อนชาต่อคนต่อวัน

แต่หลังจากได้มีการปรับขึ้นภาษีความหวาน ตั้งแต่ปี 60 พบว่าคนไทยบริโภคน้ำตาลจากเครื่องดื่มลดลงเหลือ 8 ช้อนชาต่อคนต่อวัน จึงเป็นเรื่องน่ายินดี แม้จะเป็นช่วงเริ่มต้นปรับภาษีน้ำตาลในระยะแรก แต่ผลที่ตามมาเห็นได้อย่างชัดเจนเช่นนี้นับเป็นเรื่องดีที่ควรดำเนินการต่อเนื่องต่อไป โดยในวันที่ 1 ตุลาคม 2562 ที่จะถึงนี้จะมีการเก็บภาษีความหวานในอัตราแบบขึ้นบันได และจะปรับในทุก 2 ปี

“โดยส่วนตัวมองว่า การปรับอัตราภาษีความหวานขึ้น อาจเป็นการปกป้องประชาชนก็ได้ เพราะเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการลดปริมาณน้ำตาลในเครื่องดื่มลง ผลที่ตามมาคือประชาชนได้รับความหวานจากเครื่องดื่มลดลง ทำให้โรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคที่เกิดจาก NCDs ซึ่งโรคนี้มีสาเหตุหนึ่งมาจากการบริโภคน้ำตาลเกินกว่าร่างกายต้องการ ดังนั้นจากการปรับภาษีน้ำตาล ในขณะนี้อาจทำให้ประชาชนเสี่ยงกับโรคนี้ลดน้อยลงด้วย” ทพญ.ปิยะดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ผู้ประกอบการไม่ยอมลดปริมาณน้ำตาลลง ก็ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นตามขั้นบันได เมื่อเสียภาษีเพิ่มขึ้นอาจต้องขยับราคาขายเพิ่มขึ้นด้วย ผลที่ตามมาคือประชาชนต้องซื้อเครื่องดื่มที่เคยดื่มในราคาสูงขึ้น กรณีนี้อาจมีผลกับประชาชนบางกลุ่ม ทำให้เลิกทาน หรือเลิกซื้อผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ไปเลย เนื่องจากไม่สามารถจ่ายเงินกับราคาที่เพิ่มขึ้นได้

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ประธานเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน มองว่าเป็นประโยชน์มากเป็นอันดับแรก คือ สุขภาพของประชาชน ถ้าลดอัตราการบริโภคน้ำตาลก็ช่วยลดอัตราเสี่ยงของการเกิดโรคภัยต่าง ๆ และนี่เป็นประเด็นหลักที่ทำให้เกิดการผลักดันนโยบายการขึ้นภาษีน้ำตาลขึ้นมาตั้งแต่ปี 60 และโดยส่วนตัวไม่เห็นด้วยหากจะมีการเลี่ยงความหวานจากน้ำตาล มาใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล เพราะไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการลดความหวานออกจากร่างกายด้วย

เครื่องดื่ม, น้ำอัดลม, น้ำผลไม้, เครื่องดืมข้างทาง
น้ำอัดลม น้ำสมุนไพร เครื่องดื่มแฝงด้วยน้ำตาลมหาศาล กินเยอะ กินบ่อย อ้วน เป็นโรคเบาหวาน ได้โดยไม่รู้ตัว

ภาษีน้ำตาล แบบขั้นบันได

รายงานข้อมูลการกำหนดภาษีความหวาน ที่ กรมสรรพสามิต บังคับใช้เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2560 ถึง 30 ก.ย. 2562 ได้แก่

  1. เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 6 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เว้นการเก็บภาษี
  2. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.10 บาทต่อลิตร
  3. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัมแต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.30 บาทต่อลิตร
  4. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัม แต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 0.50 บาทต่อลิตร และ
  5. ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร

ส่วนที่บังคับใช้ หลังจากวันที่ 1 ต.ค.2562 ถึง 30 ก.ย.2564 ได้แก่ เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม แต่ไม่เกิน 18 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 18 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

สำหรับตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2564 จนถึงวันที่ 30 ก.ย.2566 เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลไม่เกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมแต่ไม่เกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และ ที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 14 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

ขณะที่ตั้งแต่ 1 ต.ค.2566 เป็นต้นไป เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 6 กรัม แต่ไม่เกิน 8 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 1 บาทต่อลิตร เครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 8 กรัม แต่ไม่เกิน 10 กรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร เสียภาษี 3 บาทต่อลิตร และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลเกิน 10 กรัมต่อลิตร เสียภาษี 5 บาทต่อลิตร

บทความน่าสนใจ

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.