มีลูกหัวปีท้ายปี ระวังกระดูกพรุน

นักวิจัยศึกษาเปรียบเทียบผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ระหว่างกลุ่มที่เป็นโรคกระดูกพรุนจำนวน 239 รายและกลุ่มที่ไม่มีปัญหานี้ 298 ราย พบว่า
คุณแม่ที่มีลูกหัวปีท้ายปี มีความเสี่ยงเป็นโรคกระดูกพรุนมากขึ้นในอนาคต
โรคนี้มีสาเหตุโดยตรงมาจากการตั้งครรภ์ การให้นมลูก และช่วงวัยขณะมีลูกคนแรก แพทย์หญิง ดร.กัลซิน ซาห์อิน เอสรอย นักวิจัยจากสถาบันการแพทย์เยล เมืองนิวเฮเวน รัฐคอนเนตทิคัต ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า คุณแม่ควรทิ้งช่วงการตั้งครรภ์อย่างน้อย 2 ปี
เนื่องจากระหว่างตั้งครรภ์ คุณแม่ต้องแบ่งแคลเซียมในกระดูกของตัวเองไปสร้างกระดูกให้ลูก โดยจะกลับมาเติมเต็มอีกครั้ง หลังจากหมดระยะให้นม ฉะนั้นเวลาเพียง 1 ปี จึงไม่เพียงพอในการสร้างมวลกระดูก
อย่างไรก็ตาม แพทย์หญิง ดร. นาเนตเต ซานโตโร ประธานสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา จากสถาบันการแพทย์ มหาวิทยาลัยโคโลราโด บอกว่า
คุณแม่ที่มีลูกหัวปีท้ายปีสามารถเสริมสร้างกระดูกได้ด้วยการกินแคลเซียม วิตามินดี และออกกำลังกาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการเว้นระยะการตั้งครรภ์ตามคำแนะนำ เป็นผลดีต่อสุขภาพกระดูกมากกว่า

ที่มา: สำนักข่าวรอยเตอร์ (Reuter)

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.