ทำไม “น้ำตาล” จึงทำให้อวัยวะเสื่อม
น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานอันดับต้นๆ ที่หมุนเวียนเข้า – ออกร่างกายทุกวัน หากร่างกายได้รับน้ำตาลอย่างเพียงพอ ไม่ขาด ไม่เกิน ย่อมไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติ ซึ่งการบริโภคน้ำตาลในแต่ละวันนั้นมีลักษณะดังนี้
คาร์โบไฮเดรต หรืออาหารจำพวกแป้ง เป็นโมเลกุลเชิงซ้อนของน้ำตาล เมื่อผ่านกระบวนการย่อยจะกลายเป็นน้ำตาลกลูโคส เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดจะไปสะสมในรูปของไตรกลีเซอไรด์
ผลไม้ ประกอบไปด้วยน้ำตาลฟรักโทส เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดจะไปสะสมที่ตับ
นม ประกอบไปด้วยน้ำตาลกาแล็กโทส เมื่อร่างกายใช้ไม่หมดจะไปสะสมที่ตับ
จะเห็นได้ว่า การกินน้ำตาลกลูโคสปริมาณมากเกินไปนั้น อันตรายเพราะนอกจากเราจะได้รับทางอ้อมจากการกินอาหารจานหลักที่เป็นคาร์โบไฮเดรตแล้ว หากร่างกายใช้ไม่หมดจะเป็นน้ำตาลที่ไม่ต้องผ่านกระบวนการในตับ แต่กลายเป็นไตรกลีเซอไรด์ได้ทันที ก่อให้เกิดไขมันสะสมในส่วนต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง และเพิ่มระดับคอเลสเตอรอลในเลือด

ไตรกลีเซอไรด์ หรือไขมันไม่ดี หากมีมากๆ จะไปเกาะอยู่ตามผนังเส้นเลือดและกระตุ้นให้เกิดสารสื่อกลางที่ก่อให้เกิดการอักเสบเมื่อเกิดการอักเสบมาก ๆ ก็จะทำให้หลอดเลือดอุดตัน ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก กลาง หรือใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเสื่อมในอวัยวะต่างๆ ดังนี้
- หลอดเลือดขนาดเล็กอุดตัน ก่อให้เกิดภาวะจอตาเสื่อม สมรรถภาพทางเพศเสื่อม ไตเสื่อม
- หลอดเลือดขนาดกลางอุดตัน หลอดเลือดหัวใจอุดตัน
- หลอดเลือดขนาดใหญ่ เส้นเลือดในสมองอุดตัน
นอกจากนั้นยังมีสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสื่อมของร่างกายจากการบริโภคน้ำตาลที่สำคัญอีกหนึ่งอย่าง นั่นก็คือ กระบวนการไกลเคชั่น (Glycation) ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งภายในหรือภายนอกร่างกายของเราที่สามารถสังเกตได้จากสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น ในผลไม้สุก หากเป็นผลไม้ที่มีรสหวานมาก มีน้ำตาลมาก
ก็จะยิ่งคล้ำและดำมาก สามารถเปรียบเทียบระหว่างมะม่วงสุกจัดกับแอ๊ปเปิ้ลสุกจัด จะพบว่า มะม่วงมีสีดำมากกว่าสีดำที่เกิดขึ้นคือ สารที่ทำให้เซลล์ตาย ซึ่งเร่งกระบวนการให้เกิดความเสื่อมเร็วขึ้น เรียกว่า Advanced Glycation Endproducts หรือ AGEs
โดยกระบวนการนี้จะเกิดจากน้ำตาล + ความร้อน + โปรตีน หรือเซลล์ ก็จะทำให้เซลล์เสื่อมสภาพ (สีดำ) และตายไปนั่นเอง
ดังนั้นอวัยวะในร่างกายเราที่มีส่วนประกอบของโปรตีนก็จะได้รับผลกระทบจากกระบวนการนี้ ปกติแล้วร่างกายเราจะมีคอลลาเจนกับอีลาสตินที่อยู่กระจัดกระจายในชั้นผิวหนัง พอน้ำตาลเข้าสู่กระแสเลือดและไปเคลือบคอลลาเจนและอีลาสตินจะเกิดความหนืด (Caramelization) เซลล์ที่ปกติมีความยืดหยุ่นก็จะเหนียวเกาะตัวและยุบตัวเป็นร่อง ๆ เป็นที่มาของริ้วรอยความชรานั่นเอง
ในผู้ป่วยเบาหวานจึงมีแนวโน้มที่จะเกิดอาการหรือโรคจากความเสื่อมอื่นๆ พ่วงเข้ามาได้ เช่น เลนส์ตาซึ่งประกอบไปด้วยโปรตีน เมื่อมีระดับน้ำตาลในร่างกายสูง น้ำตาลจะไปเกาะอยู่กับโปรตีน และเมื่อโปรตีนไปทำปฏิกิริยากับวุ้นในตา ทำให้เกิดความขุ่น ก็จะเกิดอาการวุ้นในตาเสื่อมและจอประสาทตาเสื่อมตามมาได้
เช่นเดียวกับในสมองของคนเราที่มีส่วนของความจำหรือฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งประกอบด้วยโปรตีน 2 ชนิด น้ำตาลก็สามารถทำปฏิกิริยากับโปรตีนและส่งผลให้ความจำเสื่อมเร็วขึ้น
นอกจากนี้กระบวนการไกลเคชั่นยังส่งผลให้การทำงานของมัดกล้ามเนื้อต่างๆ ติดขัด เชื่องช้า บาดเจ็บได้ง่าย ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อเชื้อโรคต่างๆ ช้าหรือไวเกินไป รวมไปถึงกระดูก ซึ่งสาร AGEs จะเข้าไปอยู่ในโพรงกระดูก แล้วหยุดการสร้างมวลกระดูกใหม่ ทำให้มวลกระดูกลดลง จึงเป็นสาเหตุของโรคกระดูกพรุนนั่นเอง