ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ไม่กล้าแหยม แค่ออกกำลังกาย

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกกำลังกาย

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ สามารถแก้ไข โดยไม่ใช่ยา ซึ่งคุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า แท้จริงแล้วพลังทางเพศนั้นจู่ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเองนะคะ แต่เกิดจากกลไกการทํางานของระบบร่างกาย แพทย์หญิงชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีแพทย์ โรงพยาบาลประจําจังหวัดพิจิตร อธิบายไว้ดังนี้

“ลิบิโด (Libido) คือพลังหรือความต้องการทางเพศ เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ที่มีไว้เพื่อการสืบเผ่าพันธุ์ เกี่ยวข้องกับการทํางานของฮอร์โมนเพศ (Sex Hormone) โดยเริ่มจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส(Hypothalamus) ส่งสัญญาณไปที่ต่อมใต้สมองพิทูอิทารี(Pituitary Gland) เพื่อผลิตฮอร์โมนส่งตามกระแสเลือดไปยังรังไข่เพื่อสร้างฮอร์โมนเพศหญิง ฮอร์โมนที่สําคัญคือ ฮอร์โมนเอสโทรเจน(Estrogen) ฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน(Progesterone) และยังสามารถผลิตฮอร์โมนเทสทอสเทอโรน(Testosterone)ซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศชายได้ด้วย

“ส่วนในผู้ชาย ฮอร์โมนจากต่อมพิทูอิทารีจะส่งสัญญาณมาที่ลูกอัณฑะเพื่อผลิตฮอร์โมนแอนโดรเจน(Androgen) ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่ที่ผลิตเป็นส่วนใหญ่คือ ฮอร์โมนเทสทอสเทอโรนซึ่งกระบวนการทั้งหมดนี้จะทําให้เกิดความต้องการทางเพศ”

ออกกําลังกายสิจ๊ะ…บู๊สต์พลังลิบิโด

อาจารย์สาทิสอธิบายไว้ในคอลัมน์ ปั้นชีวิตใหม่ด้วยชีวจิตในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2554 อธิบายว่า การออกกําลังกายช่วยเสริมความแข็งแรงของระบบสืบพันธุ์เพื่อเพิ่มพลังทางเพศได้ โดยสรุปว่า เราควรออกกําลังกายเพื่อให้ร่างกายหลั่งโกร๊ธฮอร์โมน ซึ่งเป็นฮอร์โมนสําคัญที่ต่อมพิทูอิทารีสร้างขึ้น เพื่อช่วยในเรื่องการเจริญเติบโตของร่างกายรวมถึงพัฒนาการทางเพศด้วย

ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, ออกกำลังกาย, โกร๊ธฮอร์โมน, ฝึกโยคะ
ออกกำลังกาย ช่วยแก้ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศได้

ฝึกโยคะเพื่อคุณผู้ชายเตะปี๊บดัง

ในส่วนของคุณผู้ชายก็สามารถฝึกโยคะเพื่อเสริมความแข็งแรงให้แก่ระบบสืบพันธุ์ได้เช่นกัน คุณปาล์ม-ฐิตวินน์ คําเจริญ ครูสอนโยคะจาก Yoga Space Together แนะนําว่า การฝึกโยคะแบบ Muladhara Chakra จะช่วยให้ต่อมลูกหมาก ระบบสืบพันธุ์ และระบบขับถ่าย แข็งแรงยิ่งขึ้น โดยแนะนําให้ฝึกท่าเก้าอี้ เนื่องจากจะช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อขา และเคลื่อนย้ายพลังงานทางเพศให้มารวมอยู่ที่ศูนย์กลางได้ดีขึ้น
ท่าเตรียม
ยืนตัวตรง แยกเท้าออกจากกันเล็กน้อย
ท่าปฏิบัติที่ 1
ชูแขนทั้งสองขึ้นเหนือศีรษะ แล้วประสานกันในท่าพนมมือ
ท่าปฏิบัติที่ 2
ย่อเข่าลงช้าๆ คล้ายนั่งเก้าอี้ ค้างไว้ นับ 1-30 กลับสู่ท่าเตรียม

เวิร์คเอ๊าต์เพื่อฟิตอุ้งเชิงกรานคุณผู้หญิง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์ชัยเลิศ พงษ์นริศร หัวหน้าหน่วยนรีเวชทางเดินปัสสาวะและผ่าตัดซ่อมเสริมอุ้งเชิงกราน ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์เชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า การสูญเสียความรู้สึกทางเพศ หรือรู้สึกว่าช่องคลอดไม่กระชับ เป็นผลมาจากอุ้งเชิงกรานหย่อน โดยอาจมีสาเหตุจากความอ้วน การคลอดบุตร และการออกแรงเบ่งมาก ซึ่งอาจทําให้ชีวิตรักหมดสีสัน แต่คุณสามารถรักษาอาการดังกล่าวได้ด้วยการออกกําลังกายกระชับอุ้งเชิงกราน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการหย่อนตัวของอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน
ท่าเตรียม
นอนหงาย วางฝ่ามือไว้ข้างตัว
ท่าปฏิบัติที่ 1
สูดหายใจให้ท้องป่อง ชันเข่าขึ้น กลั้นหายใจพร้อมกับขมิบก้น ค้างไว้ นับ 1-5
ท่าปฏิบัติที่ 2
กดคางเข้าหาอก ค้างไว้ นับ 1-5 หายใจออกช้าๆ กลับสู่ท่าเตรียม ทําซ้ํา 10 ครั้ง
ลองออกกำลังกายแบบที่เราแนะนำนะคะ ไม่เพียงแต่พลังทางเพศจะเกินร้อย คุณยังมีสุขภาพกายและใจแข็งแรงห่างไกลจากโรค NCDs ซึ่งเป็นปัญหาบั่นทอนคุณภาพชีวิตอีกด้วย

บทความอื่นที่น่าสนใจ

ออกกำลังกาย และกินแบบนี้สิ ลดน้ำหนักได้แน่

สมรรถภาพทางเพศ เสื่อม!! ไม่มีวันซะล่ะ หากรู้จัก “ถั่งเฉ้า”

วิ่งลดน้ำหนัก ใน 12 สัปดาห์ ทำตามแล้วจะรู้ว่า ผอม!

สามารถติดตาม ชีวจิต ในช่องทางอื่นๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.