แคลเซียม, เสริมแคลเซียม, อาหารที่มีแคลเซียม, กินแคลเซียม, กระดูกและฟัน

ข้อระวังต้องรู้ก่อน เสริมแคลเซียม

เช็กอาหารไทย ไฮแคลเซียม

หากถามว่าอาหารชนิดใดที่มีแคลเซียมสูง หลายคนอาจนึกถึงโยเกิร์ต เพราะ 1 ถ้วย มีแคลเซียมสูงถึง 180 – 280 มิลลิกรัม แต่ทราบหรือไม่ว่าอาหารไทยก็มีแคลเซียมสูงไม่แพ้กัน สำหรับข้อมูลปริมาณแคลเซียมในอาหารไทย ขอหยิบยกข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ ปริมาณแคลเซียมในอาหารไทย กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขมาเล่าสู่กันฟังค่ะ

อาหารที่มีแคลเซียมสูง, เสริมเคลเซียม, แคลเซียม, กระดูกและฟัน
ปริมาณแคลเซียมในอาหารไทย

 

กินแคลเซียมเป็น…ลืมป่วย

ร่างกายไม่สามารถสร้างแคลเซียมได้เอง จึงจำเป็นต้องได้รับจากอาหารอย่างเพียงพอ โดยข้อมูลปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย แนะนำให้คนไทยแต่ละช่วงวัยได้รับแคลเซียมจากอาหารดังนี้

แคลเซียม, อาหารที่มีแคลเซียม, เสริมแคลเซียม, กินแคลเซียม
ปริมาณแคลเซียมที่ควรได้รับในแต่ช่วงวัย

 

เพื่อให้ร่างกายได้รับแคลเซียมจากอาหารอย่างเพียงพอ นอกจากกินอาหารที่เป็นแหล่งของแคลเซียม ยังสามารถเติมแคลเซียมในมื้ออาหารได้ง่ายๆ เช่น ผู้ใหญ่ที่ต้องการแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม สามารถเลือกเสริมแคลเซียมโดยการโรยงาดำบนข้าวสวย 3 มื้อ มื้อละ 2 ช้อนโต๊ะครึ่ง หรือผสมงาดำร่วมกับเครื่องดื่มประจำวัน

นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อการขัดขวางการดูดซึมแคลเซียม และกระตุ้นให้ร่างกายขับแคลเซียมออกทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น เช่น กินเนื้อสัตว์ปริมาณมากดื่มเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีนสูง เช่น ชา กาแฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ น้ำอัดลม กินอาหารรสเค็ม กินอาหารที่มีออกซาเลต (Oxalate) สูง เช่น หน่อไม้ ผักโขม

สำหรับวิธีเพิ่มการดูดซึมแคลเซียมแนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินดีสูงร่วมด้วย เช่น ปลาทะเล นมถั่วเหลือง ควบคู่กับการออกกำลังกายกลางแจ้งเพื่อรับวิตามินดีจากแสงแดด

หากได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพออาจเลือกเสริมแคลเซียมเม็ด โดยคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยงโรคกระดูกพรุน เช่น ผู้สูงอายุเสริมแคลเซียมวันละ 1,000 มิลลิกรัม โดยควรแบ่งกิน 2 ครั้ง ครั้งละ 500 มิลลิกรัมและกินก่อนอาหาร เพื่อช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดีขึ้นข้อควรระวัง ก่อนเสริมแคลเซียม  

ไม่ควรเสริมแคลเซียมเกินวันละ 2,500 มิลลิกรัม เพราะมีข้อมูลจากมหาวิทยาลัยแมริแลนด์ (University of Maryland) พบว่า อาจทำให้เกิดอาการไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร ขับปัสสาวะเพิ่มขึ้น ไตถูกทำลาย และหัวใจเต้นผิดปกติ 

ทั้งมีการศึกษาที่พบว่า การกินแคลเซียมมากกว่าวันละ 2,000 มิลลิกรัม อาจมีผลเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังมีรายงานการวิจัยที่ระบุว่าการกินแคลเซียมมากกว่าวันละ 1,000 มิลลิกรัม อาจมีผลต่อการเกิดโรคหัวใจวายอีกด้วย

นอกจากนี้การเสริมแคลเซียมอาจส่งผลต่อยาต่างๆ ที่กินร่วมกัน เช่น หากกินยาลดกรดที่มีส่วนประกอบของอะลูมิเนียม ร่วมกับแคลเซียมซิเตรท (Calcium Citrate) อะลูมิเนียมจะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายมากขึ้น โดยปริมาณอะลูมิเนียมที่สูงขึ้นอาจเป็นพิษต่อผู้ป่วยโรคไต

ไม่ควรเสริมแคลเซียมขณะกินยาแคลซิโปทรีน (Calcipotriene) ซึ่งใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (Hypercalcemia) คลื่นไส้ ท้องอืด ท้องผูก หรือหากมีแคลเซียมในเลือดสูงเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดอาการวิตกกังวล ซึมเศร้า เพิ่มความเสี่ยงโรคนิ่วในไต และโรคความดันโลหิตสูง

สำหรับผู้ที่มีประวัติโรคนิ่วในไตควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสริมแคลเซียมเม็ด เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงกลับเป็นซ้ำของโรคอีกครั้ง

ฉะนั้นทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวก่อนเสริมแคลเซียม เพื่อพิจารณาว่าแคลเซียมมีผลต่อยารักษาหรือโรคประจำตัวที่เป็นอยู่หรือไม่

สำหรับคำแนะนำทั่วไปคือ แคลเซียมเม็ดอาจทำให้เกิดอาการท้องผูก จึงควรดื่มน้ำตามมากๆ และกินผักและผลไม้ที่มีใยอาหารสูงเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ควรกินแคลเซียมเม็ดห่างจากยาชนิดอื่นอย่างน้อย 2 ชั่วโมง เพราะแคลเซียมเม็ดอาจมีผลทำให้ยาหลายชนิดดูดซึมเข้าสู่ร่างกายลดลง

เสริมแคลเซียมภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ ร่วมกับกินอาหารที่มีแคลเซียมสูงออกกำลังกายกลางแจ้งรับวิตามินจากแสงแดดสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็เสริมแคลเซียมได้อย่างสบายใจ ลดความเสี่ยงโรคภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้วค่ะ 

 

จาก คอลัมน์มื้อสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 453


บทความน่าสนใจอื่นๆ

ตำลึง แคลเซียมสูง บำรุงเซลล์ ต่อต้านมะเร็ง

แหล่งแคลเซียมใกล้ตัว ในครัวคุณ

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.