อาการเบาหวาน เช็กร่างกายก่อน รู้ก่อน รักษาก่อน
จริงอยู่ว่าโดยปกติ แทบทุกคนต่างไปตรวจเช็กสุขภาพประจำปีกันทั้งนั้น จะรู้ว่าป่วยหรือไม่ป่วยเป็นโรคอะไรก็ด้วยการตรวจนี้ล่ะ แต่บางครั้งโรคภัยไม่ได้มาเราตามเวลานัดหมอ อาจแสดงสัญญานบางอย่างกับเราก่อน และหากเราสังเกตได้แล้วรีบไปตรวจเช็ก ก็จะยิ่งได้เปรียบในการเตรียมตัวรับมือ วันนี้ ชีวจิต จะแนะนำวิธีการสังเกต อาการเบาหวาน หนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังยอดฮิตที่คนเป็นกันมาก
รู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคเบาหวาน
นอกจากการตรวจสุขภาพกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญแล้ว การตรวจเช็กสภาพร่างกายด้วยตัวเองง่ายๆ ที่บ้านก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยให้เรารู้ทันสุขภาพร่างกายของตัวเอง

ในกรณีที่เรามีเครื่องตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด ก็สามารถตรวจ อ่านค่า แล้วเทียบกับผลด้านล่าง หากมีผลดังกล่าว เป็นไปได้ว่า คุณเป็นโรคเบาหวาน (รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลการตรวจสุขภาพต่างๆ อาจมีผลการตรวจในลักษณะเหล่านี้แสดงให้เห็น)
- มีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- มีอาการของโรคเบาหวานร่วมกับมีระดับน้ำตาลในเลือด เวลาใดก็ตาม มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร
- มีระดับน้ำตาลในเลือด มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ใน 2 ชั่วโมง ภายหลังการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมที่กินเข้าไป
- มีระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c) มากกว่าหรือเท่ากับ ร้อยละ 6.5 ขึ้นไป
เบาหวาน Type 2 ประเภทที่พบมากที่สุดในบุคคลทั่วไป
เบาหวานประเภทที่ 2 พบได้มากถึง 95 ของผู้ป่วยเบาหวาน โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป มีอาการดังนี้
- ปัสสาวะมากและบ่อย กระหายน้ำบ่อย และมีความอยากอาหารเพิ่มขึ้น
- สายตาพร่ามัว
- เป็นแผลเรื้อรัง หายช้า
- มีการติดเชื้อที่ผิวหนัง ปาก และกระเพาะปัสสาวะบ่อยครั้ง
- ปวดและชาตามมือและเท้า
ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เป็นโรคเบาหวาร Type 2
- อายุ 40 ปีขึ้นไป
- มีประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน
- น้ำหนักเกิน ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) มากกว่า 25
- มีภาวะความดันโลหิตสูง มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง หรือมีระดับไขมันในเลือดสูง
- สตรีที่มีประวัติเป็นโรคเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ หรือน้ำหนักบุตรแรกคลอดมากกว่า 4 กิโลกรัม
- ไม่ออกกำลังกาย
- ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และ/หรือสูบบุหรี่
แล้วเราจะป้องกันโรคเบาหวานได้อย่างไร

- ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคเบาหวาน
- ควบคุมโภชนาการให้มีความสมดุลทั้งการกินอาหารและการออกกำลังกาย รวมไปถึงการใช้ยารักษาโรค
- ควรตรวจเช็กระดับน้ำตาลในเลือดอย่างสม่ำเสมอ โดยปรึกษาแพทย์ว่าควรตรวจเช็กเมื่อใด และระยะห่างของเวลาในการตรวจที่เหมาะสม
- ยาบางชนิดหรือยาสมุนไพรอาจมีผลต่อการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดในเลือด ต้องปรึกษาแพทย์และเภสัชกรก่อนใช้ยาหรือสมุนไพรเท่านั้น
ข้อมูลจาก หนังสือ สุขภาพดี ไม่มีลิมิต โดย พิมพ์ชนก สุนทรปกรณ์กิจ สำนักพิมพ์ อมรินทร์สุขภาพ สั่งซื้อ กดที่นี่
บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ
5 วิธีควบคุมอาหาร สำหรับผู้ป่วยโรคไตที่เป็นเบาหวาน
แนะนำวิธีกินวิตามินต้านโรคเบาหวาน สำหรับมือใหม่
ความเชื่อผิดๆ เรื่องเบาหวาน “น้ำตาลผลไม้ ปลอดภัยที่สุด”