กินให้ถูก หลีกเลี่ยง อาการไขมันพอกตับ
การกินผิดย่อมทำให้เกิดการสะสมของไขมันตามอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไม่เว้นแม้กระทั่ง“ตับ” ซึ่งนำไปสู่ อาการไขมันพอกตับได้ ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะ แต่สามารถป้องกันได้ เพียงหลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ และออกกำลังกายเป็นประจำ นอกจากนี้อาหารก็มีบทบาทสำคัญช่วยป้องกันการเกิดโรค รวมถึงช่วยเสริมการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนี้

รู้จักกันก่อน ภาวะไขมันพอกตับคืออะไร
ผู้ช่วยศาสตราจารย์พญ.ศิวะพร ไชยนุวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดลอธิบายว่า
ไขมันพอกตับคือภาวะที่มีไขมันโดยเฉพาะไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) อยู่ในเซลล์ตับ พบในบุคคลที่ดื่มสุรา บุคคลที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีและซี นอกจากนี้ผู้ที่เสี่ยงเกิดภาวะไขมันพอกตับสูง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่มีระดับไขมันในเลือดสูง รวมถึงผู้ที่เป็นโรคอ้วนหรือมีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไขมันพอกตับจะไม่แสดงอาการ มีเพียงบางรายที่อาจปวดแน่นชายโครงขวา
อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ลดไขมันในตับ ลดน้ำตาลในเลือด

อาหารเมดิเตอร์เรเนียน (The Mediterranean Diet) มีชื่อเสียงด้านชะลอวัยและต้านโรคจากความเสื่อม สมาคมยุโรปเพื่อการศึกษาและวิจัยตับ (European Association for the Study of the Liver) จึงสนใจศึกษาประโยชน์ของอาหารเมดิเตอร์เรเนียนต่อผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับ ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ใน Journal of Hepatology
ผลการศึกษาหลายชิ้นยืนยันว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียนที่เน้นไขมันดีจากน้ำมันมะกอกช่วยต้านโรคและทำให้มีอายุยืนยาว โดยรูปแบบอาหารที่เหมาะสมมีดังนี้
1. กินผัก ผลไม้ และข้าวหรือแป้งไม่ขัดสีเป็นอาหารหลัก หากมีโรคประจำตัวคือโรคเบาหวาน ควรกินผลไม้รสไม่หวานจัด เช่น ชมพู่ ฝรั่ง มะม่วงดิบ แก้วมังกร
2. ใช้น้ำมันมะกอกปรุงอาหารแทนน้ำมันชนิดอื่น แนะนำให้ผัดน้ำมันมะกอกโดยใช้ไฟอ่อนหรือปรุงเป็นน้ำสลัด
3. ใช้สมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น ขมิ้น อบเชย พริกไทยปรุงอาหารแทนเกลือ ซอสปรุงรส หรือผงชูรส
4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อแดง กินปลาอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ครั้ง นอกจากนี้ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอและต่อเนื่องครั้งละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วันร่วมด้วย