ป่วยทางจิต ซึมเศร้า

คุณหรือคนใกล้ชิด ป่วยทางจิต หรือไม่ เช็คได้ เช็คก่อนดีแน่นอน

คุณหรือคนใกล้ชิด ป่วยทางจิต หรือไม่ เช็คได้ เช็คก่อนดีแน่นอน

ชีวจิต ขอพูดถึงอาการซึมเศร้าของผู้ที่มี อาการ ป่วยทางจิต ซึ่งแบ่งออกเป็นสองพวก

พวกแรกคือ มีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเรา ซึ่งอาจารย์เอ. จอห์น รัช (A. John Rush) จิตแพทย์อาวุโสแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัสใช้ภาษาเฉพาะด้านจิตวิทยาเรียกว่า “SITUATIONAL” ท่านได้พบผู้ป่วยทางจิตหลายคน ซึ่งมีอาการซึมเศร้าอย่างเฉียบพลัน หรือรุนแรงสืบเนื่องมาจากสิ่งแวดล้อมเป็นสาเหตุ

อาจารย์รัช ได้ยกตัวอย่างสิ่งแวดล้อม เช่น ดิน ฟ้า อากาศ โดยเฉพาะในถิ่นเมืองหนาวที่อากาศหนาวมาก มิหนำซ้ำยังมีพายุหิมะตกหนักหนาสาหัส ท้องฟ้ามืดมัวและมืดครึ้มเหมือนกลางคืน อากาศแบบนี้ทำให้บางคนมีอาการซึมเศร้า และมีผู้ฆ่าตัวตายเพราะสิ่งแวดล้อมภายนอกซึ่งเป็นตัวกดดัน ทำให้เกิดอาการเบื่อชีวิตขึ้นมาได้นั่นเอง

อีกพวกหนึ่งนั้น อาจารย์รัช ได้ชี้ให้เห็นว่า มีสาเหตุมาจากภายใน โดยใช้ภาษาทางจิตวิทยา เรียกว่า “กลุ่ม ENDOGENOUS หรือ INTERNAL”

เฉพาะกลุ่มหลังนี้ ต้นเหตุมักจะมาจากความผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย อาจจะเป็นความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมบางอย่าง เช่น ต่อมไทรอยด์ ต่อมหมวกไต หรือต่อมไร้ท่อหลายๆ ต่อมก็ได้ หรือแม้แต่เมื่อสูงอายุขึ้นฮอร์โมนบางตัวโดยเฉพาะฮอร์โมนเพศจะมีความผิดปกติ ก็อาจจะทำให้เกิดอาการซึมเศร้าได้

ป่วยทางจิต ซึมเศร้า

เชื่อหรือไม่ครับ ความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศนี้ ไม่ใช่เกิดเฉพาะคุณผู้หญิงบางท่านที่มีอาการวัยทองเท่านั้น แม้คุณผู้ชายสูงอายุบางคนก็มีฮอร์โมนเพศลดลงจนเกิดอาการ “วัยทอง” และอาการ “ซึมเศร้า” ได้เหมือนกัน

แต่ตามสถิติผู้ชายจะมีอาการดังกล่าวนี้น้อย และโดยทั่วๆ ไปผู้หญิงจะมีอาการมากกว่าผู้ชาย (ไม่ค่อยแฟร์นะครับ)

นอกไปจากนั้นยังมีอาการผิดปกติของระบบอื่นในร่างกายอีก เช่น ระบบย่อยอาหาร บางคนขาดสารอาหารประเภทวิตามินและแร่ธาตุ ก็จะมีอาการซึมเศร้าได้ หรือบางคนมีอาการผิดปกติทางสมองหรือระบบประสาท เช่น เป็นโรคพาร์กินสัน ก็สามารถป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้อีกเช่นกัน

เอาละครับ เมื่อพูดถึงโรคซึมเศร้าแล้ว คงจะต้องพูดถึงโรคเกี่ยวกับทางจิตอื่นๆ ด้วย

 

โรคทางจิตชนิดที่หนักหนาสาหัสจนกระทั่งมีอาการแบบที่ชาวบ้านอย่างเราเรียกว่า “เพี้ยน” นั้น เรามักจะรวมกันเรียกว่า “จิตเภท” หรือ “PSYCHOSIS”

ถ้าพูดถึงเรื่อง “จิตเวช” (PSYCHIATRY) จะพบว่าเป็นสาขาใหญ่ของการแพทย์ ซึ่งรวมโรคต่างๆ ทางจิตเภทไว้หลายโรคและในจำนวนหลายโรคนี้ โรคซึมเศร้าดูจะเป็นโรคที่มีอาการเบาที่สุด ในด้านการรักษาโรคซึมเศร้านั้น อาจารย์รัชกล่าวว่าเป็นโรคที่รักษาได้ผลแน่นอน มีตัวยาหลายตัว ซึ่งเป็นประเภท ANTIDEPRESSANTS หรือยาแก้โรคซึมเศร้าได้ผล

ผมไม่ได้ศึกษาทางด้านจิตเวชโดยตรง แต่ได้ศึกษาด้าน EXPERIMENTAL PSYCHOLOGY และได้เคยคลุกคลีกับคนไข้จิตเภทหลายคน จึงมีความเห็นว่า การรักษาดูแลผู้ป่วยด้านจิตเวชของต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศตะวันตกนั้น แตกต่างกับประเทศไทยของเราอย่างมากมาย ทางตะวันตกให้การดูแลคนไข้ด้านจิตเวชอย่างจริงจังได้ผล มีสถานพยาบาลหรือคลินิกซึ่งรับคนไข้เหล่านี้ไปดูแลและรักษาพยาบาล

ป่วยทางจิต ซึมเศร้า

โดยเหตุที่ระบบการรักษาพยาบาล และผู้ที่อยู่ในสังคมตะวันตกนั้น อยู่ในลักษณะที่เอื้อเฟื้อเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เมื่อป่วยทางด้านจิตเวชและเห็นว่าผู้ป่วยต้องมีผู้ดูแลรักษาพยาบาลอย่างใกล้ชิด ก็สามารถนำผู้ป่วยเข้าไปอยู่ในการรักษาพยาบาลของรัฐได้เป็นอย่างดี

สำหรับประเทศไทยของเรา การรักษาดูแลผู้ป่วยทางจิตเวชยังขาดแคลนอยู่มาก และไม่ว่าผู้ป่วยจะป่วยโรคอะไร หากไม่ถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อ การรักษาพยาบาลนั้นมักจะไปตกอยู่กับสมาชิกในครอบครัวซึ่งต้องดูแลผู้ป่วยเหล่านั้นไปเอง

ผมได้พบผู้ป่วยหลายคนซึ่งมีอาการทางจิตเวช และในขณะเดียวกันก็สนใจ และเป็นห่วงในเรื่องสุขภาพจิตของผู้ป่วยเหล่านี้ทั้งที่ป่วยมากจนพูดกันไม่รู้เรื่อง หรือป่วยน้อยซึ่งน่าจะได้รับการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ ก็คงจะหายเป็นปกติได้

แต่เนื่องจากระบบการแพทย์ของเมืองไทยยังขาดแคลนทั้งสถานที่ที่รักษาพยาบาล ขาดแคลนทั้งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ขาดแคลนทั้งการค้นคว้าศึกษาวิจัยในด้านจิตเวชอย่างลึกซึ้ง หน้าที่ซึ่งจะต้องดูแลผู้ป่วยจึงตกอยู่กับผู้ใกล้ชิดและสมาชิกในครอบครัวผู้ป่วยเสียเป็นส่วนมาก

ที่ผมเขียนบทความนี้เพื่อมุ่งเตือนเพื่อนๆ ชาวชีวจิตและเพื่อนๆ ร่วมสังคมและร่วมเป็นคนไทยของเราว่า อย่าเผลอไปคิดว่าคนที่อยู่ใกล้ชิดเรานั้น จะไม่มีวันป่วยหรือจะไม่มีวันเป็นอะไรโดยเฉพาะมีความผิดปกติในด้าน “ป่วยทางจิต”

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาๆ จากคนไข้และญาติคนไข้หลายๆ คนที่เคยมาปรึกษาเรื่องการเจ็บป่วยกับผมเอง หลายคนจะพูดว่า “ไม่นึกเลยว่าเขาจะป่วย เพราะเห็นหน้ากันอยู่ทุกวันเขาก็แข็งแรงเป็นปกติดี”

ป่วยทางจิต ซึมเศร้า

นั่นแหละครับ ผมจึงได้เน้นว่า “อย่าลืมมองคนใกล้ตัวของคุณบ้าง”

ต่อไปนี้คือคำแนะนำธรรมดาๆ แบบชาวบ้าน ขอให้คุณลองดูคนใกล้ชิดของคุณว่ามีความผิดปกติอย่างนี้บ้างไหม

1. การเคลื่อนไหวช้าลงหรือเปล่า ข้อนี้ระบุไว้ได้แน่นอนว่าถ้าเขาหรือเธอเคยเป็นคนกระฉับกระเฉงว่องไว อยู่ ๆ ก็ทำอะไรช้าลง เนือยลง แปลว่าเขาต้องป่วยไม่ทางกายก็ทางจิตบ้างละ

2. ท่าทางผิดปกติ เช่น เดิมเป็นคนเดินตัวตรง อยู่ ๆ เดินหลังโกงคอตก อย่างนี้คงมีอะไรป่วยแน่ ๆ

3. ทำหน้าบูดหน้างอ ไม่อยากพูดไม่อยากจา ไม่อยากพบใคร ทำท่าเหนื่อยเพลียไม่มีแรงตลอดเวลา

4. เบื่ออาหาร

5. น้ำหนักลด

6. ท้องผูก

7. นอนไม่ค่อยหลับหรือหลับๆ ตื่นๆ

8. ตื่นขึ้นตอนเช้า รู้สึกเพลีย รู้สึกแย่ และเมื่อแย่ตอนเช้าแล้ว ก็จะแย่ไปตลอดวันเลย

9. อาจจะยังทำงานทำการได้อยู่ แต่ผลงานแย่ลงๆ เมื่อก่อนเป็นคนที่ใครๆ ก็นับถือว่าเก่ง แต่พักหลังๆ ดูเหมือนจะเชื่ออะไรไม่ได้เอาเสียเลย

10. ทุกสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำคัญๆ ของคนคนนั้นหายไปหมด เช่น เคยแข็งแรงกลายเป็นอ่อนแอ เคยพูดจาดีมีเหตุผลกลายเป็นไม่ยอมพูดกับใครหรือพูดไม่รู้เรื่อง สรุปสั้นๆ ว่า ความเป็นตัวตนของคนคนนั้นหายไปหมดแล้ว

อย่าลืมมองดูคนใกล้ชิดของคุณให้ดีๆ และอย่าลืมมองดูตัวคุณเองด้วย

 

ข้อมูลจาก ดร.สาทิส อินทรกำแหง กูรูต้นตำรับชีวจิต

คอลัมน์ปัญจกิจสุขภาพ นิตยสารชีวจิต ฉบับ 355


บทความน่าสนใจอื่นๆ

DIET PLANE กิน 3 มื้อ ป้องกัน อาการซึมเศร้า

10 แหล่งโอเมก้า-3 บำรุงสมอง หัวใจ ป้องกันซึมเศร้า

กินปลา ช่วยร่าเริง หยุดอาการซึมเศร้า

ติดตาม ชีวจิต ในช่องทางต่างๆ ได้ที่

© COPYRIGHT 2024 Amarin Corporations Public Company Limited.